guideubon

 

 

ม.อุบลฯ ชนะเลิศ Rubber Innovation Matching Day

Smart-Para-Film-01.jpg

วันที่ 11 ตุลาคม 2566 ไกด์อุบลขอแสดงความยินดีกับ ทีม Smart Para Film ผลงานวิจัยร่วมระหว่างอาจารย์สาขาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ และอาจารย์สาขาวิชาอุตสาหกรรมเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ อันดับ 1 (ระดับประเทศ) ผลงานระดับ Idea to Prototype (I2P) การมีไอเดีย/แนวคิดธุรกิจเพื่อพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์ต้นแบบยางพารา ผลิตภัณฑ์ “ฟิล์มยางพาราดูดซับเอทิลีนชะลอการสุกของกล้วยหอมทอง” รับเงินรางวัล 20,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร

โครงการประกวดงาน Rubber Innovation Matching Day นำเสนอผลงานผลิตภัณฑ์ต้นแบบและการจับคู่ธุรกิจ จัดโดย การยางแห่งประเทศไทย ร่วมกับ อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ภายใต้โครงการ Natural Rubber Startup Acceleration Program: Batch 3 เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลงานเข้าร่วมการประกวด เพื่อเปิดโอกาสให้แก่นิสิต นักศึกษา เกษตรกร สถาบันเกษตรกร ผู้ประกอบกิจการยาง และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในวงการยางพาราได้มีเวทีในการส่งผลงานคุณภาพเข้าร่วมการประกวดในอนาคตต่อไป เมื่อวันพุธที่ 27 กันยายน 2566 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

สำหรับทีม Smart Para Film ที่สร้างชื่อเสียงและผลงานเป็นที่ประจักษ์ สร้างความภาคภูมิใจให้แก่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีครั้งนี้ จากผลิตภัณฑ์ “ฟิล์มยางพาราดูดซับเอทิลีนชะลอการสุกของกล้วยหอมทอง” ซึ่งพัฒนาโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปราณี นุ้ยหนู ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สราวุธ ประเสริฐศรี รองศาสตราจารย์ ดร.สายันต์ แสงสุวรรณ อาจารย์ประจำสาขาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ และ รองศาสตราจารย์ ดร.วีรเวทย์ อุทโธ อาจารย์ประจำสาขาวิชาอุตสาหกรรมเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

Smart-Para-Film-03.jpg

โดยทีมอาจารย์ที่เข้าร่วมการแข่งขันแบ่งผลงานเป็น 4 ระดับ ได้แก่

- ผลงานระดับ Product to Global Market (P2GM) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางพาราที่อยู่ในตลาดเพื่อเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ
- ผลงานระดับ Product to Market (P2M) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบยางพาราเข้าสู่ตลาด
- ผลงานระดับ Idea to Prototype (I2P) การมีไอเดีย/แนวคิดธุรกิจเพื่อพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์ต้นแบบยางพารา และ
- ผลงานระดับ Design Contest (I2D) การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากวัสดุสานยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก ให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีคุณค่าและมีมูลค่าเพิ่ม

ในการประกวดครั้งนี้ ทางคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้ส่งผลงานเข้าร่วมการประกวด ระดับ Idea to Prototype (I2P) การมีไอเดีย/แนวคิดธุรกิจเพื่อพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์ต้นแบบยางพารา 3 ผลงาน ได้แก่

Smart-Para-Film-02.jpg

1. ทีม Smart Para Film ผลิตภัณฑ์ “ฟิล์มยางพาราดูดซับเอทิลีนชะลอการสุกของกล้วยหอมทอง” พัฒนาโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปราณี นุ้ยหนู ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สราวุธ ประเสริฐศรี รองศาสตราจารย์ ดร.สายันต์ แสงสุวรรณ สาขาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ และ รองศาสตราจารย์ ดร.วีรเวทย์ อุทโธ สาขาวิชาอุตสาหกรรมเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

Smart-Artificial-breast-Foam-01.jpg

2. ทีม Smart Artificial breast Foam ผลิตภัณฑ์ “หุ่นเต้านมเทียมจากโฟมยางพาราอัจฉริยะสำหรับฝึกนวดกระตุ้นเต้านมของแม่คลอดบุตร” พัฒนาโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปราณี นุ้ยหนู สาขาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมกับ นายกรวิช แก้วดี และ นายอนุพงษ์ รัฐิรมย์ บริษัทรับบิทเทค

RPT-Gen15-01.jpg

3. ทีม RPT Gen15 ผลิตภัณฑ์ “ยางยืดออกกำลังกายจากยางพาราสำหรับผู้สูงอายุ” พัฒนาโดย นางสาวสุภาศิณี อ่อนตา นางสาวสุนทรี ต้นสิงห์ นายชานนท์ พรมวิหาร และ นายวิชิต แก้ววิเศษ ภายใต้การกำกับควบคุมการผลิตโดย รองศาสตราจารย์ชัยวุฒิ วัดจัง อาจารย์ประจำสาขาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาและควบคุณการผลิตผลงานคุณภาพในการประกวดครั้งนี้


ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ ชำนาญการ
ข่าว/ภาพ สาขาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ ภาควิชาเคมี ม.อุบลฯ

 

copyright 2005 www.GuideUbon.com สำนักงานไกด์อุบลดอทคอม เลขที่ 89/1 ถนนพโลรังฤทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 ติดต่อไกด์อุบล : webmaster@guideubon.com | msn : guide_ubon@hotmail.com | Tel : 080-4850511