ม.อุบลฯ โชว์นวัตกรรม คอนกรีตพรุน แก้ปัญหาน้ำขังบนทางเท้า
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โชว์ผลงานนวัตกรรมเด่น "คอนกรีตพรุน" เทคโนโลยีคอนกรีตชนิดใหม่ สามารถระบายน้ำได้ดี ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมขังตามทางเดินเท้า และยังมีระบบการจัดการน้ำให้นำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ 100% ลดการเกิดหลุมขรุขระ การทรุดตัวของวัสดุรองชั้นผิวทาง น้ำบางส่วนยังสามารถออกแบบให้ซึมลงใต้ดินเพื่อเพิ่มระดับน้ำใต้ดิน เป็นนวัตกรรมของระบบการจัดการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในการใช้ทรัพยากรน้ำได้อย่างคุ้มค่าในช่วงฤดูฝน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ถนัดกิจ ชารีรัตน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และหัวหน้านักวิจัยฯ เปิดเผยว่า ผลงานวิจัยคอนกรีตพรุน (Eco-Concrete) เคยได้รับรางวัลในระดับชาติจากการประกวดการออกแบบผลิตภัณฑ์เชิงนิเวศเศรษฐกิจแห่งประเทศไทย (Eco-Design) ซึ่งจัดโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นอกจากนี้ ยังได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 15 ผลงานวิจัยที่สามารถต่อยอดในเชิงพาณิชย์ (Research Commercialization) จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และเข้าร่วมโครงการ Leaders in Innovation Fellowships Programme (LIF) ประจำปี 2558 ที่ผ่านมา
ผศ.ดร. ถนัดกิจ ชารีรัตน์ หัวหน้านักวิจัยฯ ม.อุบลฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “บล็อกคอนกรีตพรุนได้ออกแบบความพรุน (อัตราส่วนโพรง) ไว้ที่ 30% และให้ค่าสัมประสิทธิ์การซึมผ่านน้ำที่ 0.91 เซนติเมตรต่อวินาที โดยบล็อกคอนกรีตพรุนดังกล่าว สามารถลดอุณหภูมิและความร้อนสะสมบนพื้นผิว ลดแสงสะท้อนเข้าสู่ตัวอาคารและสามารถดูดซับเสียงได้บางส่วน นอกจากนี้ตัวบล็อกคอนกรีตพรุนยังมีพื้นผิวที่ไม่ลื่น ไม่มีน้ำขัง ไม่มีตะไคร่น้ำและมีความสวยงาม เป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์และการสาธารณสุข โดยช่วยลดโอกาสการเกิดอุบัติเหตุลื่นล้มในพื้นที่ห้องน้ำ หรือพื้นที่โดยรอบตัวบ้าน สำหรับกลุ่มผู้สูงวัยและกลุ่มผู้พิการได้เป็นอย่างดี ดังนั้น เทคโนโลยีคอนกรีตพรุน จึงถือเป็นเทคโนโลยีคอนกรีตชนิดใหม่ ที่นักวิจัยต้องการสนับสนุนให้มีการใช้งานอย่างแพร่หลายในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น เพื่อเสริมสร้างสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco-Society) อย่างแท้จริง”
ซึ่งบล็อกคอนกรีตพรุน ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมขังตามทางเดินเท้า ลดโอกาสการเกิดหลุมขรุขระอันเนื่องจากการทรุดตัวไม่เท่ากันของวัสดุรองชั้นผิวทาง นอกจากนี้ ยังมีระบบการจัดการน้ำส่วนที่ไหลผ่านผิวทางเท้าให้นำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ 100 % เช่น รดน้ำต้นไม้ สนามหญ้า เป็นต้น โดยน้ำที่ใช้ได้ผ่านระบบการกรอง การตกตะกอนและการเก็บกักน้ำที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ น้ำบางส่วนสามารถออกแบบให้ซึมลงใต้ดินเพื่อเพิ่มระดับน้ำใต้ดินได้อีกด้วย
นับว่าเป็นอีกหนึ่งผลงานแห่งความภาคภูมิใจของ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่สามารถนำผลงานนวัตกรรมมาใช้ได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม เป็นการบูรณาการองค์ความรู้ทางด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างลงตัว ถือเป็นนวัตกรรมของระบบการจัดการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสำหรับชุมชนเมือง
สำหรับผู้ที่สนใจเรียนรู้ต้นแบบระบบจัดการน้ำบนทางเท้าในเขตชุมชนเมือง เพื่อลดภาวะโลกร้อน (Eco-Footpath) สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ ผศ.ดร.ถนัดกิจ ชารีรัตน์ สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม อาคาร EN6 ชั้น 4 โทร. 045-353343 หรือ ชมตัวอย่างต้นแบบทางเดินเท้าในเขตชุมชนเมืองเพื่อลดภาวะโลกร้อน ได้ที่บริเวณหน้าศูนย์บูรณะระบบนิเวศน์ อาคาร EN2 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
เพลิน วิชัยวงศ์ นักประชาสัมพันธ์ ม.อุบลฯ / ข่าว