ราชภัฏอุบลฯ ชนะเลิศประกวดหนังสั้น ผลงาน “ฝันเล็กเปลี่ยนโลก”
เครือข่ายพัฒนาความเข้มแข็งต่อภัยพิบัติไทย (Thai Network for Disaster Resilience : TNDR) จัดประกวดหนังสั้น หัวข้อ “หากหยุดวิกฤตโลกร้อนสุดขั้วไม่ได้...จะเอาตัวรอดอย่างไร?” โดยทีม “KADCHANAN Production” จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี สร้างชื่อคว้ารางวัลชนะเลิศ จากผลงาน “ฝันเล็กเปลี่ยนโลก”
เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา เครือข่ายพัฒนาความเข้มแข็งต่อภัยพิบัติไทย (TNDR) ภายใต้การอุปถัมภ์ของมูลนิธิเตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติในประเทศไทย (TDPF) จัดพิธีมอบรางวัลประกวดหนังสั้น หัวข้อ “หากหยุดวิกฤตโลกร้อนสุดขั้วไม่ได้...จะเอาตัวรอดอย่างไร?” ซึ่งผลงานชื่อ “ฝันเล็กเปลี่ยนโลก” ของทีม “KADCHANAN Production” จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี คว้ารางวัลชนะเลิศ ได้รับโล่ เกียรติบัตร พร้อมเงินรางวัลจำนวน 30,000 บาท โดยมี ศาสตราจารย์ ดร. นพ.กระแส ชนะวงศ์ ประธานกรรมการบริหาร TDPF และ รองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ มโนมัยพิบูลย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ในฐานะรองประธานเครือข่าย TNDR เป็นผู้มอบรางวัล ณ ลานกิจกรรม ชั้น 1 อาคารเกษมศรี มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
ขณะที่รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ทีม “นางนวลโปรดักชั่น” จากมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ทีม “EW Production” จากมหาวิทยาลัยศรีปทุม และรางวัล Popular Vote ทีม “สาวหล่อหัวใจรักดี้” จากมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ซึ่งมีทีมที่ส่งผลงานเข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 40 ทีม
อาจารย์ ดร.ณรัช ไชยชนะ อาจารย์ที่ปรึกษา เล่าว่า การจัดการเรียนการสอนของสาขาวิชาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี จะมีหลากหลายวิชาให้นักศึกษาได้เรียนรู้และฝึกทักษะ หนึ่งในนั้นคือวิชารายการเสียงและโทรทัศน์ ซึ่งนักศึกษาที่เรียนในรายวิชานี้จะต้องเรียนรู้และฝึกทักษะการผลิตรายการทีวี ผลิตหนังสั้น หรือคลิปสั้นต่าง ๆ ทุกคนจะต้องได้ฝึกปฏิบัติจริง เพื่อเป็นการสร้างแรงบันดาลใจและแรงผลักดันในการเรียนรู้ จึงจำเป็นที่จะต้องมีช่องทางหรือเวทีให้นักศึกษาได้โชว์ผลงานของตนเอง ซึ่งในครั้งนี้นักศึกษาชั้นปีที่ 3 ได้รวมตัวกัน 11 คน ซึ่งใช้ชื่อทีมว่า “KADCHANAN Production” ได้ผลิตหนังสั้นส่งเข้าร่วมการประกวด ในหัวข้อ “หากหยุดวิกฤตโลกร้อนสุดขั้วไม่ได้....จะเอาตัวรอดอย่างไร?” จัดโดยมูลนิธิเตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติในประเทศไทย (Thai Disaster Preparedness Foundation) เครือข่ายพัฒนาความเข้มแข็งต่อภัยพิบัติไทย (Thai Network for Disaster Resilience) และได้มีการประกาศผลเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งทีม “KADCHANAN Production” นักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี สามารถเอาชนะใจคณะกรรมการคว้ารางวัล “ชนะเลิศ” มาครองได้สำเร็จ
