guideubon

 

ม.อุบลฯ จัด Innovation Collaboration Forum ต่อยอดงานวิจัยให้เกิดมูลค่าเพิ่ม

Innovation-Collaboration-Forum-01.jpg

วันที่ 3 มิถุนายน 2562 ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 7 ร่วมกับ โครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี แถลงข่าวเปิดตัว “โครงการยกระดับธุรกิจเชื่อมโยงงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ ปีงบประมาณ 2562” กิจกรรม Innovation Collaboration Forum ณ ลานอะควาเรียม ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า อุบลราชธานี

Innovation-Collaboration-Forum-02.jpg

สำหรับการแถลงข่าวครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผู้อำนวยการอุตสาหกรรมจังหวัด ผู้อำนวยการพานิชย์จังหวัดอุบลราชธานี ประธานหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุบลราชธานี ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีแบงค์อุบลราชธานี และแขกผู้มีเกียรติจำนวนมากร่วมการแถลงข่าว การเปิดตัวโครงการยกระดับธุรกิจเชื่อมโยงงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ โดยมีวัตถุประสงค์การจัดโครงการเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เชิงพาณิชย์โดยการนำงานวิจัยมาต่อยอดให้เกิดมูลค่าเพิ่ม และเพื่อเสริมสร้างศักยภาพแก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้สามารถขยายช่องทางการตลาดได้

Innovation-Collaboration-Forum-03.jpg

นายรุ่งโรจน์ อิฐรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 7 กล่าวว่า ตามที่ภาครัฐมีการตื่นตัวในการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่องโดย Thailand 4.0 นับเป็นโมเดลการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในสมัยนี้ ที่รัฐบาลได้พยายามขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยให้เป็นไปตามกลไกที่เหมาะสมทันกับยุคสมัย เพื่อช่วยผลักดันให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ซึ่ง Thailand 4.0 นี้ ภาครัฐมุ่งเน้นปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ ไปสู่ “Value–Based Economy” หรือ เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ผ่านการเชื่อมโยงการพัฒนาเปลี่ยนแปลงโดยใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้ทันต่อนานาประเทศ

Innovation-Collaboration-Forum-04.jpg

ดังนั้นผู้ประกอบการในยุคปัจจุบันจึงจำเป็นที่จะต้องมีแนวคิดที่โดดเด่นประกอบกับมีความเข้าใจในด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งจะเป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วและเพิ่มมูลค่า ดังนั้นการสร้างผู้ประกอบการที่นำผลงานวิจัย นวัตกรรม เทคโนโลยีมาใช้กับธุรกิจในประเทศไทยสู่เชิงพาณิชย์ยังถือเป็นกลไกการสนับสนุนใหม่ องค์ประกอบหลายด้านยังไม่เอื้ออำนวย อาทิ แหล่งเงินทุนในการพัฒนาธุรกิจ งานวิจัยและเทคโนโลยีที่สามารถนำไปต่อยอดเชิงธุรกิจยังมีน้อย รวมถึงยังไม่สามารถสร้างระบบนิเวศน์ (Ecosystem) ที่ดีในการสร้างผู้ประกอบการอย่างเพียงพอ เพื่อให้การพัฒนาและยกระดับธุรกิจประสบความสำเร็จ ซึ่งมีแนวทางในการพัฒนา ได้แก่ กระบวนการเร่งเพื่อความสำเร็จ (Accelerate Success) ซึ่งสามารถช่วยให้ผู้ประกอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เชิงนวัตกรรม ความเป็นไปได้ของธุรกิจ รวมถึงสร้างความแข็งแกร่ง และเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดในภาคเศรษฐกิจจากการเชื่อมโยงงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์

นายรุ่งโรจน์ อิฐรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 7 กล่าวต่อว่า ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ ๗ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จึงร่วมกับ โครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ดำเนินโครงการยกระดับธุรกิจเชื่อมโยงงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ ประจำปีงบประมาณ 2562 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างศักยภาพแก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร และอำนาจเจริญให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เชิงพาณิชย์โดยการนำงานวิจัยมาต่อยอดให้เกิดมูลค่าเพิ่ม และให้สามารถขยายช่องทางการตลาดได้

Innovation-Collaboration-Forum-05.jpg

สำหรับการจัด “โครงการยกระดับธุรกิจเชื่อมโยงงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ ปีงบประมาณ 2562” ครั้งนี้ ได้กำหนดให้มีกิจกรรม Innovation Collaboration Forum การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับรายละเอียดโครงการ และกิจกรรม Exhibition Showcase งานวิจัยต่าง ๆ กิจกรรม Product Lift Up Camp การแนะนำผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลงานวิจัยกับผู้ประกอบการ กิจกรรม Business Idea Severity การแนะนำ/เสนอแนวคิดการพัฒนาธุรกิจและผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลงานวิจัยกับผู้ประกอบการกิจกรรม Business Model การแนะนำ/เตรียมความพร้อมในการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจกับผู้ประกอบการกิจกรรมการถ่ายทอดเทคโนโลยีผลงานวิจัยและให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการ เพื่อให้สามารถพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์สู่เชิงพาณิชย์ และกิจกรรมการนำผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการพัฒนาต่อยอดจากงานวิจัยไปทดสอบตลาด 

ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ ม.อุบลฯ ภาพ/ข่าว

 

copyright 2005 www.GuideUbon.com สำนักงานไกด์อุบลดอทคอม เลขที่ 89/1 ถนนพโลรังฤทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 ติดต่อไกด์อุบล : webmaster@guideubon.com | msn : guide_ubon@hotmail.com | Tel : 080-4850511