guideubon

 

ม.อุบล ส่งบุคลากรเข้าเฝ้าฯ กษัตริย์จิกมี แห่งภูฏาน ร่วมพัฒนา OGOP

กษัตริย์จิกมี-ภูฏาน-OGOP-01.jpg

มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ส่ง 2 อาสาสมัคร 2 ผู้เชี่ยวชาญ เป็นตัวแทนประเทศไทย ร่วมโครงการส่งเสริมด้านการเกษตร พัฒนาผลิตภัณฑ์ OGOP (One Gewong One Product) ภายใต้ความร่วมมือระหว่างไทย – ภูฏาน พร้อมเข้าเฝ้าฯ กษัตริย์จิกมี แห่งราชอาณาจักรภูฏาน พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสขอบใจ และทรงดีใจ มีความสุขที่ได้ทำโครงการนี้ช่วยชาวภูฏาน ด้าน 2 อาสาสมัคร ม.อุบลฯ จับมือมั่นพร้อมสร้างสรรค์ผลงานเด่น พัฒนาเว็บไซด์ ออกแบบผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เพื่อชื่อเสียงผลงานคนไทย

กษัตริย์จิกมี-ภูฏาน-OGOP-02.jpg

โครงการส่งเสริมด้านการเกษตร โดยเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OGOP ของราชอาณาจักรภูฏาน เป็นโครงการที่สืบเนื่องจากที่สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังซุก แห่งราชอาณาจักรภูฏานได้โปรดเกล้าให้ปลัดกระทรวงการต่างประเทศและคณะ ได้เข้าเฝ้าฯ ในโอกาสเยือนราชอาณาจักรภูฏานอย่างเป็นทางการ เพื่อเข้าร่วมการประชุมหารือระดับปลัดกระทรวงการต่างประเทศไทย – ภูฏาน เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2557 สมเด็จพระราชาธิบดีฯ ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะพัฒนาด้านเกษตร โดยเฉพาะเกษตรกรให้มีความรู้ความสามารถเพิ่มผลผลิต พัฒนาผลิตภัณฑ์สู่ตลาด และการส่งออกได้ ซึ่งท่านปลัดกระทรวงฯ ได้ถวายยืนยันว่าไทยพร้อมที่จะให้ความร่วมมือด้านการเกษตรแก่ภูฏาน เพราะเป็นสาขาที่ไทยมีความชำนาญและประสบความสำเร็จ พร้อมที่จะแบ่งปันองค์ความรู้ รวมไปถึงการพัฒนาการผลิตสินค้า OTOP (One Tambon One Product) ด้วย

กษัตริย์จิกมี-ภูฏาน-OGOP-03.jpg

ทั้งนี้ ในแต่ละชุมชน/หมู่บ้านของภูฏานจะมีการทำผลิตภัณฑ์ของตนเองอยู่แล้ว แต่เป็นการผลิตเพื่อใช้ในครัวเรือนเท่านั้น ชาวบ้านยังขาดความรู้และประสบการณ์ในการด้านการออกแบบและการตลาดทั้งภายในประเทศ ซึ่งกรมความร่วมมือระหว่างประเทศแจ้งยินดีสนับสนุนโครงการส่งเสริมด้านการเกษตร โดยเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OGOP ของราชอาณาจักรภูฏาน (The One Gewog One Product (OGOP) Development Project) ระยะเวลาดำเนินการโครงการ 3 ปี (2558-2560)

กษัตริย์จิกมี-ภูฏาน-OGOP-04.jpg

ด้าน กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ได้สนับสนุนอาสาสมัครชาวไทย ในการลงพื้นที่ปฏิบัติงานภายใต้โครงการ จำนวน 2 ตำแหน่ง สาขา Information Technology Professional เพื่อออกแบบ website และจัดทำ Database ผลิตภัณฑ์ภายใต้โครงการฯ และสาขา Product Design เพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์และการบรรจุหีบห่อให้มีความหลากหลาย โดยกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ร่วมกับ รศ.ดร.วัชรพงษ์ วัฒนกูล มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้พิจารณาคัดเลือกผู้มีความเหมาะสม จำนวน 2 คน ได้แก่ นายวีระพล สินสร้าง บัณฑิตคณะบริหารศาสตร์ สาขาระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ (ปัจจุบันกำลังศึกษาระดับปริญญาโท ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี) และ นายศักดา จรัญญากรณ์ บัณฑิตคณะศิลปะประยุกต์และการออกแบบ สาขาออกแบบผลิตภัณฑ์ โดยมี ดร.วรงค์ นัยวินิจ อาจารย์ประจำคณะเกษตรศาสตร์ และ อาจารย์กรกิฏ เหล่าสกุล อาจารย์ประจำคณะศิลปะประยุกต์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นผู้เชี่ยวชาญ ร่วมเดินทางในโครงการนี้ด้วย โดยผู้เชี่ยวชาญ ปฏิบัติงานระหว่างวันที่ 21 มีนาคม 2559 ถึง 1 เมษายน 2559 ส่วนอาสาสมัครจะปฏิบัติงาน ระหว่างวันที่ 21 มีนาคม 2559 ถึง 20 มีนาคม 2560

