แม่คำปุน ศรีใส ได้รับรางวัลศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2561 (ประณีตศิลป์-ทอผ้า)
วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2562 กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) จัดแถลงข่าว การประกาศยกย่องศิลปินแห่งชาติ ประจำปี พุทธศักราช 2561 จำนวน 12 ราย ดังนี้
สาขาทัศนศิลป์ จำนวน 4 ราย แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทวิจิตรศิลป์ 2 ราย ได้แก่ นายชิน ประสงค์ (ประติมากรรม ) และ นายปริญญา ตันติสุข (จิตรกรรม) ประเภทประยุกต์ศิลป์ จำนวน 2 ราย ได้แก่ นางคำปุน ศรีใส (ประณีตศิลป์-ทอผ้า) และ นายคงศักดิ์ ยุกตะเสวี (สถาปัตยกรรมภายใน)
สาขาวรรณศิลป์ จำนวน 2 ราย ได้แก่ นายจำลอง ฝั่งชลจิตร และ นายเสน่ห์ สังข์สุข
สาขาศิลปะการแสดง จำนวน 6 ราย แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ประเภทดนตรีไทย นาฎศิลป์ไทย และศิลปะการแสดงพื้นบ้าน จำนวน 2 ราย ได้แก่ นายวิโรจน์ วีระวัฒนานนท์ (ลิเก) และ นางกั้น เชาวพ้อง (โนรา) ประเภทดนตรีสากล และนาฏศิลป์สากล จำนวน 2 ราย ได้แก่ นางสุคนธ์ พรพิรุณ (ผู้ประพันธ์เพลงไทยสากล) และ นายประภาส ชลศรานนท์ (ผู้สร้างสรรค์งานบันเทิงและดนตรีไทยสากล) และ ประเภท ภาพยนตร์ และละคร ได้แก่ นางสมสุข กัลย์จาฤก (ละครวิทยุ-ละครโทรทัศน์) และ นางเอก ชาวราษฎร์ หรือ เพชรา เชาวราษฎร์ (ภาพยนตร์)
สำหรับประวัติของ แม่คำปุน ศรีใส เกิดเมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ.2476 ที่คุ้มวัดกลาง ตำบลยโสธร อำเภอยโสธร จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันเป็นจังหวัดยโสธร) สำเร็จการศึกษาระดับชั้น ป.4 จากโรงเรียนสามัคคีวัฒนา เมื่อปี 2485
แม่คำปุน ศรีใส ได้รับการปลูกฝังวัฒนธรรมการทอผ้าที่สืบทอดจากบรรพบุรุษ โดยเฉพาะจากคุณยายและคุณแม่น้อย ศรีใส ทำให้แม่คำปุน รักและชื่นชมศิลปะการทอผ้า แม้เมื่อมีครอบครัวกับนายเตียซ้ง แซ่แต้ ซึ่งมีอาชีพค้าขาย ทำให้ต้องหยุดการทอผ้าเพื่อไปประกอบอาชีพตามสามี แต่นางคำปุน ศรีใส ก็ได้ซึมซับการทอผ้าเป็นชีวิตจิตใจ จึงทำให้หวนกลับมายึดอาชีพทอผ้าอีกครั้ง
แม่คำปุน ได้พัฒนาการทอผ้าไหม และขยายเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนอย่างจริงจัง ที่ถนนผาแดง พร้อมกับเปิดร้านคำปุน ขายผ้าที่หน้าตลาดใหญ่ ส่วนศิลปะการทอผ้าไหม ก็ได้พัฒนาลวดลายให้วิจิตรพิสดาร โดยยึดรากฐานการทอผ้าอีสาน คือ หมี่ ขิด ยก และ จก เป็นพื้นฐาน และพัฒนาผ้าไหมให้มีลวดลายหลากหลายยิ่งขึ้น
ต่อมาแม่คำปุน ได้รับอนุญาตให้ขยายโรงทอผ้าไหมด้วยกี่ 24 หลัง โดยใช้ชื่อว่าโรงทอผ้าไหมคำปุน ตั้งอยู่ที่ถนนศรีสะเกษ ต.คำน้ำแซบ อ.วารินชำราบ อุบลราชธานี และได้มีการถ่ายทอดให้บุตรชาย (อ.มีชัย แต้สุจริยา) เป็นผู้สืบสานตำนานผ้าไหมคำปุน ดำเนินกิจการแทน จึงทำให้ผ้าไหมคำปุนก้าวหน้าไปอย่างมั่นคง ผ้าแต่ละผืนได้ออกแบบผสมผสานรากฐานเดิม กับเทคนิคสมัยใหม่ ทำให้ผืนผ้ามีความวิจิตรพิสดาร เพิ่มมูลค่า มีราคาผืนละเรือนหมื่นเรือนแสน
