guideubon

 

 

กฟผ. เดินหน้าโครงการโซลาร์ลอยน้ำ เขื่อนสิรินธร

โซลาร์ลอยน้ำ-เขื่อนสิรินธร-01.jpg

กฟผ. เตรียมเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำในเขื่อนของ กฟผ. จำนวน 2,725 เมกะวัตต์ โดยเตรียมนำร่องเปิดประมูลที่เขื่อนสิรินธร 45 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโครงการพลังงานหมุนเวียนแบบไฮบริดที่ใหญ่ที่สุดในโลกในเดือนพฤษภาคมนี้

ศิริ-จิระพงษ์พันธ์-01.jpg

วันที่ 18 มีนาคม 2562 ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (รมว.พน.) แถลงข่าวติดตามความคืบหน้าโครงการพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำในพื้นที่เขื่อน กฟผ. โดยมี นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นายธวัชชัย จักรไพศาล รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง กฟผ. และนายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน กฟผ. ร่วมให้ข้อมูล ณ ห้องประชุม 201 อาคาร ท.100 สำนักงานใหญ่ กฟผ. อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี

โซลาร์ลอยน้ำ-เขื่อนสิรินธร-02.jpg

ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พน. กล่าวว่า ในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP 2018) ในสัดส่วนของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ได้มอบหมายให้ กฟผ. ดำเนินงานโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ บนทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ หรือ Hydro-Floating Solar Hybrid รวมกำลังการผลิต 2,725 เมกะวัตต์ ซึ่งจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 10 ปี โดยให้นำร่องโครงการแรกที่เขื่อนสิรินธร ขนาด 45 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโครงการไฮบริดแห่งแรกที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่จะช่วยให้เกิดความมั่นคงของระบบไฟฟ้าและบริหารจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

วิบูลย์-ฤกษ์ศิระทัย-01.jpg

ด้าน นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวถึงแผนนำร่องโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ บนทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำโครงการแรกที่เขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี กำลังการผลิต 45 เมกะวัตต์ ใช้พื้นที่ผิวน้ำในการติดตั้ง 450 ไร่ ซึ่งเชื่อมโยงระบบพลังน้ำ โดยใช้ทรัพยากรร่วมกับเขื่อน ได้แก่ หม้อแปลง สายส่ง และสถานีไฟฟ้าแรงสูง เป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดการระเหยของน้ำ ช่วยเสริมความมั่นคงในระบบไฟฟ้า ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการน้ำ เสริมความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในระบบช่วงกลางคืนเพื่อลดการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ลดการใช้พื้นที่ทางการเกษตร เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าของแผงโซล่าเซลล์เนื่องจากมีอุณหภูมิต่ำที่ผิวน้ำ และเป็นจุดแลนมาร์คใหม่สำหรับการท่องเที่ยว

โซลาร์ลอยน้ำ-เขื่อนสิรินธร-03.jpg

โดยรายละเอียดโครงการเป็นการออกแบบติดตั้งอุปกรณ์ทั้งหมดบนทุ่นลอยน้ำ และใช้แผงโซลาร์เซลล์ชนิด Double glass เนื่องจากมีความเหมาะสมกับสภาพการใช้งานที่วางแผงโซลาร์เซลล์ใกล้ผิวน้ำ ซึ่งมีความชื้นสูงและยังมีการเคลื่อนไหวของผิวน้ำตลอดเวลา ทั้งนี้ กฟผ. จะออกประกาศเชิญชวนในวันที่ 15พฤษภาคม 2562 และยื่นซองประมูลภายในสิ้นเดือนกรกฎาคม 2562 และจะประกาศผู้ชนะภายในสิ้นเดือนตุลาคม 2562คาดว่าจะเริ่มดำเนินการโครงการเดือนมกราคม 2563 เพื่อให้สามารถจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ทันตามแผนในเดือนธันวาคม 2563

ข้อมูลจาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิดแห่งประเทศไทย

 

copyright 2005 www.GuideUbon.com สำนักงานไกด์อุบลดอทคอม เลขที่ 89/1 ถนนพโลรังฤทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 ติดต่อไกด์อุบล : webmaster@guideubon.com | msn : guide_ubon@hotmail.com | Tel : 080-4850511