ความจนไม่เป็นอุปสรรค บัณฑิต ม.อุบลฯ ฝ่าฟันจนได้ อัยการผู้ช่วย
นับว่าเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจ ของบัณฑิตคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่ประสบความสำเร็จ ในการสอบบรรจุเป็นข้าราชการอัยการ ตำแหน่งอัยการผู้ช่วย (สนามใหญ่) ได้สำเร็จถึง 2 คน คือ นายเอกรัฐ มิ่งไธสง นิติศาสตรบัณฑิต รุ่นที่ 3 และ ร้อยตำรวจโท (หญิง) จิรายุ สุขนา นิติศาสตรบัณฑิต รุ่นที่ 6 จากจำนวนผู้เข้าสอบกว่า 8,000 คน ผ่านการคัดเลือกและได้รับการบรรจุเพียง 225 คน พร้อมให้ผู้สอบผ่านการคัดเลือกรายงานตัว ในวันที่ 12 กันยายน 2559 และบรรจุแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอัยการผู้ช่วย ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2559 เป็นต้นไป
ในส่วนของ ร้อยตำรวจโทหญิง จิรายุ สุขนา หรือ “บุ๋ม” นับว่าเป็นบัณฑิตนิติศาสตร์หญิง คนแรกของ ม.อุบลฯ ที่ประสบความสำเร็จในวัยอายุเพียง 26 ปี เป็นคนภูมิลำเนา อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ ด้วยฐานะทางบ้านยากจนข้นแค้น พ่อแม่เป็นชาวนา ซ้ำร้ายครอบครัวแตกแยกหย่าร้างกัน ต้องพลัดพรากกับพ่อแม่พี่น้อง ต้องระหกระเหินพเนจรไปอาศัยยังถิ่นต่างๆ ที่ไม่ใช่บ้านของตัวเอง เช่น ย่า ป้า และครูในโรงเรียน กว่าจะได้เรียนเหมือนเพื่อน ต้องแลกมากับความยากลำบาก จึงทำให้เธอต้องพยายามมากกว่าคนอื่น
ในที่สุดเธอสามารถสอบเป็นนักศึกษาทุนโครงการช้างเผือก เข้าศึกษาที่คณะนิติศาสตร์ ม.อุบลฯ และสำเร็จการศึกษก่อนแผนการศึกษาเพียง 3 ปีครึ่ง พร้อมเกียรตินิยม อันดับ 1 ผลการเรียนเฉลี่ย 3.98 นอกจากนี้ ยังสอบไล่ได้เป็นรัฐศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชควบคู่ อีกทั้งสามารถสอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิตไทย สมัยที่ 66 ลำดับที่ 32 และผ่านการฝึกอบรมวิชาว่าความแห่งสภาทนายความ ภายในระยะเวลา 1 ปี ในขณะที่ทำงานด้วย หลังจบการศึกษาได้เข้ารับราชการในตำแหน่งรองสารวัตร ฝ่ายอำนวยการ 7 กองบังคับการอำนวยการ ตำรวจภูธรภาค 3 จนสามารถสอบบรรจุเป็นข้าราชการอัยการ ตำแหน่งอัยการผู้ช่วย (สนามใหญ่) ในปัจจุบัน
“คนเราอาจเลือกเกิดไม่ได้ แต่เราเลือกที่จะเป็นได้” เป็นคติประจำใจที่สร้างพลังให้กับชีวิตให้กับ ร้อยตำรวจโทหญิง จิรายุ สุขนา หรือ “บุ๋ม” ที่ทำให้เธอสามารถฝ่าฟันปัญหาและอุปสรรคนานัปการมาได้
สิ่งหนึ่งที่ทำให้ก้าวมาถึงวันนี้ได้คือ ความกตัญญูกตเวทีต่อบุพการีและผู้มีพระคุณ “บุ๋ม”จิรายุ สุขนา บอกว่า กว่าที่ตนจะได้เรียนเหมือนเพื่อน ต้องแลกมากับความยากลำบาก ต้องทำงานช่วยเหลือครอบครัวก่อนและหลังจากกลับจากโรงเรียน ทำงานรับจ้างทุกอย่างที่ช่วยให้มีเงินช่วยเหลือตนเอง นอกจากเงินที่แม่และพี่ชายรับจ้างก่อสร้างส่งมาให้รายเดือน เช่น ดำนา เก็บข้าวโพด เกี่ยวข้าว ซักผ้า รีดผ้า ติวหนังสือ ฯลฯ แม้ชีวิตจะลำบากเพียงใดแต่ตนก็ไม่เคยเสียใจหรือย่อท้อ ตนเอาความทุกข์ยากความลำบากเหล่านี้มาเป็นแรงผลักดันให้มานะสู้ และไม่เคยโทษหรือโกรธพ่อแม่ แม้จะเกิดปัญหาต่างๆในครอบครัวมากมายเพียงใด แต่ตนจะระลึกถึงและพยายามตอบแทนพระคุณของท่าน เท่าที่ความสามารถตนจะทำได้
“บุ๋ม”จิรายุ สุขนา กล่าวเพิ่มเติมว่า ท่ามกลางมรสุมปัญหาชีวิติและความทุกข์ยากลำบาก ตนโชคดีที่ตนมีผู้มีเมตตาคอยอุปถัมภ์คำชูคอยช่วยเหลือ ชี้แนะ และให้คำแนะนำไปในทางที่ถูกต้อง ตนได้รับการช่วยเหลือด้านทุนการศึกษาจากมหาวิทยาลัยและคณะ ตลอดจนองค์กรและมูลนิธิต่างๆ ตั้งแต่ชั้นปีแรกจนจบการศึกษา ดังนั้นหากไม่มีพ่อ แม่ ครูอาจารย์ ญาติมิตร ผู้มีเมตตา ตลอดจนคณะและมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ตนคงไม่มีวันนี้ ตนเชื่อเสมอว่าความกตัญญูกตเวทีนี้ จะเป็นเครื่องคุ้มครองให้เราพ้นภัยอันตรายต่างๆ และจะเป็นเครื่องนำพาเราไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองในชีวิตตลอดไป
นับว่าเป็นแบบอย่างที่ดีในความมุ่งมั่นตั้งใจสู้ชีวิต จากชีวิตรากหญ้า ลูกชาวนาที่ลำบากแสนเข็ญ ที่มีความขยัน อดทน ยึดมั่นในอุดมการณ์ประกอบกับการมีกตัญญูรู้คุณ จึงทำให้“บุ๋ม”จิรายุ สุขนา ก้าวสู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของชีวิตในวัยยังน้อย เป็นแบบอย่างที่ดีทางการศึกษาเรียนรู้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งผลผลิตแห่งความภาคภูมิใจของบัณฑิตแห่ง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่พร้อมนำคุณธรรมควบคู่กับความรู้ สู่สังคมไทย สมดังปณิธานของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีว่า “พัฒนาความรู้ มุ่งสู่ปัญญา พร้อมคุณค่าคุณธรรม”
เพลิน วิชัยวงศ์ นักประชาสัมพันธ์ ม.อุบลฯ / ข่าว