อุบลไบโอเอทานอล ร่วมผลักดันไทยก้าวสู่ Ethanol Hub ในภูมิภาค
พลังงานทดแทน ที่มีศักยภาพและเหมาะสมกับประเทศไทย คือ พลังงานจากเชื้อเพลิงชีวภาพ อันเป็นพลังงานที่ได้จากการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งมีพื้นที่เพาะปลูกมากมายในประเทศ อาทิเช่น มันสำปะหลัง และอ้อย นอกจากจะช่วยให้ประเทศมีความมั่นคงทางพลังงาน มีความมั่งคั่งจากการลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศแล้ว ยังสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างยั่งยืนให้กับผลผลิตทางการเกษตร
การผลิตเอทานอลจากผลผลิตทางการเกษตร ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร อย่างมันสำปะหลังและอ้อย ตลอดจนผลพลอยได้จากการเกษตร เช่น ชานอ้อย กากน้ำตาล กากมัน ให้เกิดประโยชน์และมูลค่าสูงสุด ช่วยสร้างงาน เพิ่มรายได้ ทำให้คุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของประเทศมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นมากอีกด้วย
นายเดชพนต์ เลิศสุวรรณโรจน์ ผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล เปิดเผยว่า มีความเชื่อมั่นในศักยภาพของอุตสาหกรรมเอทานอลไทย ที่จะสามารถก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตและจำหน่ายเอทานอลของภูมิภาค (Ethanol Hub) ในอนาคต “ประเทศไทยมีพื้นที่ในการปลูกพืชพลังงานอย่างมันสำปะหลังที่เหมาะสม และมีพื้นที่เพาะปลูกจำนวนมาก ทำให้วัตถุดิบในการผลิตเอทานอลไม่ขาดแคลน และใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย สามารถผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการเอทานอลในภูมิภาค
การเป็น Ethanol Hub จะช่วยทำให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องของเอทานอล อาทิ ไบโอพลาสติก ไบโอเคมี และยังช่วยให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตเอทานอล อาทิ เอนไซม์ ยีสต์ และสารเคมีที่ใช้ในการผลิต ซึ่งปัจจุบันยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ” และเพื่อร่วมผลักดันให้ ก้าวสู่ Ethanol Hub ในภูมิภาค กลุ่มบริษัทไบโอเอทานอล มีการปรับตัวและดำเนินการใน 2 ส่วนหลักๆ คือ
1. เสริมสร้างศักยภาพการผลิต โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมาเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพการผลิต เพื่อให้สามารถผลิตเอทานอลได้เพิ่มขึ้น ขณะที่ยังใช้วัตถุดิบในปริมาณเท่าเดิม นอกจากนี้ ของเสียทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตในโรงงาน ยังนำไปใช้ประโยชน์และสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยนำน้ำเสียไปผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ และนำก๊าซชีวภาพที่ได้ไปผลิตไฟฟ้าใช้เป็นพลังงานหมุนเวียนของโรงงาน และบางส่วนขายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
2. เสริมสร้างศักยภาพเกษตรกร ดำเนินการบริหารจัดการการจัดหาวัตถุดิบอย่างเป็นระบบ (Supply Chain Integration) โดยการเปิดลานรับซื้อมันสำปะหลังจากเกษตรกรโดยตรง ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ซึ่งนอกจากจะทำให้กลุ่มบริษัทฯ สามารถบริหารต้นทุนวัตถุดิบได้ดีขึ้น ยังช่วยให้เกษตรกรขายมันสำปะหลังได้เต็มราคา เป็นการสร้างความมั่นคงทางวัตถุดิบ จากการที่ลานรับซื้อกระจายอยู่ในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง รวมไปถึงมีระบบสมาชิกเกษตรกรที่ให้ผลประโยชน์เพิ่มขึ้นแก่เกษตรกรอีกด้วย
กลุ่มบริษัทฯ ได้ร่วมกับสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 4 สำนักงานเกษตรจังหวัดอุบลราชธานี สถานีพัฒนาที่ดินอุบลราชธานี และศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานี จัดทำโครงการพัฒนาการส่งเสริมการเกษตรการปลูกมันสำปะหลัง (อุบลโมเดล) ซึ่งเป็นแนวทางโครงการวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีการปลูกมันสำปะหลัง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังต่อไร่จาก 3.5 ตัน เป็น 6 ตันต่อไร่ ผ่านการสร้างแปลงสาธิตประจำหมู่บ้าน ซึ่งปัจจุบันมีทั้งสิ้น 38 แปลง 76 ไร่นำร่อง 12 ตำบล ครอบคลุมพื้นที่รัศมี 4 อำเภอรอบโรงงาน ทำให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีผลผลิตและรายได้ที่เพิ่มขึ้น” นายเดชพนต์กล่าว
การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเอทานอล รวมถึงพลังงานทดแทนจากภาคการเกษตรภาพรวม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามแผน AEDP2015 ได้นั้น ต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจกันทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร ทั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการสร้าง “ความมั่นคง” ทางพลังงาน สร้าง “ความมั่งคั่ง” ทางเศรษฐกิจ ให้กับประเทศ และสร้างมูลค่าเพิ่มอย่าง “ยั่งยืน” ให้กับผลผลิตทางการเกษตร ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตลอดไป