guideubon

 

เปิดตลาดนัดสีเขียวเพิ่ม 5 แห่ง หวังให้ผู้บริโภคเข้าถึงอาหารปลอดภัยมากขึ้น

ตลาดนัดสีเขียว-กินสบายใจ-01.jpg

มูลนิธิสื่อสร้างสุข ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ อาหารปลอดภัยตลอดห่วงโซ่ตั้งแต่การผลิต จนถึงการแปรรูป เปิดตลาดนัดอาหารปลอดภัยเพิ่ม 5 แห่ง ได้แก่ ตลาดนัดสีเขียวกินสบายใจรพ.มะเร็ง,รพ.วารินชำราบ,ห้วยวังนอง และตลาดอาหารปลอดภัยในชุมชนนาเยีย,รร.บ้านคูเมือง หวังให้ผู้บริโภคเข้าถึงอาหารปลอดภัยมากขึ้น

ตลาดนัดสีเขียว-กินสบายใจ-02.jpg

นางสาวคนึงนุช วงศ์เย็น ผู้รับผิดชอบโครงการโรงเรียนกินสบายใจ โดยการสนับสนุนของสสส. กล่าวว่า โครงการส่งเสริมการผลิตและบริโภคอาหารปลอดภัยเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนท้องถิ่นอุบลราชธานี
หรือโครงการกินสบายใจ มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการผลิตและบริโภคอาหารปลอดภัยในชุมชนท้องถิ่นอุบลราชธานี ตลอดห่วงโซ่อาหาร มีการส่งเสริมเกษตรกรกินสบายใจ มีการอบรมให้ความรู้เกษตรกร กว่า 170 คน 8 กลุ่ม มีการพัฒนาระบบรับรองมาตรฐาน PGS กินสบายใจ

ตลาดนัดสีเขียว-กินสบายใจ-03.jpg

ซึ่ง PGS กินสบายใจนี้ เปรียบเสมือนกฎหมายเกษตรอินทรีย์ของเกษตรกร ที่เขาต้องร่วมกันถือปฏิบัติตาม มีหน่วยงานร่วมตรวจรับรองกว่า 10 หน่วยงาน ที่เป็นตัวแทนของ 4 ฝ่ายได้แก่ ผู้บริโภค ประกอบด้วย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี สำนักงานเกษตรจังหวัดอุบลราชธานี สำนักงานพาณิชย์จังหวัดอุบลราชธานี สื่อมวลชน ห้างสุนีย์ สหกรณ์การเกษตรไร้สารเคมีจำกัด สหกรณ์เกษตรอินทรีย์จำกัด มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเป็นต้น เกษตรกรผู้ตรวจแปลงภายใน เป็นการตรวจกันเองในระดับกลุ่ม และตรวจไขว้ข้ามกลุ่มของเกษตรกร ผู้ตรวจแปลงที่เชี่ยวชาญด้านมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และตัวแทนโครงการกินสบายใจ ในปี 2561มีการตรวจรับรองแปลงให้เกษตรกร 100 ราย มีเกษตรกรผ่านการรับรองมาตรฐาน 72 ราย

ตลาดนัดสีเขียว-กินสบายใจ-04.jpg

การเปิดตลาดนัดสีเขียว กินสบายใจ และตลาดนัดอาหารปลอดภัย มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการบริโภคอาหารปลอดภัย ส่งเสริมการบริโภคผักผลไม้อินทรีย์ ของผู้บริโภคกลุ่มต่างๆ ทั้งคนเมือง คนชนบท เด็ก ผู้ใหญ่ คนทำงาน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ได้ดำเนินการเปิดเพิ่มอีก 5 แห่ง รวมเป็น 6 แห่ง ตามฐานการผลิตของเกษตรกร ได้แก่

- ห้างสุนีย์ ทุกวันเสาร์ (10.00 น. เป็นต้นไป) เปิดเมื่อปี 2558 เป็นแห่งแรก

- รพ.มะเร็งอุบลราชธานี ทุกวันพุธ (07.00 น.เป็นต้นไป)

- ริมห้วยวังนอง ฝั่งวัดมงคลโกวิทาราม ทุกวันศุกร์ (15.00 เป็นต้นไป)

- รพ.วารินชำราบ ทุกวันจันทร์ (07.00 เป็นต้นไป)

และมีตลาดนัดอาหารปลอดภัยในชุมชน 2 แห่ง คือ ชุมชนบ้านนาเยีย อำเภอนาเยีย ทุกวันพุธ (15.00 น. เป็นต้นไป) และโรงเรียนบ้านคูเมือง (อ่อนอนุเคราะห์) ทุกวันอังคารสัปดาห์ที่ 1 และ 3 ของเดือน (13.00 น. เป็นต้นไป)

ตลาดนัดสีเขียว-กินสบายใจ-05.jpg

นายวีระ จันทร์ชื่น เกษตรกรอินทรีย์ กินสบายใจ กล่าวว่า ในตลาดนัดสีเขียวฯ มีการควบคุมมาตรฐานโดยคณะกรรมการตลาด เกษตรกรที่จะมาจำหน่ายสินค้าได้ต้องผ่านการตรวจแปลง และได้รับการรับรองมาตรฐาน ในกรณีสินค้าแปรรูป ต้องมีสัดส่วนของผลผลิตอินทรีย์อย่างน้อย 50 % รวมทั้งไม่มีผงชูรส และสารอันตรายอื่นๆ

นายศราวุธ ตรีอินทอง เกษตรกรกินสบายใจ อำเภอวารินชำราบ กล่าวว่า ได้นำสินค้า พืชผักอินทรีย์มาจำหน่าย ขณะเดียวกันก็ได้ชักชวนผู้บริโภคที่สนใจปลูกผักกินเอง ให้ไปเยี่ยมชมสวน หรือแนะนำวิธีการปลูก เพื่อให้ผู้บริโภคมีสุขภาพที่ดี

นางสมใจ อัมภรัตน์ เกษตรกรกินสบายใจ อำเภอสำโรง กล่าวว่า ชุมชนบ้านโคกสว่างทำเกษตรอินทรีย์ในแปลงรวม ปลูกพืชผักหลากหลายชนิด โดยไม่มีการใช้สารเคมี ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง และสารเคมีอื่น มีการทำปุ๋ยหมัก และน้ำหมักใช้เอง เพื่อให้ผู้บริโภคได้ทานผักที่ไร้สารพิษจริงๆ

ตลาดนัดสีเขียว-กินสบายใจ-06.jpg

“ตลาดนัดสีเขียวกินสบายใจ ไม่ใช่แค่ตลาด แต่ทำหน้าที่เป็นห้องเรียนอาหารปลอดภัย เพื่อให้ผู้บริโภคได้ตระหนักถึงแหล่งที่มาและกระบวนการผลิตอาหาร ให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคได้ทำความรู้จักกัน แลกเปลี่ยนความรู้ และอาหารการกินที่ปลอดภัยกัน” นางสาวคนึงนุช วงศ์เย็น กล่าว