เปิดตัวหนังสือเล่มแรก “เกียวโต ประวัติศาสตร์พันปี” ฝีมือ ป.โท ม.อุบลฯ
อีกหนึ่งความภาคภูมิใจ ของนักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดย นายพีรภัทร ห้าวเหิม นักศึกษา ป.โท สาขาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ที่สามารถทำความฝันของตนเองได้สำเร็จในการเขียนเรียบเรียงหนังสือประวัติศาสตร์ “เกียวโต ประวัติศาสตร์พันปี” เป็นหนังสือเล่มแรกในชีวิต ซึ่งใช้เวลารวบรวมและเรียบเรียงนานกว่า 9 เดือน มีเนื้อหาพร้อมภาพประกอบ จำนวน 540 หน้า ครอบคลุมเกี่ยวกับเมืองเกียวโตตั้งแต่ยุคโบราณจนถึงเหตุการณ์การปฏิรูปเมจิ ประมวลความรู้และเรียบเรียงขึ้นเป็นงานเขียนทางประวัติศาสตร์อย่างเป็นระบบ ได้รับการตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ยิปซี พร้อมวางจำหน่ายในร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ
นับเป็นผลงานของเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่มีใจรักด้านประวัติศาสตร์ กับผลงานหนังสือ“เกียวโต ประวัติศาสตร์พันปี” โดย นายพีรภัทร ห้าวเหิม หรือ ภัทร หนุ่มวัย 25 ปี จากจังหวัดสุรินทร์ พีรภัทร บอกว่า หลังจากที่ตนสำเร็จการศึกษา ระดับ ป.ตรี สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.มหาสารคาม ได้สนใจเข้าศึกษาต่อหลักสูตร ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ตนมีความตั้งใจมานานที่อยากทำหนังสือสักเล่ม ภายหลังจากได้เรียนในรายวิชาประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบกับความชื่นชมและซาบซึ้งต่อขนบประเพณีและวัฒนธรรมญี่ปุ่นโดยส่วนตัว ทำให้ตนได้มุ่งมั่นในการศึกษา พยายามค้นคว้าเอกสารที่เกี่ยวกับเมืองเกียวโต ทั้งเอกสารไทยและเอกสารต่างประเทศ ได้ประมวลความรู้และเรียบเรียงขึ้นเป็นงานเขียนทางประวัติศาสตร์ มีเนื้อหาครอบคลุมเกี่ยวกับเกียวโตตั้งแต่ยุคโบราณจนถึงเหตุการณ์การปฏิรูปเมจิใน ค.ศ.1868 มีทั้งหมด 10 บท โดยใช้หลักฐานชั้นต้นประเภทรูปภาพ และเอกสารชั้นรองที่นักวิชาการชาวไทยและชาวต่างประเทศเขียนขึ้นในชั้นหลัง นำมาประกอบกันให้เห็นแต่ละมิติแต่ละช่วงเวลา กว่าจะได้มาซึ่งหนังสือเล่มนี้ ตนใช้เวลารวบรวมและเรียบเรียงหนังสือเล่มนี้นานกว่า 9 เดือน เลยทีเดียว
การเรียนประวัติศาสตร์ไม่น่าเบื่ออย่างที่คิด วิชาประวัติศาสตร์ ว่าด้วยการศึกษาความเป็นไปในอดีตของสังคมมนุษย์ โดยใช้หลักฐานชั้นต้นและชั้นรองมาวิเคราะห์และตีความ นำเสนอตามวิธีการทางประวัติศาสตร์ (Historical Approach) ทำให้ผู้ศึกษามีความพยายามที่จะค้นหาข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ ว่าสังคมมนุษย์ในแต่ละช่วงเวลาที่ทำการศึกษานั้น มีพัฒนาการ ความเปลี่ยนแปลงอย่างไร การศึกษาเกี่ยวกับเกียวโต จึงว่าด้วยเรื่องของสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากเกียวโตเคยเป็นอดีตเมืองหลวงโบราณของญี่ปุ่น เป็นศูนย์กลางการปกครองของประเทศยุคก่อนสมัยใหม่ ที่ประกอบไปด้วย สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ อาทิ วัดวาอาราม ศาลเจ้าชินโต ปราสาท แหล่งขุดค้นทางโบราณคดี และยังมีตำนานความเชื่อเรื่องเล่าปรัมปราต่าง ๆ ที่ยังปรากฏร่องรอยแห่งความเจริญรุ่งเรืองและเชื้อเชิญให้นักท่องเที่ยวและผู้สนใจในประวัติศาสตร์เดินทางไปเกียวโต เพื่อชื่นชมความงดงามทางสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม ประติมากรรม และอื่น ๆ อีกมากมายทุกปี
