guideubon

 

ศิษย์เก่า ม.อุบลฯ ลุยเดี่ยว 5 เดือน 5 ประเทศ กว่า 5,000 กม.

จารุวรรณ-สุพลไร่-เน้ตติ้ง-อุบล-01.jpg

น.ส.จารุวรรณ สุพลไร่ หรือ "เน้ตติ้ง" ศิษย์เก่า คณะศิลปศาสตร์ สาขาภาษาอังกฤษและการสื่อสาร รุ่นที่ 6 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผู้หญิงตัวเล็กๆ ผู้ใช้เวลา 5 เดือนกับการเดินทางข้ามผ่านพรมแดนประเทศเพื่อนบ้านลุ่มแม่น้ำโขง 5 ประเทศ รวมระยะทางกว่า 5,000 กิโลเมตร จนค้นพบว่า แท้ที่จริงแล้ว ความเป็นมนุษย์นั้นไม่มีพรมแดน เปิดโอกาสการเรียนรู้ และหาประสบการณ์ให้กับตัวเอง ผ่านการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ และภาษาของประเทศเพื่อนบ้าน

จารุวรรณ-สุพลไร่-เน้ตติ้ง-อุบล-02.jpg

จารุวรรณ สุพลไร่ หรือ เน้ตติ้ง เดิมเรียนอยู่คณะศิลปศาสตร์ สาขาภาษาอังกฤษและการสื่อสาร ซึ่งตอนเรียนนั้นนอกจากจะเรียนที่อยู่ในห้องแล้ว เน้ตติ้ง ยังชอบและรักในการทำกิจกรรมของคณะ และพาตัวเองออกไปพบปะโรงเรียนตามชนบทห่างไกลความเจริญ ผ่านค่ายสอนภาษาอังกฤษ กับเพื่อนๆและน้องๆ ในคณะ ซึ่งเป็นกิจกรรมภายใต้ชมรม English Crazy Club ที่เธอและเพื่อนๆ สาขาภาษาอังกฤษและการสื่อสารและสาขาการท่องเที่ยวได้ร่วมกันริเริ่มตั้งแต่ปี 2003 โดยมีอาสาสมัครชาวต่างชาติร่วมเดินทางเรียนรู้ด้วยตลอด

จารุวรรณ-สุพลไร่-เน้ตติ้ง-อุบล-03.jpg

เมื่อมีการจัดค่าย ซึ่งเธอเองเป็นคนติดต่อประสานงาน โดยไปสอนภาษาอังกฤษ และพาเด็กๆทำกิจกรรมภายในค่าย โดยใน 7 วันของชีวิตในรั้วมหาลัยของเธอนอกจากเรียน 5 วัน อีก 2 วันหยุดเธอจะออกเดินทางไปยังที่ต่างๆ เพื่อทำค่ายภาษาอังกฤษและทำกิจกรรมกับชาวบ้านในพื้นที่ และประกอบกับการมีโอกาสได้ทำงานที่มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม เป็นเวลา 6 ปี ในโครงการประสานความร่วมมือเพื่อคนรุ่นใหม่ในลุ่มน้ำโขง ทำให้เธอได้เดินทางและทำงานอย่างใกล้ชิดกับคนรุ่นใหม่ ผู้นำเยาวชน นักกิจกรรมเพื่อสังคม จากทุกประเทศทั่วภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชนที่ร่วมกันขับเคลื่อนอนาคตของภูมิภาคภายใต้ประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืน สิ่งแวดล้อม สันติภาพ การศึกษา เกษตรกรรมยั่งยืน เป็นต้น และนี้เอง คือ ต้นทุนที่ทำให้เธอรักในการเดินทางออกไปหาประสบการณ์ทำงานเพื่อสังคม เรียนรู้วิถีชีวิตของคนในชุมชน หาทางออกต่อปัญหาความท้าทายที่ภูมิภาคอาเซียนกำลังเผชิญกับเพื่อนเยาวชนอาเซียน จึงไม่แปลกเลยที่จะทำให้ผู้หญิงตัวเล็กๆออกเดินทางด้วยตัวเองแบบไม่กลัว

