ม.อุบลฯ ร่วมขับเคลื่อนโครงการ พัฒนาเมืองอัจฉริยะ SMART CITY
วันที่ 19 สิงหาคม 2565 รองศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต ถิ่นวงศ์พิทักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรมและบริการวิชาการ/ผู้อำนวยการโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้รับเกียรติจากจังหวัดอุบลราชธานีเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษ หัวข้อ การขับเคลื่อน Smart Agriculture สู่ Smart Economy บทบาทมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีและอุทยานวิทยาศาสตร์ ในการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ ศึกษาแนวทางในการจัดการโรงงานแปรรูปอาหาร (Food Pilot Plant Management) และลงพื้นที่ศึกษาดูงาน ณ โรงงานต้นแบบด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
โครงการดังกล่าว เป็นโครงการภายใต้การดำเนินของจังหวัดอุบลราชธานี โครงการพัฒนาศักยภาพจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อพัฒนาการเป็นเมืองสมาร์ทซิตี้ (SMART CITY) กิจกรรม การเพิ่มศักยภาพการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (SMART CITY) ระยะที่ 2 ครั้งที่ 3 ณ ห้องประชุม 201 อาคารศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งเป็นโครงการภายใต้แผนพัฒนาจังหวัดอุบลราชธานี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 และปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 โดยมี นายสมเพชร สร้อยสระคู รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธาน
นายธนรัตน์ สุภาพันธ์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์และข้อมูลเพื่อการพัฒนาจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวรายงานและวัตถุประสงค์ของการดำเนินการโครงการพัฒนาศักยภาพเมืองอัจฉริยะ หรือ สมาร์ท ซิตี้ สืบเนื่องจากจังหวัดอุบลราชธานีได้สมัคร และได้รับการพิจารณาให้เป็นเขตพัฒนาเมืองอัจฉริยะ โดยในระยะแรกกำหนดประเด็นการพัฒนาด้านพลเมือง ด้านเศรษฐกิจ และด้านการคมนาคมขนส่ง ซึ่งจังหวัดอุบลราชธานีได้ขับเคลื่อนมาแล้ว ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2562
เพื่อให้เกิดการรับรู้และร่วมขับเคลื่อนไปด้วยกันทุกภาคส่วน โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการ ฯ ประกอบด้วย ส่วนราชการ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการในพื้นที่ ได้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกร ผู้นำชุมชน และภาคีเครือข่ายในชุมชนเข้าร่วมการอบรม เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปสู่การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ (สมาร์ทอีโคโนมี่) (smart economy) ต่อไป
นายสมเพชร สร้อยสระคู รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า ตามที่จังหวัดอุบลราชธานี ได้ส่งข้อเสนอการพัฒนาศักยภาพการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (SMART CITY) และได้รับใบประกาศเขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ จากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2562
และเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2565 คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและบริหารโครงการเมืองอัจฉริยะได้พิจารณาข้อเสนอ ให้ข้อเสนอแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะของ SMART CITY อุบลราชธานี เป็นพื้นที่พัฒนาเมืองอัจฉริยะตามที่จังหวัดอุบลราชธานีเสนอ 5 ด้าน ประกอบด้วย ด้านพลเมือง (สมาร์ท พีเพิล) (Smart People) ด้านเศรษฐกิจ (สมาร์ทอีโคโนมี่) (Smart Economy) ด้านการเดินทางและการขนส่ง (สมาร์ทโมบิลลิตี้) (Smart Mobility) ด้านสิ่งแวดล้อม (สมาร์ทเอนไวรอนเม้นท์) (Smart Environment) และด้านการดำรงชีวิต (สมาร์ทลิฟวิง) (Smart Living)
สำหรับกิจกรรม การเพิ่มศักยภาพการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (SMART CITY) ระยะที่ 2 ครั้งที่ 3 ที่จัดขึ้นครั้งนี้ เป็นการสร้างการรับรู้ และการบูรณาการความร่วมมือของทุกพื้นที่ ภายใต้แผนพัฒนาจังหวัดอุบลราชธานี โดยในปี 2563 - 2565 จังหวัดอุบลราชธานีเริ่มขับเคลื่อนกิจกรรมที่สามารถดำเนินการภายใต้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ซึ่งมีหลายอย่างที่ได้ดำเนินการแล้ว เช่น ภาคเอกชน ได้ขับเคลื่อนสมาร์ท บัส และที่สำคัญ คือ โครงการนำร่อง Pilot Plant (ไพเลิท พลานท์) ที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้ดำเนินการเพื่อเป็นโครงการต้นแบบ ที่เรามาศึกษาเรียนรู้ในวันนี้ เป็นต้นแบบสำคัญ ด้านการพัฒนาวิจัย และนวัตกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านต่าง ๆ นำไปสู่การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ (สมาร์ทอีโคโนมี่) (smart economy) ช่วยยกระดับศักยภาพการผลิต เพิ่มมูลค่า ปรับปรุงมาตรฐานให้กับสินค้าและอุตสาหกรรม ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคโดยตรง ซึ่งเป็นรากฐานในการพัฒนาจังหวัด ก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อย่างยั่งยืน องค์ความรู้ดังกล่าวเป็นประเด็นสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้การขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ ชำนาญการ ข่าว/ภาพ โครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ ม.อุบลฯ