ปัจจุบัน โรงทอผ้าไหมคำปุน ได้ทอผ้าหลายชนิด คือผ้าไหมสีต่างๆ ผ้าไหมมัดหมี่ รวมถึงผ้าไหมยกเงินผ้าไหมยกทอง ซึ่งผ้าที่มีชื่อเสียงของบ้านคำปุน คือ ผ้าไหมมัดหมี่ผสมการจก (การปัก) ด้วยไหมสีต่างๆ มีทั้งไหมเงินไหมคำลงบนผืนลายผ้า ช่วยให้ผ้ามีความงดงามวิจิตรตระการตามากขึ้น อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะอันโดดเด่นของผ้า
จากความคิด ปรัชญา และความสามารถในการสร้างสรรค์งานฝีมือด้วยลวดลายที่เต็มไปด้วยศิลปะ กลับบ่งบอกถึงความเป็นอัจฉริยะในทางความคิด และการออกแบบที่งดงามแปลกตา อีกทั้งทรงคุณค่าอย่างน่าอัศจรรย์ใจยิ่ง ผลงานของแม่คําปุน ศรีใส มีความโดดเด่นที่ความประณีตของเส้นใย และการให้สีที่ผสมกลมกลืนกันได้อย่างสวยงาม เป็นที่กล่าวขวัญกันในเชิง “ผ้ามีระดับ” ทั้งนี้ก็ด้วยกรรมวิธีในการทอ ตลอดจนการให้สีผ้าและการเลือกวัสดุที่มีคุณภาพ ที่มีความละเอียดประณีตในทุกขั้นตอน ผ้าคําปุนได้รับความสนใจจากบุคคลผู้ มีชื่อเสียงของประเทศนําไปใช้ในพิธีการต่างๆ อยู่เสมอ เช่น ในการหมั้น การเข้าเฝ้า เป็นต้น และยังได้ใช้เป็นเครื่องแต่งกายของตัวเอกในภาพยนตร์ เรื่อง “ตำนานสมเด็จพระนเรศวร” อีกด้วย
ด้วยใจเป็นกุศลและฐานะมั่นคง แม่คําปุน ศรีใส จึงได้โอกาสในการบําเพ็ญประโยชน์ ต่อสังคมท้องถิ่นอย่างสม่ำเสมอ ทั้งด้วยการบริจาคเงินทุนการศึกษาแก่เด็กนักเรียนที่ด้อยโอกาสของโรงเรียนต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี จํานวนมากมาย ขณะเดียวกันก็ได้บริจาคเงินเพื่อสาธารณกุศลต่างๆ ให้แก่องค์กรต่างๆ เช่น สภากาชาดไทย ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคมะเร็ง ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ฯลฯ และที่สําคัญ คือ งานบํารุงพระพุทธศาสนา นางคําปุน ศรีใส ได้บริจาคเงินจํานวนมากทํานุบํารุงวัดในจังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดยโสธร
กิจกรรมสาธารณกุศลอย่างหนึ่งที่ แม่คําปูน ศรีใส และนายมีชัย แต้สุจริยา บุตรชาย ร่วมกันทํากุศลใน เทศกาลเข้าพรรษาของทุกปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2553 เป็นต้นมา ได้แก่การเปิดโรงทอบ้านคําปูน ให้บุคคลทั่วไปได้เข้าชมนิทรรศการผ้าไหม เป็นเวลา 3 วัน โดยเก็บค่าเข้าชมคนละ 100 บาท แล้วนําเงินรายได้ทั้งหมดโดยไม่หักค่าใช้จ่าย (ปีละหลายแสนบาท) ไปซ่อมแซมหอแจก (ศาลาการเปรียญ) วัดศรีอุบลรัตนาราม และให้ทุนการศึกษาแก่เด็กด้อยโอกาสในถิ่นทุรกันดาร ถือเป็นกิจกรรมของครอบครัวบ้านคําปั่น ที่ได้รับความชื่นชมและอนุโมทนาอย่างยิ่ง
แม่คำปุน ศรีใส เป็นบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถ และมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาการทอผ้าไหมจนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วประเทศ และด้วยคุณลักษณะของผู้มีจิตใจเมตตา โอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และอุทิศตนเพื่องานสาธารณประโยชน์อย่างสม่ำเสมอ ทำให้หน่วยงานทั้งทางราชการและเอกชน ยกย่องเชิดชูเกียรติ มอบรางวัลและเกียรติบัตรมากมาย โดยล่าสุดคือ รางวัลศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ประเภทประยุกต์ศิลป์ (ประณีตศิลป์-ทอผ้า)