เปิดตลาดนัดสีเขียวเพิ่ม 5 แห่ง หวังให้ผู้บริโภคเข้าถึงอาหารปลอดภัยมากขึ้น
มูลนิธิสื่อสร้างสุข ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ อาหารปลอดภัยตลอดห่วงโซ่ตั้งแต่การผลิต จนถึงการแปรรูป เปิดตลาดนัดอาหารปลอดภัยเพิ่ม 5 แห่ง ได้แก่ ตลาดนัดสีเขียวกินสบายใจรพ.มะเร็ง,รพ.วารินชำราบ,ห้วยวังนอง และตลาดอาหารปลอดภัยในชุมชนนาเยีย,รร.บ้านคูเมือง หวังให้ผู้บริโภคเข้าถึงอาหารปลอดภัยมากขึ้น
นางสาวคนึงนุช วงศ์เย็น ผู้รับผิดชอบโครงการโรงเรียนกินสบายใจ โดยการสนับสนุนของสสส. กล่าวว่า โครงการส่งเสริมการผลิตและบริโภคอาหารปลอดภัยเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนท้องถิ่นอุบลราชธานี
หรือโครงการกินสบายใจ มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการผลิตและบริโภคอาหารปลอดภัยในชุมชนท้องถิ่นอุบลราชธานี ตลอดห่วงโซ่อาหาร มีการส่งเสริมเกษตรกรกินสบายใจ มีการอบรมให้ความรู้เกษตรกร กว่า 170 คน 8 กลุ่ม มีการพัฒนาระบบรับรองมาตรฐาน PGS กินสบายใจ
ซึ่ง PGS กินสบายใจนี้ เปรียบเสมือนกฎหมายเกษตรอินทรีย์ของเกษตรกร ที่เขาต้องร่วมกันถือปฏิบัติตาม มีหน่วยงานร่วมตรวจรับรองกว่า 10 หน่วยงาน ที่เป็นตัวแทนของ 4 ฝ่ายได้แก่ ผู้บริโภค ประกอบด้วย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี สำนักงานเกษตรจังหวัดอุบลราชธานี สำนักงานพาณิชย์จังหวัดอุบลราชธานี สื่อมวลชน ห้างสุนีย์ สหกรณ์การเกษตรไร้สารเคมีจำกัด สหกรณ์เกษตรอินทรีย์จำกัด มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเป็นต้น เกษตรกรผู้ตรวจแปลงภายใน เป็นการตรวจกันเองในระดับกลุ่ม และตรวจไขว้ข้ามกลุ่มของเกษตรกร ผู้ตรวจแปลงที่เชี่ยวชาญด้านมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และตัวแทนโครงการกินสบายใจ ในปี 2561มีการตรวจรับรองแปลงให้เกษตรกร 100 ราย มีเกษตรกรผ่านการรับรองมาตรฐาน 72 ราย
การเปิดตลาดนัดสีเขียว กินสบายใจ และตลาดนัดอาหารปลอดภัย มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการบริโภคอาหารปลอดภัย ส่งเสริมการบริโภคผักผลไม้อินทรีย์ ของผู้บริโภคกลุ่มต่างๆ ทั้งคนเมือง คนชนบท เด็ก ผู้ใหญ่ คนทำงาน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ได้ดำเนินการเปิดเพิ่มอีก 5 แห่ง รวมเป็น 6 แห่ง ตามฐานการผลิตของเกษตรกร ได้แก่
- ห้างสุนีย์ ทุกวันเสาร์ (10.00 น. เป็นต้นไป) เปิดเมื่อปี 2558 เป็นแห่งแรก
- รพ.มะเร็งอุบลราชธานี ทุกวันพุธ (07.00 น.เป็นต้นไป)
- ริมห้วยวังนอง ฝั่งวัดมงคลโกวิทาราม ทุกวันศุกร์ (15.00 เป็นต้นไป)
- รพ.วารินชำราบ ทุกวันจันทร์ (07.00 เป็นต้นไป)
และมีตลาดนัดอาหารปลอดภัยในชุมชน 2 แห่ง คือ ชุมชนบ้านนาเยีย อำเภอนาเยีย ทุกวันพุธ (15.00 น. เป็นต้นไป) และโรงเรียนบ้านคูเมือง (อ่อนอนุเคราะห์) ทุกวันอังคารสัปดาห์ที่ 1 และ 3 ของเดือน (13.00 น. เป็นต้นไป)
นายวีระ จันทร์ชื่น เกษตรกรอินทรีย์ กินสบายใจ กล่าวว่า ในตลาดนัดสีเขียวฯ มีการควบคุมมาตรฐานโดยคณะกรรมการตลาด เกษตรกรที่จะมาจำหน่ายสินค้าได้ต้องผ่านการตรวจแปลง และได้รับการรับรองมาตรฐาน ในกรณีสินค้าแปรรูป ต้องมีสัดส่วนของผลผลิตอินทรีย์อย่างน้อย 50 % รวมทั้งไม่มีผงชูรส และสารอันตรายอื่นๆ
นายศราวุธ ตรีอินทอง เกษตรกรกินสบายใจ อำเภอวารินชำราบ กล่าวว่า ได้นำสินค้า พืชผักอินทรีย์มาจำหน่าย ขณะเดียวกันก็ได้ชักชวนผู้บริโภคที่สนใจปลูกผักกินเอง ให้ไปเยี่ยมชมสวน หรือแนะนำวิธีการปลูก เพื่อให้ผู้บริโภคมีสุขภาพที่ดี
นางสมใจ อัมภรัตน์ เกษตรกรกินสบายใจ อำเภอสำโรง กล่าวว่า ชุมชนบ้านโคกสว่างทำเกษตรอินทรีย์ในแปลงรวม ปลูกพืชผักหลากหลายชนิด โดยไม่มีการใช้สารเคมี ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง และสารเคมีอื่น มีการทำปุ๋ยหมัก และน้ำหมักใช้เอง เพื่อให้ผู้บริโภคได้ทานผักที่ไร้สารพิษจริงๆ
“ตลาดนัดสีเขียวกินสบายใจ ไม่ใช่แค่ตลาด แต่ทำหน้าที่เป็นห้องเรียนอาหารปลอดภัย เพื่อให้ผู้บริโภคได้ตระหนักถึงแหล่งที่มาและกระบวนการผลิตอาหาร ให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคได้ทำความรู้จักกัน แลกเปลี่ยนความรู้ และอาหารการกินที่ปลอดภัยกัน” นางสาวคนึงนุช วงศ์เย็น กล่าว