ม.อุบลฯ สอนทำ e-Portfolio ด้วยแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน
วันที่ 14 ธันวาคม 2565 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ลงพื้นที่บริการวิชาการโรงเรียนลือคำหาญวารินชำราบ ในการเป็นวิทยากรโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การสร้าง e-Portfolio ด้วยแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน” ให้แก่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 528 คน ณ ห้องโสตทัศนศึกษา โรงเรียนลือคำหาญวารินชำราบ ภายใต้พันธกิจมหาวิทยาลัย ในการสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม ที่นำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
โรงเรียนดังกล่าวเป็นหนึ่งในโรงเรียนเครือข่าย ที่ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ร่วมกับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยมี ดร.องอาจ จูมสีมา ผู้อำนวยการโรงเรียนลือคำหาญวารินชำราบ กล่าวต้อนรับและขอบคุณทีมวิทยากร นายสรุศักดิ์ เวียนรอบ รองผู้อำนวยการกลุ่มบริหารวิชาการ กล่าวรายงานและวัตถุประสงค์การจัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ เพื่อให้นักเรียนได้พัฒนาทักษะด้านการจัดแฟ้มสะสมผลงาน ด้วยแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน เพื่อใช้เตรียมความพร้อมด้านวิชาการสำหรับนักเรียนในการทำแฟ้มสะสมผลงาน สู่การสมัครเข้าศึกษาต่อในระดับชั้นอุดมศึกษา และเพื่อเป็นการตอบสนองนโยบายรัฐ Thailand 4.0
ในการอบรมได้รับเกียรติจากวิทยากร นำทีมโดย ดร.สมปอง เวฬุวนาธร ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและวิชาชีพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นายธวัชชัย สลางสิงห์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และนักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นวิทยากรอบรมการสร้าง e-Portfolio ด้วยแอพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน
ดร.สมปอง เวฬุวนาธร ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและวิชาชีพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า ทางคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีความยินดีที่ทางโรงเรียนลือคำหาญวารินชำราบ ให้เกียรติเชิญทีมวิทยากรบรรยายพิเศษเกี่ยวกับการสร้าง e-Portfolio ด้วยแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน
การจัดทำ e-Portfolio ด้วยการประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยี เป็นสิ่งสำคัญต่อนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่เตรียมพร้อมเข้าสู่ระบบกลาง (TCAS) เนื่องจาก e-Portfolio เป็นแฟ้มสะสมผลงานแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ง่ายในการจัดเก็บและสะดวกต่อการใช้งาน สามารถแชร์ลิงค์ หรือ แนบไฟล์ผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้เลย
สำหรับการจัดทำแฟ้มสะสมผลงาน e-Portfolio ทำได้โดยการดาวน์โหลดและติดตั้งแอปพลิเคชันประเภทสแกนเนอร์ เช่น Adobe Scan, Cam Scanner, Clear Scanner, Simple Scan, Office Lens เป็นต้น จาก Google Play Store (สำหรับเครื่องสมาร์ทโฟนที่เป็นระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์) หรือ Apple App Store (สำหรับเครื่องสมาร์ทโฟนที่เป็นระบบปฏิบัติการไอโอเอส) ไว้ในเครื่องสมาร์ทโฟน ซึ่งโปรแกรมดังกล่าวสามารถสร้าง e-Portfolio ได้โดยการถ่ายภาพเอกสารหรือผลงานผ่านตัวแอปพลิเคชันดังกล่าว หรือ สามารถนำภาพถ่ายเอกสารหรือผลงานที่มีอยู่แล้วในสมาร์ทโฟน มาปรับแต่งให้อยู่ในรูปแบบของ e-Portfolio ได้อย่างง่ายดายเพียงไม่กี่นาที โดยไม่ต้องพึ่งพาเครื่องคอมพิวเตอร์และเครื่องสแกนเนอร์ ซึ่งจะทำให้นักเรียนสามารถสะสมผลงานไว้ใน e-Portfolio ได้ด้วยตนเอง เพื่อนำไปใช้ในการสมัครเรียนในระบบ TCAS โดยเฉพาะในรอบที่ 1
นอกจากนี้ e-Portfolio ยังสามารถออกแบบให้สวยงาม และน่าสนใจได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เช่นเดียวกัน เนื่องจากปัจจุบันมีแอปพลิเคชันที่สามารถช่วยในการออกแบบ ทั้งในสมาร์ทโฟนที่เป็นระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์และไอโอเอส เช่น Canva, PicsArt, Snapseed, Adobe Photoshop เป็นต้น ซึ่งนักเรียนสามารถดาวน์และติดตั้งมาใช้งานบนสมาร์ทโฟนได้เลยเช่นกัน
ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ ชำนาญการ ม.อุบล ฯ ภาพ/ข่าว