ทีมวิจัย ม.ราชภัฏอุบล ฯ ค้นพบผึ้งชนิดใหม่ของโลก ที่ อช.ภูจองนายอย
ทีมวิจัย มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ค้นพบผึ้งสายพันธ์ใหม่ของโลก ที่บริเวณอุทยานแห่งชาติภูจองนายอย อ.นาจะหลวย จังหวัดอุบลราชธานี สร้างความภาคภูมิใจให้กับสถาบัน และสร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดอุบลราชธานี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ค้นพบ เป็นศิษย์เก่า ม.ราชภัฏอุบลราชธานี ได้รับทุนไปศึกษาต่อปริญญาโทและเอก ก่อนจะกลับมาทำงานที่ ม.ราชภัฏอุบลฯ คือ ดร.ประพันธ์ ไตรยสุทธิ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี
อาจารย์ ดร.ประพันธ์ ไตรยสุทธิ์ กล่าวกับไกด์อุบลว่า ตนเป็นคนอุบล จบการศึกษาปริญญาตรี สาขาวิชาชีววิทยา จาก ม.ราชภัฏอุบลราชธานี แห่งนี้ จากนั้นได้รับทุนศึกษาต่อระดับปริญญาโทและปริญญาเอก สาขาวิชาจุลชีววิทยา ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมี รศ.ดร.ภาณุวรรณ จันทวรรณกูร เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผึ้งและโรคของผึ้งที่นิยมเลี้ยงกันในภาคเหนือ ระหว่างเรียนก็ได้ทำงานในบริษัทเอกชนในสายงานที่เกี่ยวข้องไปพร้อมกัน ทำให้ได้ฝึกฝนและเรียนรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการเลี้ยงผึ้งอย่างครบวงจร
หลังจากจบการศึกษาแล้ว อาจารย์ ดร.ประพันธ์ ได้รับทุนวิจัยหลังปริญญาเอก กองทุนรัชฏาภิเษกสมโภชน์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำวิจัยอยู่ห้องแลปผึ้งของ ผศ.ดร. ณัฐพจน์ วาฤทธิ์ ภาควิชาชีววิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับผึ้งพื้นเมือง ผึ้งป่าในธรรมชาติ ที่แตกต่างจากผึ้งเลี้ยงที่ผลิตน้ำหวาน และกลับเข้ามารายงานตัว เริ่มทำงานที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2560
ราวปี พ.ศ.2561 ขณะที่ อาจารย์ ดร.ประพันธ์ พร้อมด้วยอาจารย์ท่านอื่นในสาขาวิชาชีววิทยา และนักศึกษาผู้ช่วยวิจัย กำลังสำรวจพื้นที่ในอุทยานแห่งชาติภูจองนายอย ซึ่งอาจารย์กำลังให้ความสนใจรังของแมงมุมฝาปิดโบราณในบริเวณทางลาดเข้าสู่แก่งกะเลา ก็สังเกตเห็นท่อสีเหลือง ๆ ยื่นออกมาจากผาดิน ลักษณะเหมือนเป็นยางไม้ ก็เลยส่องดู และพบว่ามีผึ้งโผล่หน้าออกมา จึงรีบหยิบเอาโทรศัพท์มือถือมาถ่ายภาพเอาไว้ทัน จากนั้นก็เริ่มหาข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ และส่งภาพให้อาจารย์ของตน คือ ผศ.ดร.ณัฐพจน์ วาฤทธิ์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ช่วยตรวจสอบ
จากนั้น เดือนต่อมาอาจารย์ พร้อมผู้ช่วยวิจัย ตัดสินใจเดินทางกลับไปสำรวจภูจองอีกครั้ง เพื่อจะให้ได้ตัวผึ้งเป็น ๆ กลับมาศึกษาในห้องปฏิบัติการ (ห้องแลป) โดยใช้ความพยายามนั่งเฝ้าปากทางเข้ารังของผึ้งนานหลายชั่วโมง เริ่มตั้งแต่เวลาประมาณบ่ายโมง มาประสบผลตอนเกือบห้าโมงเย็นที่พบผึ้ง สามารถนำมาถ่ายภาพและตรวจสอบรายละเอียดต่าง ๆ ในห้องแลปได้สำเร็จ เป็นประโยชน์ต่อการสืบค้นและเปรียบเทียบกับผึ้งสายพันธุ์ต่าง ๆ ในโลกนี้ได้ชัดเจนมากขึ้น
จากการสำรวจของทีมวิจัยจากสาขาวิชาชีววิทยา มากกว่า 24 ครั้ง ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูจองนายอย โดยเฉพาะบริเวณพลาญป่าชาด ที่สามารถพบผึ้งชนิดหลายชนิดมาหากินในเขตนี้นั้น ทีมวิจัยไม่พบผึ้งตามบริเวณดอกไม้ แต่พบรังผึ้งเท่านั้น และจากการใช้เวลาตรวจสอบมากกว่า 2 ปี ด้วยการทบทวนเอกสารวิชาการ ฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และนักชีววิทยาทั่วโลก จึงสรุปได้ว่า ผึ้งที่พบที่อุทยานแห่งชาติภูจองนายอยนี้ เป็นผึ้งชนิดใหม่ ที่ยังไม่เคยมีรายงานมาก่อน โดยทีมผู้ค้นพบให้ชื่อตามภาษาไทยว่า “ผึ้งหยาดอำพันภูจอง”
