guideubon

 

เครื่องบินลงสนามบินอุบลฯ ไม่ได้ สาเหตุไม่ใช่แค่ลมแรง!!

ลมแรง-เครื่องบินดีเลย์-สนามบินอุบล-01.jpg

วันที่ 6 พฤศจิกายน 2560 จากกรณีข่าวเกิดความโกลาหลเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2560 ที่ท่าอากาศยานอุบลราชธานี หลังสภาพอากาศแปรปรวน มีลมกระโชกแรง ทำให้เครื่องบินไม่สามารถลงจอดได้ตามเวลาที่กำหนดหลายเที่ยวบิน ส่งผลให้ผู้โดยสารที่มารอขึ้นเครื่องก็ไม่สามารถเดินทางได้ตามกำหนดเดิม ต้องรอสภาพอากาศกลับสู่ภาวะปกติ และนักบินสามารถนำเครื่องลงจอดได้อย่างปลอดภัย

ลมแรง-เครื่องบินดีเลย์-สนามบินอุบล-02.jpg

ทั้งนี้ ตั้งแต่เวลา 11.15 น. จนถึงเวลา 16.00 น. ของวันที่ 30 ตุลาคม 2560 มีสายการบินได้รับผลกระทบจำนวน 6 เที่ยวบิน ผู้โดยสารหลายคน ต้องมารอดูตารางเครื่องบินขึ้นลงเป็นระยะ ขณะที่เครื่องบินบางสายการบินต้องพยายามบินวนจะนำเครื่องลงจอดหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จเพราะมีลมกระโชกแรง เกรงว่าเครื่องจะไถลออกนอกรันเวย์ ต้องนำเครื่องขึ้นบินกลับไปที่ท่าอากาศยานดอนเมืองเพื่อรอสภาพอากาศต่อไป

ลมแรง-เครื่องบินดีเลย์-สนามบินอุบล-03.jpg

จากสภาพอากาศที่แปรปรวน มีลมกระโชกแรงอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายวัน ทำให้มีเที่ยวบินที่ได้รับผลกระทบมาอย่างต่อเนื่อง แม้กระทั่งวันที่ 3 พฤศจิกายน 2560 สายการบินนกแอร์ เที่ยวบินที่ DD9314 ออกจากสนามบินดอนเมืองเวลา 11.45 น. กำหนดถึงสนามบินอุบลราชธานีเวลาประมาณ 12.45 น. เมื่อมาถึงสนามบินอุบลราชธานีตามกำหนดเวลา ก็ไม่สามารถนำเครื่องลงได้ ต้องบินกลับไปที่ดอนเมืองใหม่อีกครั้ง ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ว่า สาเหตุเพราะมีลมแรงจนไม่สามารถนำเครื่องลงได้

ลมแรง-เครื่องบินดีเลย์-สนามบินอุบล-05.jpg

จากกรณีดังกล่าว แหล่งข่าวที่คลุกคลีกับแวดวงการบินกล่าวว่า การอ้างสาเหตุลมกระโชกแรงจนทำให้เครื่องบินขึ้น-ลง ไม่ได้นั้น เป็นเพียงสาเหตุหนึ่งเท่านั้น ความเร็วลมก็เป็นผลประกอบการตัดสินใจของกัปตันในการนำเครื่องขึ้นลง และทิศทางลมก็มีผลเช่นกัน เช่น หากทิศทางลมขวางทางวิ่ง โดยมากก็จะไม่นำเครื่องขึ้นลง แต่ถ้าทิศทางลมตามทางวิ่งจะไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด เพราะเครื่องบินอาศัยหลักการขึ้นลงตามแนวต้านลมอยู่แล้ว

ลมแรง-เครื่องบินดีเลย์-สนามบินอุบล-06.jpg

จากเหตุการณ์ลมกระโชกแรงหลายวันที่ผ่านมา หากเป็นสถานการณ์ปกติ นักบินจะสามารถนำเครื่องขึ้นลงได้สบายๆ เหมือนเช่นทุกปี แต่ปีนี้ เนื่องจากมีการปรับปรุงผิวทางวิ่ง (ซ่อมแซม) โดยการเสริมผิวทางวิ่งหรือที่เรียกว่าการ Overlay ทำให้ระยะทางของทางขับสั้นลงกว่าเดิม การขึ้นลงในภาวะที่ลมแรงจึงมีความเสี่ยง อีกทั้งมีการปิดใช้งานหัวสนามบินด้านหนึ่ง (05) เพื่อทำการซ่อมแซม ทำให้การนำเครื่องลงเป็นไปได้ยากหากไม่อยู่ในแนวต้านลม อาจไถลออกนอกทางวิ่งได้

ลมแรง-เครื่องบินดีเลย์-สนามบินอุบล-08.jpg

ก่อนอื่น ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ท่าอากาศยานอุบลราชธานี เป็นท่าอากาศยานที่ใช้งานมาตั้งแต่ครั้งสงครามเวียดนาม โดยเป็นที่ตั้งของฐานทัพอากาศสหรัฐอเมริกา ที่ใช้เป็นฐานในการโจมตีเวียดนาม ตั้งอยู่ในบริเวณกองบิน 21 มีทางวิ่ง (Runway) ยาว 3,000 เมตร กว้าง 45 เมตร และทางขับ (Taxiway) ใช้ร่วมกับทางวิ่ง พื้นผิวแอสฟัสท์ติคคอนกรีต เมื่อเครื่องบินซึ่งมีน้ำหนักมากลงกระแทก ก็จะทำให้ผิวทางวิ่งชำรุดได้ โดยปกติจะมีการปรับปรุงผิวทางวิ่งเป็นระยะๆ อยู่แล้วในรอบ 3-5 ปี

ลมแรง-เครื่องบินดีเลย์-สนามบินอุบล-04.jpg

การเสริมผิวทางวิ่ง หรือที่เรียกว่าการ Overlay ส่วนมากจะดำเนินการในช่วงโลวซีซั่น หรือหน้าฝน ซึ่งจะดำเนินการแล้วเสร็จก่อนหน้าหนาวจะมา เพราะลมฤดูหนาวจะแรงมาก แต่ปีนี้ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่า ทำไมจึงยังไม่แล้วเสร็จ เป็นผลให้ไม่สามารถใช้งานทางวิ่งได้อย่างสมบูรณ์เต็มที่ จนเกิดเหตุการณ์เครื่องบินต้องยกเลิกเที่ยวบินหรือเลื่อนเที่ยวบินมากมาย แหล่งข่าวกล่าว

ลมแรง-เครื่องบินดีเลย์-สนามบินอุบล-07.jpg