กษัตริย์จิกมี-ภูฏาน-OGOP-05.jpg

นายวีระพล สินสร้าง อาสาสมัคร ม.อุบลฯ กล่าวว่า รู้สึกภูมิใจ ที่ได้เป็นตัวแทนประเทศ ในการสร้างผลงานระดับนานาชาติ ในการพัฒนาระบบ เว็บไซต์ให้ประเทศภูฏาน โดยที่หลักๆ คือ 1.เขียนเว็บไซต์ 2.ทำระบบฐานข้อมูลเพื่อเก็บสินค้าเกี่ยวกับ OGOP พัฒนาเว็บไซต์ของ The Queen's Project Office เว็บไซต์ของโครงการ OGOP ระบบฐานข้อมูลเก็บสินค้าของโครงการ OGOP ระบบขายสินค้าหน้า Shop ซึ่งจะเปิดขายให้นักท่องเที่ยวที่สนามบิน Paro และในตัวเมือง Thimpu และระบบการจัดการสินค้าที่มีคุณภาพ สิ่งที่ตนต้องทำคือ สร้างผลงานให้ดีที่สุด ต้องทำงานกระตือรือร้นเป็น 3 เท่า คือ เท่าที่ 1 คือสำหรับตัวเองเป็นผลงานของตัวเอง เท่าที่ 2 คือสำหรับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เพราะได้รับการสนับสนุนจากคณาจารย์ทุกท่าน เท่าที่ 3 คือสำหรับรัฐบาลไทย เพราะถือว่าเป็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ส่วน นายศักดา จรัญญากรณ์ อาสามัคร ม.อุบลฯ บัณฑิตคณะศิลปประยุกต์และการออกแบบ สาขาออกแบบผลิตภัณฑ์ กล่าวว่า รู้สึกดีใจและภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ อาจจะเป็นโอกาสครั้งเดียวในชีวิตที่ก็ว่าได้ ตนรับผิดชอบงานด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและพัฒนาผลิตภัณฑ์ OGOP โดยดึงแนวคิดที่เป็นพื้นถิ่นออกมา ให้สอดคล้องกับเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ ตนได้นำความรู้ที่เรียนมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องขอบคุณคณะ และสถาบัน ที่ให้โอกาสทำงานครั้งนี้

ดร.วรงค์ นัยวินิจ และอาจารย์กรกิฏ เหล่าสกุล ผู้เชี่ยวชาญ ม.อุบลฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายหลังจาก ทีมอาสาสมัคร และผู้เชี่ยวชาญ ลงพื้นที่ปฏิบัติงานเพียง 1 สัปดาห์ รองราชเลขาได้แจ้งให้ทั้ง 4 คน เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังซุก แห่งราชอาณาจักรภูฏาน เป็นการเร่งด่วน ทุกคนต่างตื่นเต้นที่จะได้เข้าเฝ้าฯ พระองค์ทรงตรัสถามว่ามาจากส่วนไหนของไทย ซึ่งอาจารย์กรกิฏ เหล่าสกุล กราบทูลว่า มาจากจังหวัดอุบลราชธานี ทรงมีพระราชดำรัสขอบใจ และทรงดีใจ มีความสุขมากที่ได้มีโครงการนี้ไปช่วยชาวภูฏาน การได้เข้าเฝ้าครั้งนี้คณะทำงานทุกคนถือว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันเป็นล้นพ้นอย่างหาที่สุดมิได้ เป็นสิริมงคลแก่ตนและครอบครัวอย่างสูงสุด

นับว่าเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจ ของพี่น้องชาวไทย และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่เป็นส่วนหนึ่งในการทำงานโครงการระดับประเทศ เป็นการเชื่อมความสัมพันธ์อันดี อีกทั้งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรม นอกจากนี้ยังแสดงถึงความรู้ความสามรถในสาขาวิชาชีพ ของบัณฑิตแห่งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่สามารถถ่ายทอดสู่สารณชน สู่ประเทศชาติ และสู่นานาประเทศ ได้อย่างภาคภูมิใจ

เพลิน วิชัยวงศ์ นักประชาสัมพันธ์ ม.อุบลฯ /ข่าว