จารุวรรณ-สุพลไร่-เน้ตติ้ง-อุบล-05.jpg

ไม่นานมานี้ เน้ตติ้ง ยังได้มีโอกาสขึ้นทอล์กเรื่องราวของเธอภายในงาน TEDxBANGKOK 2016 ในวันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา ณ โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ ชั้น 7 สยามสแควร์วัน งานสุดพิเศษที่คัดเลือก 16 Speaker 4 Performance มาอย่างเข้มข้นและถี่ถ้วน เพื่อที่พวกเขาจะกลายเป็นผู้ทำหน้าที่ อย่างดีที่สุดที่จะเขย่ากรอบความคิดเดิมๆ และแทนที่ความคิดเหล่านั้นด้วยสิ่งใหม่ที่คุณคาดไม่ถึงมาก่อน

จารุวรรณ-สุพลไร่-เน้ตติ้ง-อุบล-04.jpg

ประเด็นหลักๆ ที่เธอกล่าวบนเวที คือ ตลอดการเดินทาง เน้ตติ้งได้เพื่อนใหม่ๆ มากมาย ซึ่งดูแลเธอเสมือนเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน แม้ผู้คนจะพูดด้วยภาษาต่างกัน แต่แท้จริงแล้วเราใช้ภาษาเดียวกันในการสื่อสาร นั่นคือภาษาแห่งความเป็นเพื่อนมนุษย์ เน้ตติ้งเล่าเรื่องราวระหว่างการเดินทางนั้น เธอได้พบกับความโอบอ้อมอารีของชาวมุสลิมบนรถไฟไปเมาะลำไย ประเทศพม่า เธอพบว่าการขึ้นลงของน้ำที่เปลี่ยนไปจากการสร้างเขื่อน ทำให้ระบบนิเวศสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงที่เวียดนาม ได้รับผลกระทบ บ้านเพื่อนที่ลาวทำเกษตรอินทรีย์ ซึ่งได้รับความรู้มาจากฝั่งไทย จนสร้างแรงบันดาลใจให้เธอกลับไปปลูกผักอินทรีย์ที่บ้านของเธอเองบ้าง เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้น เรามักจะรับรู้เรื่องของประเทศเพื่อนบ้านผ่านสื่อ นั่นทำให้เราเกลียดกันไปแล้วทั้งๆ ที่ยังไม่เคยได้รู้จักกัน และนี่ คือ ประเด็นหลักๆ ที่เธอพูดบนเวที TEDxBANGKOK 2016 ที่ผ่านมา

จารุวรรณ-สุพลไร่-เน้ตติ้ง-อุบล-06.jpg

ความที่เธอสำเร็จการศึกษา จากคณะศิลปศาสตร์ ในสาขาภาษาอังกฤษและการสื่อสาร ภายในวิสัยทัศน์ “ศูนย์กลางความรู้ด้านภาษา สังคมและวัฒนธรรมอีสานใต้ และ ภูมิภาคลุ่มน้ำโขงสู่อาเซียน” เน้ตติ้งบอกว่า เธอจะไม่หยุดเพียงเท่านี้ เธอยังมีความมุ่งมันที่อยากสร้างพื้นที่ให้คนรุ่น ใหม่หลากหลายประเทศ หลายภาษาวัฒนธรรม หลายสาขาวิชาเรียน หลากสายงาน มาเจอ กัน มาคิด มาฝัน และลงมือสร้างอะไรบางอย่างร่วมกันอีกด้วย ตอนนี้เธอเองก็กำลังพัฒนาพื้นที่การเกษตรที่บ้านเกิด ให้เป็นฐานเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่จากทั่วทุกมุมโลก

สารคดีเดินทาง 5 เดือน 5 ประเทศ 5,000 กิโลเมตร ทั้ง 5 ตอน ที่ร่วมเรื่องราวการเดินทางไปพบเจอเพื่อนลุ่มน้ำโขงของเธอ จะเปิดตัวภายในปลายนี้ ติดตามได้ที่เฟซบุ๊คเพจ Mekong Nomad

ข่าวโดย เปรมสิทธิ์ ศรีโพนทอง นักวิชาการศึกษา คณะศิลปศาสตร์ /
เทอดภูมิ ทองอินทร์ นักประชาสัมพันธ์