guideubon

 

 

ม.อุบลฯ มอบเครื่องผสม Formic Acid แบบอัตโนมัติ 4.0 ให้เกษตรกรสวนยาง

Formic-Acid-ubu-01.jpg

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมกับ อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผลิตและส่งมอบ “เครื่องผสม Formic Acid แบบอัตโนมัติ” โดยมี ดร.ศันศนีย์  ศรีจันทร์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ ภาควิชาเคมี นายอนุพงษ์  รัฐิรมย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นผู้วิจัยและควบคุมการผลิต และ นายกรวิช  แก้วดี เป็นผู้ร่วมวิจัยและผลิต “เครื่องผสม Formic Acid แบบอัตโนมัติ” ครั้งนี้ ให้แก่กลุ่มเกษตรกรสวนยางไว้ใช้ประโยชน์ จำนวน 5 เครื่อง ให้แก่

1. สหกรณ์ชาวสวนยางพาราภูผาหมอก จำกัด ตำบลภูผาหมอก อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ สนับสนุนงบประมาณโดย ธนาคารออมสิน โครงการ Startup University Model,
2. สหกรณ์ชาวสวนยางตำบลกันทรอม อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ สนับสนุนงบประมาณโดย อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โครงการมหกรรมของดีอีสาน 4.0 กับอุทยานวิทยาศาสตร์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ,
3. สหกรณ์ชาวสวนยางอำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น สนับสนุนงบประมาณโดย การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) สาขาจังหวัดขอนแก่น,
4. สหกรณ์ชาวสวนยางอำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น สนับสนุนงบประมาณโดย การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) สาขาจังหวัดขอนแก่น และ
5. คุณศิริกุล กองทอง เจ้าของลานรับซื้อมันแสงสวรรค์ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี 

Formic-Acid-ubu-02.jpg

เครื่องดังกล่าวจะช่วยอำนวยความสะดวกในการผสมกรดฟอร์มิก ของกลุ่มเกษตรกรให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และเป็นไปตามมาตรฐานที่พ่อค้าคนกลางกำหนดและต้องการรับซื้อยางพารา ซึ่งในระยะยาวก็จะทำให้กลุ่มเกษตรกรที่หันมาใช้กรดฟอร์มิก มีสุขภาพพลานามัยที่ดีขึ้น 

Formic-Acid-ubu-03.jpg

นายอนุพงษ์  รัฐิรมย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผู้วิจัยและควบคุมการผลิต กล่าวว่า สำหรับ “เครื่องผสม Formic Acid แบบอัตโนมัติ” เพื่อวิสาหกิจสวนยางขนาดกลางและขนาดย่อม เครื่องนี้เป็นเครื่องที่สองแล้วที่ส่งมอบให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางไว้ใช้ประโยชน์ ซึ่งปัจจุบันยังคงใช้ประโยชน์

และเครื่องที่สองนี้ ทีมวิจัยได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตจากแบบขวดมาเป็นแบบแกลลอน โดยทีมวิจัยจึงปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตให้เป็นแบบแกลลอน เพื่อความสะดวกในการใช้งานของกลุ่มเกษตรกร ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบเครื่องผสมกรดฟอร์มิกแบบอัตโนมัติเป็นแบบแกลลอน เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรชาวสวนยางหันมาใช้กรดฟอร์มิก แทนการใช้กรดซัลฟูริก หรือกรดชนิดอื่น ๆ ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีผลโดยตรงต่อคุณภาพของการทำยางก้อนถ้วย ที่เดิมไม่สะดวกและราคาสูงเกิดความยุ่งยากในการเตรียมน้ำกรดใช้เอง และทำให้เกิดอาการแพ้กรดฟอร์มิก ซึ่งจะมีความระคายเคืองตามบริเวณผิวหนัง

จากปัญหาดังกล่าว “เครื่องผสม Formic Acid แบบอัตโนมัติ” สามารถผสมกรดจากความเข้มข้น 94% ให้เป็นกรดที่พร้อมใช้งานที่มีความเข้มข้น 5% และสามารถผสมกรดได้รวดเร็ว 30 นาที/ครั้ง ครั้งละ 97 ลิตร ซึ่งปริมาณ 1 ลิตร จะสามารถใช้กับสวนยางพาราได้ประมาณ 3 - 4 ไร่ ดังนั้น ถ้าปริมาณ 97 ลิตร ก็จะได้ใช้กับสวนยางพาราได้ประมาณ 290 - 390 ไร่ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกสบายและที่สำคัญราคาถูกลดต้นทุนการผลิต และไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกายของกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางในอนาคต

นอกจากนี้ทีมวิจัยจาก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จึงมีแนวคิดในการสร้างความตระหนักเรื่องการใช้กรดที่ถูกต้อง โดยมีการจัดอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้น้ำกรดที่ถูกต้อง เพื่อให้ได้ยางก้อนถ้วยที่มีคุณภาพดี เนื่องจากใช้กรดที่เป็นน้ำกรดมาตรฐานเดียวกัน และสนับสนุนให้เกษตรกรเปลี่ยนใจมาใช้กรดฟอร์มิก ซึ่งในอนาคตทีมผู้วิจัยมีแนวคิดพัฒนาต่อยอด “เครื่องผสม Formic Acid แบบอัตโนมัติ” ให้สามารถใช้กับระบบโซล่าเซล สำหรับเกษตรกรกลุ่มที่ขาดแคลนกระแสไฟฟ้า นอกจากนี้ในอนาคตทีมผู้วิจัยมีแนวคิดที่จะวิจัยและพัฒนางานวิจัยในการผลิตเครื่องทดสอบปริมาณเนื้อยางแห้ง (Dry Rubber Content: DRC) สำหรับยางก้อนถ้วยต่อไป

Formic-Acid-ubu-04.jpg

สนใจติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่... นายอนุพงษ์  รัฐิรมย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผู้วิจัยและควบคุมการผลิต โทรศัพท์ 08-9721-6003


ทิพย์วรรณ  เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ ชำนาญการ ม.อุบลฯ ภาพ/ข่าว

 

copyright 2005 www.GuideUbon.com สำนักงานไกด์อุบลดอทคอม เลขที่ 89/1 ถนนพโลรังฤทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 ติดต่อไกด์อุบล : webmaster@guideubon.com | msn : guide_ubon@hotmail.com | Tel : 080-4850511