ม.ราชภัฏอุบลราชธานี คว้ารางวัล Green youth “ระดับทอง” 2 ปีซ้อน
เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2567 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม จัดเวที CCE Children & Youth Forum และงานมอบรางวัลเชิดชูเกียรติเครือข่ายเด็กและเยาวชนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2567 ณ โรงแรมทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวชั่น กรุงเทพมหานคร โดยมี ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในการมอบรางวัลเชิดชูเกียรติรางวัลผลการดำเนินโครงการของเครือข่ายเด็กและเยาวชนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2567
มีเครือข่ายที่ผ่านเกณฑ์ประเมิน ฯ จำนวนทั้งสิ้น 54 เครือข่าย แบ่งเป็น ระดับทอง 16 เครือข่าย ระดับเงิน 31 เครือข่าย และระดับทองแดง ๗ เครือข่าย และรางวัลผลการดำเนินกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมของเยาวชนภายในมหาวิทยาลัย (Green Youth) ประจำปี 2566 มีมหาวิทยาลัยที่ผ่านเกณฑ์ประเมินฯ ทั้งสิ้น 59 แห่ง แบ่งเป็นระดับทอง 20 แห่ง ระดับเงิน 22 แห่ง ระดับทองแดง 17 แห่ง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.หทัยชนก นันทพานิช คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า ชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ ได้ดำเนินกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่องกว่า 15 ปีแล้ว มีสมาชิกของชมรมเป็นนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ และคณะอื่น ๆ ในมหาวิทยาลัย ที่มีความรักและสนใจในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัย อาทิ รณรงค์การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี การให้ความรู้และประโยชน์ของการคัดแยกขยะ สอดรับกับยุทธศาสตร์ของคณะและมหาวิทยาลัยที่จะเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวและคาร์บอนต่ำ
ด้าน อาจารย์วัฒนาชัย มาลัย ที่ปรึกษาของชมรมกล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินงานของชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีการบริหารจัดการภายในชมรมเริ่มจากการกำหนดหน้าที่และตำแหน่งในชมรม เพื่อการดำเนินงานและการบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษามีส่วนสนับสนุนให้สมาชิกในชมรมได้คิดและทำกิจกรรมที่เขาสนใจ ให้แนวทางในการทำงาน การหางบประมาณ ติดต่อประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ซึ่งชมรมนี้เริ่มดำเนินงานอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 โดยการริเริ่มของ อาจารย์ ดร.บวร ไชยษา และคณาจารย์ในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มีกิจกรรมหลักในการเตรียมความพร้อมการเป็นผู้นำกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมให้แก่สมาชิกชมรม และนักศึกษาในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม โดยการจัดค่ายพัฒนาผู้นำสิ่งแวดล้อม ในตอนเทอมที่ 1 และจัดค่ายอาสาพัฒนา ในเทอมที่ 2 รวมถึงการจัดกิจกรรมรณรงค์ในการจัดการขยะในมหาวิทยาลัย การพัฒนาภูมิทัศน์โดยรอบมหาวิทยาลัย เช่น การดูแลระบบบำบัดน้ำเสียด้วยพืช การลอกวัชพืชในแหล่งน้ำ ตลอดจนการช่วยเหลือสังคมตามวาระ/เหตุการณ์ภัยพิบัติต่าง ๆ เช่น ช่วยกรอกทราย กำจัดวัชพืชน้ำ ในสถานการณ์น้ำท่วมเมืองอุบล ฯ
เป้าหมายที่สำคัญของชมรม คือ เป็นเวทีให้นักศึกษาได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีม รู้จักเสียสละที่จะทำงานเพื่อผู้อื่น สามารถปรับตัวได้เหมาะสมกับสภาวะแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และทวีความรุนแรงขึ้นในปัจจุบัน
นางสาวอาระดา หาระสาร “อุ๋มอิ๋ม” นักศึกษาชั้นปีที่ 3 หนึ่งในสมาชิกของชมรม ฯ เล่าให้ฟังว่า ที่เลือกสมัครเช้าชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพราะรักในสิ่งที่เป็นธรรมชาติ และอยากช่วยให้โลกใบนี้มีความปลอดภัยน่าอยู่อาศัยและเป็นมิตรกับทุกสิ่ง การได้เข้ามาเป็นสมาชิกของชมรมก็ได้ทราบว่า มหาวิทยาลัยมีแนวนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งการส่งเสริมการประหยัดพลังงาน ปรับปรุงภูมิทัศน์เพิ่มพื้นที่สีเขียว และลดการปล่อยคาร์บอน
สิ่งแรกเลยที่ทำในชมรมคือ การรณรงค์การคัดแยกขยะ รณรงค์ให้นักศึกษาและบุคลากรในมหาวิทยาลัยการคัดแยกขยะและทิ้งขยะให้ถูกประเภท จากนั้นก็ได้ทำกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาสิ่งแวดล้อม กำจัดวัชพืชในแหล่งน้ำรอบมหาวิทยาลัย นำวัชพืชมาทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อใช้บํารุงต้นไม้ภายในมหาวิทยาลัย ลดการใช้ปุ๋ยเคมี รวมทั้งมีโอกาสได้ช่วยเหลือชุมชนท้องถิ่นด้วย
สำหรับ “โบ๊ท” นายพีระยุทธ สีหาเวช นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สมาชิกของชมรม เล่าด้วยความดีใจว่า ที่ได้รับคัดเลือกรับรางวัล Green youth “ระดับทอง” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 นั้น ส่วนหนึ่งมาจากสมาชิกในชมรมทุกคนที่ได้ร่วมกันคิดนวัตกรรม “ถังขยะรักษ์โลก” ต่อยอดจากผลงานเดิม ในการนำรูปแบบการจัดการขยะมาปรับใช้ให้เหมาะสม ซึ่งผลงานชิ้นนี้มีการปรับรูปแบบถังขยะให้เหมาะสมต่อการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัย เป็นการประยุกต์ใช้นวัตกรรมคู่มือนวัตกรรมการจัดการขยะอินทรีย์ของกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ซึ่ง “ถังหมักรักษ์โลก” จะนำเอาขยะอินทรีย์ที่คัดแยกได้มาหมักเป็นปุ๋ยบำรุงดิน แถมยังไม่ส่งกลิ่นเหม็นออกมารบกวนอีกด้วย
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีหลายกิจกรรมที่ชมรมได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยในการดำเนินกิจกรรม เพื่อให้นักศึกษาและบุคลากรเกิดความตระหนักในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น ประกอบกับในปัจจุบัน ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยให้ความสำคัญกับการจัดการสิ่งแวดล้อมมาก ๆ โดยเฉพาะเรื่องขยะ และการจัดการภูมิทัศน์ของมหาวิทยาลัย รวมถึงนโยบายมหาวิทยาลัยสีเขียว ทำให้การทำงานในกิจกรรมของชมรม มีผลดีมากขึ้น นำมาสู่การได้รับรางวัล Green youth “ระดับทอง” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และ 2566 จากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
พงพิทักษ์ อุปไชย
งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี