guideubon

 

จบวิทย์ฯการยาง เปิดฟาร์มผักไฮโดรโปนิกส์ สร้างรายได้และอาชีพ

ศุภชาติ--สฤษดิ์นิรันดร์-ฟาร์มผักไฮโดรโปนิกส์-01.jpg

ศุภชาติ สฤษดิ์นิรันดร์ บัณฑิต ม.อุบลฯ ไอเดียผุด จบวิทยาศาสตร์การยาง สนใจอาชีพการเกษตร เปิดธุรกิจทำฟาร์มสวนผักเพื่อสุขภาพระบบไฮโดรโปนิกส์ ศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเอง พร้อมนำความรู้ที่เรียนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพิ่มผลผลิตและรายได้ สร้างอาชีพให้กับตนเองและครอบครัว

ศุภชาติ--สฤษดิ์นิรันดร์-ฟาร์มผักไฮโดรโปนิกส์-02.jpg

ความสำเร็จอีกก้าวของ บัณฑิต ม.อุบลฯ นายศุภชาติ สฤษดิ์นิรันดร์ หรือ “อ๊อฟ” บัณฑิตหนุ่มวัย 25 ปี แห่งเมืองดอกลำดวน จ.ศรีสะเกษ ภายหลังจบ ป.ตรี วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการยาง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปีการศึกษา 2557 ได้กลับไปพัฒนาภูมิลำเนาบ้านเกิด นำความรู้ที่เรียนมาเปิดธุรกิจทำฟาร์มสวนผักเพื่อสุขภาพ “สวนแก้วไฮโดรโปนิกส์ฟาร์ม ณ ต.หนองครก อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ

ศุภชาติ--สฤษดิ์นิรันดร์-ฟาร์มผักไฮโดรโปนิกส์-03.jpg

“อ๊อฟ” ศุภชาติ สฤษดิ์นิรันดร์ บัณฑิต ม.อุบลฯ บอกว่า เนื่องจากทางครอบครัวเป็นครอบครัวการเกษตร ตนจึงได้รับความรู้ในด้านการเกษตรตั้งแต่ยังเยาว์วัย หลังเรียนจบจึงมองหาอาชีพที่เหมาะสมกับตนเอง คือการทำฟาร์มผักไฮโดรโปนิกส์ ยอมรับว่าไม่มีความรู้ด้านนี้เลย เริ่มต้นด้วยการศึกษาด้วยตนเอง หาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต บทความต่างๆ หนังสือ และได้เข้ารับการอบรม เข้าเยี่ยมชมฟาร์มต่าง ๆ เพื่อเก็บข้อมูลก่อนลงมือทำฟาร์ม คิดเสมอว่าการทำการเกษตรมีความมั่นคงและยั่งยืน เนื่องจากประเทศไทยเป็นเมืองการเกษตรอยู่แล้ว แต่ประเทศไทยยังขาดการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิตและเพิ่มมูลค่าของผลผลิต จึงได้คิดที่จะปลูกผักในระบบไฮโดรโปนิกส์  

ศุภชาติ--สฤษดิ์นิรันดร์-ฟาร์มผักไฮโดรโปนิกส์-04.jpg

ข้อดีในการปลูกหลายอย่าง ตั้งแต่เรื่องแรงงานที่ใช้น้อยกว่าระบบการปลูกในดิน ผักมีขนาดใหญ่กว่าสม่ำเสมอกว่า สะอาดกว่า ตนจึงได้นำความรู้ที่เรียนมาประยุกต์ใช้เป็นอย่างดี วิชาพลาสติก เพื่อเลือกวัสดุที่เหมาะสมในการใช้งาน โดยปกติแล้วจะเห็นโดยทั่วไปคือรางปลูกระบบ NFT ที่เป็นท่อ PVC สีฟ้า ทำให้มีข้อเสียในด้านการระบายความร้อนซึ่งผักสลัดเป็นผักที่ชอบน้ำเย็น ตนจึงได้ตัดสินใจใช้รางปลูกแบบสีขาว ซึ่งมีการถ่ายเทความร้อนได้ดีกว่า และในด้านวิชาเคมีต่างๆได้นำมาประยุกต์ใช้ในการปรับสภาพน้ำและปุ๋ยเพื่อให้มีความเหมาะสมกับพืชและมีความปลอดภัยกับผู้บริโภค

ศุภชาติ--สฤษดิ์นิรันดร์-ฟาร์มผักไฮโดรโปนิกส์-05.jpg

ปัจจุบันฟาร์มสามารถผลิตผักได้สัปดาห์ละประมาณ 150-250 กก.ต่อสัปดาห์แล้วแต่สภาพอากาศ โดยมุ่งเน้นการกระจายผลผลิตไปยังผู้ประกอบการร้านอาหาร ภายในตัวจังหวัด และประชาชนทั่วไปในเขตอำเภอเมืองศรีสะเกษ โดยปัจจุบันผลิตผักสลัดทั้งหมด 7 สายพันธุ์ได้แก่ กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค บัตเตอร์เฮด กรีนคอรัล เรดคอรัล เรดคอส กรีนคอส ในอนาคตอันใกล้นี้จะมีผลผลิตมะเขือเทศที่ปลูกในระบบไฮโดรโปนิกส์และแบบออแกนิกส์ สองสายพันธุ์ได้แก่ มะเขือเทศราชินีและมะเขือเทศโกลเด้น คิง 1761 เพิ่มขึ้นมาเพื่อรองรับความต้องการของตลาด ปัจจุบันฟาร์มสามารถผลิตผักได้ปริมาณที่จำกัด แผนอนาคตจะได้ทำการขยายฟาร์มให้ใหญ่ขึ้น และวางแผนการปลูกพริกหวาน เพื่อให้เกิดความหลากหลายของผลิตภัณฑ์และสนับสนุนการตั้ง shop เพื่อขยายตลาดและเพิ่มผลิตผลที่ สะดวกต่อผู้บริโภคอีกด้วย

“อ๊อฟ” ศุภชาติ บัณฑิต ม.อุบลฯ บอกว่า ความสำเร็จในครั้งนี้ จะเกิดขึ้นไม่ได้หากขาดครอบครัวที่ให้การสนับสนุนและเป็นกำลังใจ ขอบคุณ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการยาง ภูมิใจที่จบจากคณะวิทยาศาสตร์ ม.อุบลฯ ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่ไม่ได้สอนแค่เพียงวิชาความรู้เท่านั้น แต่ยังสอนให้รู้จักคิดและนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เรื่องการวางแผน การแก้ปัญหา การอยู่ร่วมกันในสังคม รู้รักสามัคคี และทำให้ตนก้าวมายืนตรงนี้ได้อย่างภาคภูมิใจ

นับว่าเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจ ของบัณฑิตแห่งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ตามปรัชญามหาวิทยาลัยที่ว่า “สร้างสติและปัญญาแก่สังคม บนพื้นฐานความพอเพียง” โดยนำความรู้ที่เรียนมามาประยุกต์ใช้ สร้างสรรค์นวัตกรรม สร้างรายได้และอาชีพให้แก่ตนเองและครอบครัวได้เป็นอย่างดี แม้จะมีอาชีพแตกต่างจากสาขาวิชาที่เรียนมา แต่ก็ได้นำความรู้ ทักษะการเรียนวิทยาศาสตร์มาใช้จนประสบความสำเร็จได้เช่นกัน อีกทั้ง ยังเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมสุขภาพ ให้กับชุมชนสังคมเมือง และชนบท ให้หันมาสนใจดูแลสุขภาพตนเองด้วยการบริโภคผัก ซึ่งจะนำไปสู่การมีสุขภาพดีสังคมมีสุขต่อไป เยี่ยมชมความสำเร็จอีกก้าวของ“อ๊อฟ” ศุภชาติ สฤษดิ์นิรันดร์ บัณฑิต ม.อุบลฯ ที่ facebook : สวนแก้วไฮโดรโปนิกส์ฟาร์ม

เพลิน วิชัยวงศ์ นักประชาสัมพันธ์ ม.อุบลฯ / ข่าว