ม.อุบลฯ อบรมเกษตรกร ทำหมอนยางพารา เพิ่มมูลค่า
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สราวุธ ประเสริฐศรี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชัยวุฒิ วัดจัง และ ดร.ศันศนีย์ ศรีจันทร์ อาจารย์ประจำหลักสูตรเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นวิทยากรบรรยายพิเศษภาคทฤษฏีและปฏิบัติ พร้อมนักศึกษาชั้นปีที่ 4 หลักสูตรเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จำนวน 5 คน เป็นผู้ช่วยวิทยากรให้ความรู้ภาคทฤษฏีและปฏิบัติในการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “การทำหมอนยางพารา” ภายใต้โครงการการส่งเสริมและสนับสนุนสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางตามมาตรา 49 (6) ของการยางแห่งประเทศ ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง จำนวน 30 คน จากสหกรณ์กองทุนสวนยางเมืองอุบลราชธานี จำกัด ตำบลกระโสบ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี นายธนวัฒน์ แก่นคูณ ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดอุบลราชธานี สาขาเมืองอุบลราชธานีให้เกียรติ เป็นประธานเปิดและ นายธนวัฒน์ วงศ์ชะอุ่ม ประธานกรรมการสหกรณ์กองทุนสวนยางเมืองอุบลราชธานี จำกัด กล่าวรายงานและวัตถุประสงค์การจัดอบรมครั้งนี้
เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และจุดประกายให้สมาชิกเกษตรกรชาวสวนยาง สหกรณ์กองทุนสวนยางเมืองอุบลราชธานี จำกัด ในการเรียนรู้การแปรรูปยางพารา เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยในหลักสูตรนี้เน้นจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการทำหมอนยางพาราครั้งนี้
นายธนวัฒน์ แก่นคูณ ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดอุบลราชธานี สาขาเมืองอุบลราชธานี กล่าวว่า โครงการส่งเสริมและสนับสนุนสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางตามมาตรา 49 (6) ของการยางแห่งประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้สถาบันเกษตรกรมีการเพิ่มมูลค่ายางธรรมชาติโดยการแปรรูปและนำยางธรรมชาติมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ยางเพิ่มขึ้น รวมทั้งเพิ่มการใช้ผลิตภัณฑ์ยางและเพิ่มการส่งออก
ซึ่งกิจกรรมในวันนี้ ก็ได้รับงบประมาณสนับสนุนตามมาตรา 49 (6) ผ่านทางสหกรณ์กองทุนสวนยางเมืองอุบลราชธานี จำกัด เพื่อการจัดอบรมการทำหมอนยางพาราให้กับสมาชิกในกลุ่มสหกรณ์จำนวน 30 คน ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรชาวสวนยาง ได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติ การแปรรูปยาง เพื่อเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้นมากกว่าการรับซื้อและขายยางก้อนถ้วย ยางแผ่นดิบเพียงอย่างเดียว
จุดเริ่มต้นเรียนรู้การแปรรูปหมอนยางพารา ของตัวแทนสหกรณ์กองทุนสวนยางเมืองอุบลราชธานี ในวันนี้ก็ควรที่จะมีการพัฒนาต่อยอดให้เกิดขึ้นได้จริง และขยายผลไปสู่สมาชิกสหกรณ์รายอื่นๆ อีกกว่า 300 คน ซึ่งในส่วนของการยางแห่งประเทศไทย จังหวัดอุบลราชธานี ก็มีความยินดีที่จะสนับสนุนโครงการเพื่อจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องจักรในการผลิตหมอนยางพาราในปีต่อๆ ไป
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สราวุธ ประเสริฐศรี ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตสาขาวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมีภารกิจหลัก 4 ประการ คือ การจัดการเรียนการสอน การวิจัย การบริการทางวิชาการแก่สังคม และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม โดยการอบรมในครั้งนี้ถือเป็นการบริการวิชาการโดยการขยายผลความรู้ทางเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์จากโครงการ "กล้าใหม่ สร้างสรรค์ชุมชน" ของธนาคารไทยพาณิชย์ สู่กลุ่มสหกรณ์กองทุนสวนยางเมืองอุบลราชธานี จำกัด โดยมีวิทยากรหลัก คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชัยวุฒิ วัดจัง ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการแปรรูปน้ำยางพาราเป็นยางฟองน้ำสำหรับนำไปประยุกต์ใช้งานต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า โดยได้นำประสบการณ์ในการนำทีมนักศึกษาทำโครงงาน “หมอนขิดจากน้ำยางพารา ต่อยอดภูมิปัญญาบ้านศรีฐาน” อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร และโครงงาน “เพิ่มพูนค่าเสื่อเตยหนามด้วยน้ำยางพารา ส่งเสริมภูมิปัญญาบ้านโคกระเวียง” อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ มาใช้ถ่ายทอดความรู้การทำยางฟองน้ำให้กับเกษตรกรชาวสวนยางในครั้งนี้
ซึ่งทางหลักสูตรฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการรวมกลุ่มของเกษตรกรของสหกรณ์กองทุนสวนยางเมืองอุบลราชธานี จำกัด จะเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการเรียนรู้ ร่วมกันคิด ร่วมกันทำและผลักดันให้สามารถแปรรูปน้ำยางเป็นหมอนยางพาราให้เกิดขึ้นได้จริง โดยขอให้การยางแห่งประเทศไทยจังหวัดอุบลราชธานีช่วยส่งเสริมและสนับสนุนงบประมาณในการจัดซื้อเครื่องมือเครื่องจักรในการแปรรูปหมอนยางพาราในปีงบประมาณหน้า
สำหรับในส่วนของหลักสูตรเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีก็มีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่พร้อมให้การช่วยเหลือ ถ่ายทอดความรู้และให้คำปรึกษาต่างๆ ในการแปรรูปยางเพื่อเพิ่มมูลค่า เพื่อจะเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวสวนยางและสามารถต่อยอดธุรกิจที่มั่นคงได้ในอนาคต
ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ/ข่าว