ความสำเร็จในครั้งนี้ ต้องขอขอบคุณ อาจารย์มิตต ทรัพย์ผุด ที่ถ่ายทอดความรู้วิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศฯ ขอบคุณอาจารย์ที่ปรึกษา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมศรี ชัยวณิชยา ที่ถ่ายทอดความรู้ในแขนงวิชาประวัติศาสตร์นิพนธ์ อาจารย์ ดร.วรรณพรรธน์ เฟรนช์ อาจารย์สุรีรัตน์ บุปผา สำหรับความรู้ในวิชาโบราณคดี จนทำให้เกิดการบูรณาการนำเอาความรู้เหล่านี้มาปรับใช้และส่งผลให้เกิดผลงานชิ้นนี้ขึ้นมา คุณูปการทั้งหลายเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากมิตรสหายในแวดวงประวัติศาสตร์และญี่ปุ่นศึกษา รวมไปถึงงานศึกษาทางประวัติศาสตร์ที่นักศึกษาได้นำมาปรับใช้และเรียบเรียงให้เป็นประวัติศาสตร์เกียวโตฉบับภาษาไทย ทั้งนี้ ความผิดพลาดประการใดในหนังสือเล่มนี้ตนขอน้อมรับไว้เพียงผู้เดียว พีรภัทร ห้าวเหิม กล่าว
นับเป็นอีกแบบอย่างที่ดีของสังคม ที่แสดงถึงความมุ่งมั่นตั้งใจ ทำในสิ่งที่ชอบ ศึกษาค้นคว้าให้ได้มาของข้อมูลที่เป็นจริง “เกียวโต ประวัติศาสตร์พันปี” จึงไม่ใช่แค่หนังสือประวัติศาสตร์ แต่เป็นได้ถึงชีวิตจิตใจความรู้สึกของเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่ถ่ายทอดออกมาให้คุณได้สัมผัส ติดตามข้อมูล พีรภัทร ห้าวเหิม ที่ Fb : Pheeraphat Hoaherm
เพลิน วิชัยวงศ์ นักประชาสัมพันธ์ ม.อุบลฯ / ข่าว
ผลงานทางวิชาการที่ได้รับการตีพิมพ์
พีรภัทร ห้าวเหิม และสมศรี ชัยวณิชยา. (2561). นโยบายการพัฒนาอีสานของรัฐบาลสยามตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ระหว่าง พ.ศ.2453-2477. วารสาร ประวัติศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, ปีที่ 43 ฉบับเดือน สิงหาคม 2561-กรกฎาคม 2562.
พีรภัทร ห้าวเหิม และสมศรี ชัยวณิชยา. (2561). สภาพสังคมและการดำเนินนโยบายพัฒนาอีสานของรัฐบาลสยามตั้งแต่ พ.ศ.2468-2487: กรณีศึกษาผ่านรายงานตรวจราชการ. พิมพ์เผยแพร่ในเอกสารประกอบการประชุมวิชาการ ระดับชาติด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ครั้งที่ 1 ประจำปี 2561 วันที่ 22 มิถุนายน 2561 โรงแรมยูเพลส มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.
พีรภัทร ห้าวเหิม. (2561). การปรับรับวัฒนธรรมญี่ปุ่นในประเทศไทยสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. วารสาร JSN Journal, ปีที่ 8 ฉบับที่ 3.
พีรภัทร ห้าวเหิม. (2561). การวิเคราะห์การแต่งตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ในประชุมพงศาวดารภาคที่ 70 พ.ศ.2484: ศึกษาฉบับพระยามหาอำมาตยาธิบดี (เส็ง วิรยศิริ), ฉบับหม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร), และฉบับ เจ้าพรหมเทวานุเคราะห์ (หน่อคำ). วารสารศิลปศาสตรสาร คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัย นครพนม, ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มิถุนายน 2461).