รพ.สรรพสิทธิ์ฯ แจง เคสน้องทิพย์ตาอักเสบ ไม่ได้ปฏิเสธการรักษา
กรณีโลกออนไลน์เผยแพร่เรื่องราวยาย-หลาน ยายรอเงินเบี้ยยังชีพคนชรา พาหลานสาวตาบวมปูดทรมานด้วยความเจ็บปวดไปหาหมอ แต่ถูกทางโรงพยาบาลปฏิเสธการรักษา เหตุไม่มีเงินจ่าย ครอบครัวยากจนพ่อและแม่ตกงานจากพิษโควิด-19 แถมเด็กเป็นลูกครึ่งลาว สุดช้ำใจคำพูดของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเป็นคนลาวก็ต้องไปรักษาที่ลาวนั้น
ล่าสุดวันที่ 4 พฤษภาคม 2563 นพ.มนต์ชัย วิวัฒนาสิทธิพงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ อุบลราชธานี เปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนจังหวัดอุบลราชธานี ดังนี้
กรณีดังกล่าว เป็นผู้ป่วยเด็กหญิงอายุประมาณ 4 ขวบ มีญาติซึ่งคือย่าพาเข้ามารักษาด้วยเรื่องตาโปน ที่เป็นมาประมาณ 1 เดือน แต่เห็นชัดเจนคือปิดตาไม่สนิทมาประมาณ 1 สัปดาห์ โดยมีใบส่งตัวมาจากโรงพยาบาลเขมราฐ
ผู้ป่วยมาที่ รพ.สรรพสิทธิประสงค์ ขึ้นบัตรเวลา 10:46 น. ได้รับการซักประวัติ และเข้าตรวจที่แผนกจักษุ แพทย์แนะนำหาสาเหตุโดยการตรวจ X-ray คอมพิวเตอร์ ( CT scan) และตรวจเลือด ซึ่งได้แจ้งว่ามีค่าใช้จ่ายประมาณ 8,000 บาท เนื่องจากบัตรตรวจขึ้นว่าเป็น ชำระเงินสดต่างด้าว เพราะผู้ป่วยไม่มีเลขบัตร 13 หลัก
กรณีนี้ ย่ายืนยันว่าเด็กมีพ่อเป็นคนไทย แต่ไม่ได้ไปแจ้งเกิดจึงไม่มีเลข 13 หลัก เจ้าหน้าที่เป็นห่วง จึงได้ให้ญาติไปตรวจสอบสิทธิอีกครั้งเพื่อความแน่นอน ต่อมาได้ไปที่สังคมสงเคราะห์ เพื่อจะให้ช่วยเหลือค่ารักษา แล้วกลับมาที่ห้องตรวจ เพื่อนำใบเจาะเลือดไปตรวจหาสาเหตุเบื้องต้นก่อน แต่เมื่อญาติพาผู้ป่วยไปที่ห้องเจาะเลือด พบว่าได้รับคำแนะนำให้ไปคิดค่ารักษาเพื่อนำยอดไปให้สังคมสงเคราะห์พิจารณาช่วยเหลือ
หลังจากนั้นไม่พบผู้ป่วยไปที่ห้องเจาะเลือดอีก มาทราบภายหลังว่า ย่าพาผู้ป่วยกลับ เนื่องจากกังวลเรื่องค่ารักษา และผู้ป่วยร้องงอแงอยากกลับ ประกอบกับเกรงว่าจะไม่ทันรถที่เหมามา ซึ่งมีนัดตอนบ่ายสามโมง
ช่วงบ่าย เจ้าหน้าที่ที่แผนกตาและนักสังคมสงเคราะห์ ได้ประสานไปที่ห้องเจาะเลือด เพื่อติดตามผล แต่ไม่พบ จึงประกาศเรียกหาอีกจำนวน 4 ครั้ง แต่ไม่มีโทรศัพท์ที่สามารถติดตามได้ จึงวางแผนจะทำการติดตามอีกครั้งไปที่ รพ.สต. ตามที่อยู่ที่แจ้งในวันทำการต่อไป แต่พบว่าเป็นข่าวในสื่อสังคมออนไลน์เสียก่อน
ประเด็นที่ว่า รพ.ปฏิเสธการรักษา ทางโรงพยาบาลขอชี้แจงว่า ไม่ได้ปฏิเสธการรักษา แต่เป็นการแจ้งค่ารักษาพยาบาลไปตามระบบ เมื่อพบว่าผู้ป่วยไม่สามารถจ่ายได้ จะมีนักสังคมสงเคราะห์ประเมินและให้การช่วยเหลือตามขั้นตอนต่อไป โดยโรงพยาบาลมีระบบตรงนี้ สำหรับช่วยเหลือผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการรักษา ทั้งคนไทยและต่างชาติ ซึ่งที่ผ่านมา รพ.ได้ช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาเรื่องสัญชาติ หรือเพื่อนบ้านไปกว่าปีละ 10 ล้านบาท
ปัจจุบัน ผู้ป่วยอยู่ในความดูแลของกุมารแพทย์ จักษุแพทย์ และแพทย์สาขาที่เกี่ยวข้องกับโรคแล้ว จึงอยากให้ประชาชนที่อ่านข่าวได้เข้าใจและเห็นใจการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ด้วย