นายกันตภณ โตทุ้ย หรือ “รถถัง” เล่าให้ฟังว่า สมาชิกในทีมมีทั้งหมด 11 คน แต่ละคนก็จะมีความสามารถที่แตกต่างกันไป ซึ่งการทำงานมีการแบ่งหน้าที่กันทำ ส่วนตนเองทำหน้าที่เป็นผู้กำกับ และเป็นนักแสดงร่วมด้วย หลังจากที่รู้ว่าต้องส่งผลงานหนังสั้นเข้าร่วมประกวดและได้รับหัวข้อมาเกี่ยวกับวิกฤตโลกร้อน ก็มาประชุมทีมกันว่าจะเริ่มตรงไหน เริ่มยังไง ใครจะทำหน้าที่อะไร ซึ่งทุกคนที่อยู่ในทีมก็จะมีความสนิทคุ้นเคยกันดีเพราะเป็นเพื่อนร่วมชั้นเดียวกัน เลยสรุปกันว่าหากเราเป็นคนเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาเอง ก็จะมีแค่ในมุมมองของพวกเรา งั้นลองเปลี่ยนเป็นสัมภาษณ์น้อง ๆ ระดับประถมศึกษาดีกว่า เพราะคิดว่าอีก 20 ปีข้างหน้าเด็ก ๆ เหล่านี้เขาคือกลุ่มคนที่จะต้องเผชิญกับปัญหาและช่วยกันแก้ไขในอนาคต ซึ่งได้เลือกที่จะไปสำรวจและเก็บข้อมูลที่โรงเรียนอุบลวิทยาคม ที่เลือกที่นี่เพราะว่าเพื่อนเคยฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูที่นี่และเป็นโรงเรียนที่อยู่ในตัวเมือง เดินทางสะดวก พอลงไปสำรวจข้อมูลก็ได้แนวคิดในการกำหนดเนื้อหาของเรื่องเพื่อนำไปเขียนเป็นบท นำไปเสนออาจารย์ที่ปรึกษาซึ่งก็ได้รับคำแนะนำและได้ปรับปรุงแก้ไขก่อนเริ่มดำเนินการถ่ายทำจริง
“อ๋อมแอ๋ม” นางสาวณัฎชนก ก้อนทอง หนึ่งในสมาชิกของทีม เล่าให้ฟังว่า ตนทำหน้าที่หลักเป็นนักแสดงที่มีบทบาทเป็นครู ผู้ผลักดันทุกสิ่งในการสร้างการรับรู้ รณรงค์ให้เด็ก ๆ นักเรียนรู้จักและให้ความสำคัญกับการรักษ์โลก บทบาทครูที่แสดงก็นับว่าเป็นความท้าทายแต่ก็ไม่กดดันสักเท่าไหร่ เพราะปกติเราก็เป็นว่าที่ครู ผ่านการฝึกสอนมาแล้ว แต่ความยากอยู่ที่การควบคุมเด็ก ๆ ในการแสดงแต่ละฉากนั้นเรียกว่าเหมือนจับปูใส่กระด้งเลย (555) แต่ทุกอย่างก็ผ่านไปได้ด้วยดี น้อง ๆ ก็เล่นตามประสาเด็ก แต่ก็ให้ความร่วมมือดี ทำให้ประสบความสำเร็จเพราะความสามัคคีและความร่วมมือของทุกคนค่ะ
ขณะที่ “คณิต” นายกิตติธัช เชียงรัมย์ มือตัดต่อ และ “สตางค์” นายสุนทรัตร สุขลิ้ม โมชั่นกราฟิก ซึ่งการทำงานของเราสองคนต้องทำงานร่วมกัน เพราะเป็นการเสริมในส่วนที่ขาดหรือถ่ายทำไม่ได้จากการถ่ายทำจริง สตางค์ก็จะนำมาสร้างเป็นโมชั่นกราฟิกขึ้นมาเสริมเพื่อให้มองเห็นภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้น จากนั้น “คณิต” ก็จะรับไม้ต่อเพื่อมาตัดต่อให้เป็นเนื้อหาเดียวกันจนเสร็จสมบูรณ์
