แผ่นกราฟีนดูดจับสารพิษ คว้ารางวัลสูงสุด กลุ่มนักวิจัยวุฒิเมธีวิจัย สกว. ปี 2562
รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริพร จึงสุทธิวงษ์ จาก มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผลงาน ตัวดูดซับนาโนเพื่อท้องฟ้าสดใสไร้มลพิษ หรือ แผ่นกราฟีนดูดจับสารพิษ คว้ารางวัลสูงสุด กลุ่มนักวิจัยวุฒิเมธีวิจัย สกว. รางวัล 2019 TRF-OHEC-Clarivate Analytics Research Excellence Award ในงานประชุม “นักวิจัยรุ่นใหม่… พบ…เมธีวิจัยอาวุโส สกว.” ครั้งที่ 18 ซึ่งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จับมือ สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) เชิดชูเกียรติมอบรางวัล 10 นักวิจัย ที่มีผลงานโดดเด่นระดับชาติ โดยมี พลอากาศเอก ดร.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดและมอบรางวัล แบ่งเป็น นักวิจัยวุฒิเมธีวิจัย สกว. 1 ราย นักวิจัยรุ่นกลาง 5 ราย และนักวิจัยรุ่นใหม่ 4 ราย จาก 7 สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 9-10 มกราคม 2562 ณ เดอะรีเจ้นท์ ชะอำบีชรีสอร์ท จ.เพชรบุรี
ในส่วนของ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งมี รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริพร จึงสุทธิวงษ์ อาจารย์ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ ได้รับ รางวัล 2019 TRF-OHEC-Clarivate Analytics Research Excellence Award ซึ่งเป็นระดับสูงสุดกลุ่มนักวิจัยวุฒิเมธีวิจัย สกว. นำเสนอผลงานวิจัยโดดเด่น และมีคุณูปการรวมถึงผลกระทบเชิงบวกที่มีต่อสาธารณชนในประเทศไทย ในการพัฒนาออกแบบจำลองโมเลกุลและคำนวณโครงสร้างด้วยวิธีทางเคมีคำนวณที่มีความแม่นยำสูง เพื่อคัดกรองและคัดเลือกตัวเร่งปฏิกิริยาที่มีศักยภาพสูงไปสังเคราะห์จริงในห้องปฏิบัติการ เพื่อช่วยออกแบบพัฒนาวัสดุดูดซับในการกำจัดสารที่ก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมสำหรับการนำไปใช้ในภาคสนาม เช่น สารพิษจำพวกไอปรอทจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง รวมถึงใช้เป็นข้อมูลให้หน่วยงานในประเทศ เช่น กรมควบคุมมลพิษ ถือเป็นงานวิจัยที่โดดเด่น เพราะสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านสารเคมี ลดความยุ่งยากในกระบวนการวางแผนวิเคราะห์ และประหยัดเวลาการลองผิดลองถูก
รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริพร จึงสุทธิวงษ์ เปิดเผยว่า สารมลพิษสำคัญที่กระทบต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ได้แก่ สารมลพิษหลักทางอากาศ สารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (Volatile Organic Compounds, VOCs) ในบรรยากาศที่เกิดจากอุตสาหกรรมเคมีและปิโตรเลียม เช่น เบนซีน (benzene) ซึ่งจัดเป็นสารอะโรเมติกไฮโดรคาร์บอนชนิดหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง รวมทั้งสารปรอท ที่มีต้นกำเนิดมาจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน (เช่น ที่แม่เมาะ จ. ลำปาง) จัดเป็นปัญหามลพิษที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ซึ่งงานวิจัยทั่วโลกได้ศึกษาการกำจัดสารมลพิษเหล่านี้อย่างกว้างขวาง และพบว่าวิธีที่ง่าย มีประสิทธิภาพในการกำจัด คือ การใช้วิธีการดูดซับหรือใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาในการเปลี่ยนสารพิษให้มีพิษน้อยลง โดยในปัจจุบันใช้ถ่านกัมมันต์ (activated carbon) เป็นตัวดูดซับ เพราะเนื่องจากหาได้ง่าย ราคาถูก และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่พบว่ามีข้อจำกัดคือมีรูพรุนขนาดเล็กเกินไปจนโมเลกุลสารพิษขนาดใหญ่ ไม่สามารถดูดซับในรูพรุนขนาดเล็กดังกล่าว จึงมีการพัฒนาสารจำพวกมีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบ คือ แผ่น กราฟีน (graphene nano-sheets) ที่มีพื้นที่ผิวในการดูดซับมาก และโมเลกุลสารพิษสามารถดูดซับบนพื้นผิวแผ่นกราฟีนได้อย่างง่ายดาย
ทั้งนี้ ผู้วิจัยจึงเกิดแรงจูงใจในการพัฒนาออกแบบจำลองโมเลกุลและคำนวณโครงสร้างด้วยวิธีทางเคมีคำนวณ Density Functional Theory ที่มีความแม่นยำสูง เพื่อคัดกรอง คัดเลือก ออกแบบและพัฒนาตัวดูดซับแผ่นกราฟีนประสิทธิภาพสูงชนิดใหม่ ก่อนนำไปสังเคราะห์จริงในห้องปฏิบัติการ และคาดว่าจะสามารถนำไปใช้เป็นตัวดูดซับสารพิษประสิทธิภาพสูง และส่งต่อองค์ความรู้นี้ให้กับสำนักจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษต่อไป ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากฝ่ายวิชาการ สกว.
นับเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของบุคลากรทางการศึกษาของ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริพร จึงสุทธิวงษ์ ในการสร้างสรรค์ผลงานวิจัยที่โดดเด่นและสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสาธารณชนในประเทศ สนองนโยบายของรัฐ ในการขับเคลื่อนให้บรรลุไทยแลนด์ 4.0 ในทุกภาคส่วน ในอนาคต
เพลิน วิชัยวงศ์ นักประชาสัมพันธ์ ม.อุบลฯ / ข่าว