ม.อุบลฯ โชว์เครื่องผสม Formic Acid แบบอัตโนมัติ ช่วยกลุ่มเกษตรกรสวนยาง
คณะวิทยาศาสตร์ ร่วมกับ อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ส่งมอบ “เครื่องผสม Formic Acid แบบอัตโนมัติ” ให้แก่กลุ่มเกษตรกรสวนยาง ตำบลกันทรอม อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อวันอังคารที่ 29 มกราคม 2562 ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) สืบเนื่องจากการจัดงานมหกรรม “ของดีอีสาน 4.0 กับอุทยานวิทยาศาสตร์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” ที่จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 25 – 26 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา ณ จังหวัดขอนแก่น
ในการส่งมอบ “เครื่องผสม Formic Acid แบบอัตโนมัติ” เพื่อวิสาหกิจสวนยางขนาดกลางและขนาดย่อมครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชริดา ปุกหุต คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ดร.สุรสิทธิ์ สุทธิคำภา รองคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และ ดร.ศันศนีย์ ศรีจันทร์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ ภาควิชาเคมี และ นายอนุพงษ์ รัฐิรมย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผู้วิจัยและควบคุมการผลิต และ นายกรวิช แก้วดี ผู้ร่วมวิจัย พร้อมทีมบุคลากรอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นตัวแทนส่งมอบ “เครื่องผสม Formic Acid แบบอัตโนมัติ” ให้แก่ นายจำพล สมรัตน์ ประธานกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางตำบลกันทรอม เป็นตัวแทนรับมอบ ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายสถิตย์ มณีสาร พนักงานตรวจจำแนกพันธ์ยาง ศูนย์วิจัยยางบุรีรัมย์ สังกัดการยางแห่งประเทศไทย ร่วมเป็นสักขีพยานในการส่งมอบ “เครื่องผสม Formic Acid แบบอัตโนมัติ” ครั้งนี้
นายสถิตย์ มณีสาร พนักงานตรวจจำแนกพันธ์ยาง ศูนย์วิจัยยางบุรีรัมย์ สังกัดการยางแห่งประเทศไทย เป็นตัวแทนรับมอบ “เครื่องผสม Formic Acid แบบอัตโนมัติ” กล่าวว่า ในนามตัวแทนกลุ่มเกษตรกรสวนยางตำบลกันทรอม อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ ขอขอบคุณคณะวิทยาศาสตร์ และอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ตลอดจนสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) เป็นอย่างยิ่งที่ให้ความกรุณาผลิตและส่งมอบ “เครื่องผสม Formic Acid แบบอัตโนมัติ” เครื่องนี้ให้แก่กลุ่มเกษตรกรสวนยางตำบลกันทรอมไว้ใช้ประโยชน์ ซึ่งเครื่องดังกล่าวจะช่วยอำนวยความสะดวกในการผสมกรดฟอร์มิก ของกลุ่มเกษตรกรให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และเป็นไปตามมาตรฐานที่พ่อค้าคนกลางกำหนดและต้องการรับซื้อยางพารา ซึ่งในระยะยาวก็จะทำให้กลุ่มเกษตรกรที่หันมาใช้กรดฟอร์มิก มีสุขภาพและอนามัยที่ดีแข็งแรงขึ้น
นายอนุพงษ์ รัฐิรมย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผู้วิจัยและควบคุมการผลิต กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับ “เครื่องผสม Formic Acid แบบอัตโนมัติ” เพื่อวิสาหกิจสวนยางขนาดกลางและขนาดย่อม เครื่องนี้เป็นเครื่องที่สองแล้วที่ส่งมอบให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางใช้ประโยชน์ เครื่องแรกได้ส่งมอบให้แก่ สหกรณ์ชาวสวนยางพาราภูผาหมอก จำกัด ตำบลภูผาหมอก อำเภอกันทราลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันยังคงใช้ประโยชน์
และเครื่องที่สองนี้ ทีมวิจัยได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตจากแบบขวดมาเป็นแบบแกลลอน ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบเครื่องผสมกรดฟอร์มิกแบบอัตโนมัติเป็นแบบแกลลอน เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรชาวสวนยางหันมาใช้กรดฟอร์มิก แทนการใช้กรดซัลฟูริก หรือกรดชนิดอื่น ๆ ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีผลโดยตรงต่อคุณภาพของการทำยางก้อนถ้วย ที่เดิมไม่สะดวกและราคาสูงเกิดความยุ่งยากในการเตรียมน้ำกรดใช้เอง และทำให้เกิดอาการแพ้กรดฟอร์มิก ซึ่งจะมีความระคายเคืองตามบริเวณผิวหนัง
จากปัญหาดังกล่าว ทีมวิจัยจึงปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตให้เป็นแบบแกลลอนเพื่อความสะดวกในการใช้งานของกลุ่มเกษตรกร โดย “เครื่องผสม Formic Acid แบบอัตโนมัติ” สามารถผลิตกรดเข้มข้น 5% ได้ครั้งละ 100 ลิตร โดย 1 ลิตร จะใช้กับสวนยางพาราได้ประมาณ 3 - 4 ไร่ ดังนั้น ถ้าปริมาณ 100 ลิตร ก็จะได้ใช้กับสวนยางพาราได้ประมาณ 300 - 400 ไร่ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกสบายและที่สำคัญราคาถูกลดต้นทุนการผลิต และที่สำคัญไม่เป็นอันตรายทำให้ร่างกายและสุขภาพของกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางดีในอนาคต
ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ ชำนาญการ ม.อุบลฯ ภาพ/ข่าว