ผึ้งหยาดอำพันภูจอง (phuchongensis) คำว่า “phuchong-” มาจากชื่ออุทยานแห่งชาติภูจองนายอย จังหวัดอุบลราชธานี ที่เป็นสถานที่พบผึ้งชนิดนี้เป็นครั้งแรก ส่วน “-ensis” เป็น suffix ภาษาละติน หมายถึง “originating in”
อาจารย์ ดร.ประพันธ์ ให้เหตุผลถึงการตั้งชื่อนี้ว่า “การตั้งชื่อสัตว์สายพันธุ์ใหม่ เราควรให้เกียรติสถานที่ที่เขาอยู่อาศัย และลักษณะเด่นเฉพาะที่งดงามของเขา จะทำให้คนสนใจในสถานที่ที่ค้นพบและต่อยอดเศรษฐกิจในพื้นที่จะดีกว่าครับ ผมหรือนักวิจัยเป็นเพียงคนที่เอาเขามานำเสนอ ผึ้งเขามีอยู่ของเขาตรงนั้นอยู่แล้ว"
ผึ้งหยาดอำพันภูจอง จัดอยู่ในสกุล Anthidiellum สกุลย่อย Ranthidiellum ซึ่งเป็นกลุ่มของผึ้งหายากที่เคยมีการค้นพบก่อนหน้าเพียง 4 ชนิดในโลกเท่านั้น และมีการค้นพบเฉพาะในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การค้นพบทั้งหมดเป็นเพียงการพบเจอตัวผึ้ง โดยไม่ทราบแง่มุมทางชีววิทยาใด ๆ เลย ซึ่งมีการพบรังของผึ้งกลุ่มนี้ว่า มีการสร้างท่อยางไม้เป็นปากทางเข้ารัง เพียงครั้งเดียวเท่านั้นจากประเทศมาเลเซีย สำหรับประเทศไทย มีการพบผึ้งกลุ่มนี้ 2 ชนิด ผึ้งหยาดอำพันภูจอง จึงจัดเป็นชนิดที่ 5 ของกลุ่มนี้ เน้นย้ำให้เห็นถึงความหายากของผึ้งกลุ่มนี้เป็นอย่างดี
สำหรับ ผึ้งหยาดอำพันภูจอง มีลักษณะอาศัยอยู่ในรังบนผาดิน จะใช้ยางไม้ในการสร้างรังและปากทางเข้ารัง โดยเฉพาะยางต้นเหียง หรือยางเหียง ที่ขึ้นในป่าเต็งรัง มีมากในอุทยานแห่งชาติภูจอง ตอนที่ทีมวิจัยเจอรังผึ้ง เป็นช่วงที่แสงแดดส่องกระทบรังผึ้ง มีสีเหลืองอำพันระยิบระยับ เพศเมียจะมีเหล็กใน (sting) ใช้สำหรับป้องกันตัว ซึ่งมีพิษอยู่เล็กน้อย สามารถต่อยได้หลายครั้ง ต่างจากผึ้งพันธุ์ที่ให้น้ำหวานที่จะต่อยครั้งเดียวแล้วผึ้งจะตายไป เนื่องจากสลัดเหล็กในออกไม่ได้ ปกติผึ้งหยาดอำพันภูจองจะไม่ต่อยคนหากไม่ถูกรบกวนมากจนเกินไป ขณะที่เพศผู้ หลังจากออกจากดักแด้ จะมีบทบาทเฉพาะการสืบพันธุ์กับเพศเมียจากนั้นก็จะตายไป
ในรัง ๆ หนึ่งของผึ้งหยาดอำพันภูจอง จึงมีเฉพาะผึ้งเพศเมียเพียงตัวเดียว ที่ทำหน้าที่ทุกอย่าง ตั้งแต่สร้างรัง วางไข่ และออกหาอาหารให้กับลูก ผึ้งหยาดอำพันภูจอง (Phujong resin bee) หรือ Anthidiellum (Ranthidiellum) phujongensis n. sp. เป็นผึ้งเฉพาะถิ่นในอุทยานแห่งชาติภูจองนายอย และพบได้เพียงที่เดียวเท่านั้นบนโลกนี้
ดร.ประพันธ์ ไตรยสุทธิ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาชีววิทยา แห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี นับเป็นความภาคภูมิใจของสถาบัน และเป็นที่ชื่นชมของชาวอุบล ที่มีนักวิจัยสายเลือดคนอุบล เป็นศิษย์เก่า ม.ราชภัฏอุบลฯ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยท้องถิ่นในจังหวัด ปัจจุบันยังทำหน้าที่เป็นอาจารย์ให้ความรู้แก่นักศึกษา ม.ราชภัฏอุบลฯ มีความสนใจและทำวิจัยเรื่องผึ้งมาโดยตลอด และด้วยความเป็นคนช่างสังเกต จนทำให้ค้นพบผึ้งสายพันธุ์ใหม่ของโลก ในนาม... ผึ้งหยาดอำพันภูจอง หรือในชื่อสากลว่า phuchongensis
ติดตามการแถลงข่าว การค้นพบผึ้งชนิดใหม่ของโลก "ผึ้งหยาดอำพันภูจองฯ" ทางเพจ ประชาสัมพันธ์ ม.ราชภัฏอุบลราชธานี ได้ในวันที่ 24 มีนาคม 2565 เวลา 09.00-12.00 น.
ขอบคุณข้อมูล
ข่าว : เชษฐ์ ศรีไมตรี, พงพิทักษ์ อุปไชย
ภาพ : ประพันธ์ ไตรยสุทธิ์, วรพล พวังคาม