มาที่ “นพ” นายรชต พันพิบูลย์ มือเขียนบท ผู้กำหนดทุกสิ่งให้เป็นไปดั่งใจฝัน ต้องบอกก่อนเลยว่าตัวผมเองไม่เคยเขียนบทละครหรือบทภาพยนตร์มาก่อนเลย แต่เพื่อน ๆ จะรู้ว่าผมเป็นคนชอบหนูหนังและอ่านหนังสือหรือเรื่องราวต่าง ๆ เลยได้รับความไว้วางใจจากทีมให้ทำหน้าที่นี้ ในตอนแรกก็คิดไว้ 2 แนวทางที่จะเขียนบท คือสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวเรา กับโลกอนาคตจะเป็นอย่างไร แต่ก็เลือกไม่ถูกว่าจะสะท้อนปัญหาทางไหนดี มีอยู่วันหนึ่งกำลังนั่งกินข้าวกับเพื่อน แล้วเพื่อนก็กินข้าวกล่องจากร้านสะดวกซื้อ ประจวบกับตัวเรากำลังดูโฆษณาเครื่องดื่มน้ำอัดลมยี่ห้อหนึ่ง เลยฉุดคิดขึ้นได้ว่า สิ่งที่อยู่ใกล้ ๆ ตัวเราและมีอยู่ทั่วไปก็ขยะนี่แหละที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของโลกใบนี้ที่กำลังเผชิญอยู่ การกำจัดขยะน่าจะสะท้อนให้สังคมให้ตระหนักคิดได้ว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องช่วยกัน เลยเริ่มเขียนบทจากจุดนี้ จนเป็นเรื่องราวที่ได้ดูในหนังสั้น “ฝันเล็กเปลี่ยนโลก” เรื่องนี้
“รถถัง” เล่าต่อว่า การทำงานในครั้งนี้มีเวลาจำกัดมาก ๆ จึงต้องมีการวางแผนการทำงานที่ชัดเจนเพื่อให้ทันกับเวลา เช่น การถ่ายทำ ในวันที่ลงพื้นที่ถ่ายจริงจะใช้เวลาทั้งวัน เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนน้อง ๆ และครอบครัว ก็ต้องเร่งถ่ายทำในเวลากลางวันในช่วงเวลาเรียน โดยความอนุเคราะห์ของผู้อำนวยการโรงเรียนและคณะครู ตอนถ่ายทำก็จะแบ่งออกเป็น 2 ทีมเป็นอย่างน้อย เพราะทีมหลักต้องถ่ายทำในห้องเรียน ทีมเสริมก็ต้องเก็บบรรยากาศการทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น การเก็บขยะและทิ้งขยะให้ถูกที่
พวกเราทีม KADCHANAN Production นักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษา ชั้นปีที่ 3 คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี มีสมาชิกในทีม 11 คน ประกอบด้วย
1. นายกันตภณ โตทุ้ย ผู้กำกับ
2. นายจักรินทร์ ครองชื่น ช่างกล้อง
3. นายธนกร สิทธิรักษ์ ช่างกล้อง
4. นายรชต พันพิบูลย์ เขียนบท
5. นางสาวณัฎชนก ก้อนทอง นักแสดงนำ
6. นายกิตติธัช เชียงรัมย์ ตัดต่อ
7. นายสิทธิพร ชาดานอก ช่างเทคนิค
8. นายสุนทรัตร สุขลิ้ม โมชั่นกราฟิค
9. นายนราวิชญ์ วรรณกิจ ช่างเทคนิค
10. นายธีรโชติ อรศรี ช่างเทคนิค
11. นางสาวปาณิสรา อ่อนศรี สวัสดิการ
ถึงแม้จะมีเวลาทำงานไม่ถึงเดือนในการสร้างสรรค์ผลงาน แต่ก็การันตีด้วย “รางวัลชนะเลิศ” การประกวดหนังสั้น หัวข้อ “หากหยุดวิกฤตโลกร้อนสุดขั้วไม่ได้...จะเอาตัวรอดอย่างไร?” ผลงานชื่อ “ฝันเล็กเปลี่ยนโลก” หวังเป็นเสียงสะท้อนสื่อสารไปยังผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน หันกลับมามองและจริงจังกับการแก้ไขปัญหาโลกเดือด สร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้โลกของเราเป็นโลกที่น่าอยู่
ดูผลงานได้ที่ https://fb.watch/vdZOKGe9D2/
พงพิทักษ์ อุปไชย
งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี