ผลงานนวัตกรรม Thailand 4.0 ม.อุบลฯ เข้ารอบชิงชนะเลิศ 2 ใน 10 ทีมทั่วประเทศ
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ขอแสดงความยินดีกับ นักศึกษาทีม FU-EL SKY และทีม Rub-Bit พร้อมด้วยอาจารย์ที่ปรึกษาจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่สร้างชื่อเสียงและโชว์ผลงานในการประกวด โครงการ “GSB Startup University Model” ที่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ 2 ใน 10 ทีมทั่วประเทศ ที่จัดขึ้นโดยธนาคารออมสิน เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs และ SMEs Startup โดยอาศัยความร่วมมือกันระหว่างธนาคารออมสิน มหาวิทยาลัยและนักศึกษา เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการ รวมถึงสนับสนุนและพัฒนาสถาบันการศึกษาให้เป็น “มหาวิทยาลัยแห่งการประกอบการ” ในอนาคต
การประกวดครั้งนี้ เป็นการส่งโครงการของนักศึกษาระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้นจำนวน 50 โครงการ และทางคณะกรรมการได้พิจารณาคัดเลือกเข้ารอบชิงชนะเลิศ จำนวน 10 โครงการ ซึ่ง 2 ใน 10 โครงการ เป็นผลงานของนักศึกษาทีม FU-EL SKY ที่ส่งโครงการ “อากาศยานไร้คนขับหว่านเมล็ดเพื่อการเกษตร” โดยมีสมาชิกในทีม จำนวน 3 คน ประกอบด้วย นางสาวนิศาชล บุญจรัส นายณรงค์ฤทธิ์ อินทนนท์ และนายอิทธิพล มะโนธรรม นักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยมี ดร.สมปอง เวฬุวนาธร อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
สำหรับการจัดทำโครงการ “อากาศยานไร้คนขับหว่านเมล็ดเพื่อการเกษตร” มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาต้นแบบอากาศยานไร้คนขับหว่านปุ๋ยและเมล็ดพันธุ์สมรรถนะสูงสำหรับการเกษตร และเพื่อทดสอบประสิทธิภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ต้นแบบเพื่อการเกษตร เนื่องจากเป็นสินค้าเชิง “นวัตกรรม” ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด Thailand 4.0 มีความเป็นไปได้สูงที่จะเปลี่ยนจากการเกษตรแบบดั้งเดิมในปัจจุบัน ไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ ที่เน้นการบริหารจัดการและเทคโนโลยี (Smart Farming)
โดรน (drone) หรืออากาศยานไร้คนขับเพื่อการเกษตรจัดอยู่ในกลุ่มเครื่องมือ อุปกรณ์อัจฉริยะ และหุ่นยนต์ เป็นกลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมายของนโยบายภาครัฐ ลดความเสี่ยงในการสัมผัสหรือผลกระทบจากสารเคมีที่ใช้ในการเกษตร ลดต้นทุนให้กับเกษตรกร ประหยัดทั้งเวลาและแรงงาน ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น และเป็นเกษตรกรแบบเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneur) เพื่อพัฒนางานด้านการเกษตร
และทีม Rub-Bit ที่ส่งโครงการ “เครื่องผสม Formic Acid แบบอัตโนมัติ” โดยมีสมาชิกในทีม จำนวน 4 คน ประกอบด้วย นายกรวิช แก้วดี นายภาณุพงศ์ นางาม นักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ นางสาวกาญจนา บำเพ็ญ และนายอาณุวรรณ กาลจักร นักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ ภาควิชาเคมี โดยมี ดร.ศันศนีย์ ศรีจันทร์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีการยางและพอลิเมอร์ ภาควิชาเคมี และนายอนุพงษ์ รัฐิรมย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
สำหรับการจัดทำโครงการ “เครื่องผสม Formic Acid แบบอัตโนมัติ” มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบเครื่องผสมกรดฟอร์มิกแบบอัตโนมัติ ในการถ่ายทอดกระบวนการเตรียมกรดฟอร์มิกให้กับวิสาหกิจสวนยางขนาดกลางและขนาดย่อม ให้สามารถเตรียมใช้เองและจำหน่ายได้ และเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับสมาชิกหรือผู้ซื้อสินค้าให้สามารถชำระค่าสินค้าผ่านระบบ QR Code ของธนาคารออมสินได้ และมีการทำงานร่วมกันในหลายภาคส่วน อาทิ ธนาคารออมสิน นักศึกษา คณาจารย์ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งสอดคล้องกับแนวทาง “สานพลังประชารัฐ” ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรชาวสวนยางใช้กรดฟอร์มิกในการจับตัวน้ำยางเพื่อผลิตยางก้อนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการช่วยลดรายจ่ายของเกษตรกร ลดมลพิษจากการตกค้างของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และสหกรณ์มีเงินปันผลเพิ่มขึ้นจากรายได้ในการขายกรดฟอร์มิกและขายยางก้อนถ้วยคุณภาพดี โดยมีสหกรณ์และธนาคารออมสินเป็นคู่ค้าที่ช่วยอุดหนุนเกื้อกูลกันมากยิ่งขึ้น
จากผลงานของนักศึกษาและอาจารย์ที่ปรึกษาทีม FU-EL SKY และทีม Rub-Bit ถือว่าเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และนักศึกษาทั้ง 2 ทีม พร้อมอาจารย์ที่ปรึกษาจะร่วมเดินทางไปจัดนิทรรศการเพื่อแสดงผลงาน และเข้าร่วมการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศในงาน "Smart SMEs Smart START UP 2018" ภายใต้แนวคิด "Idea to Phototype Pitching" ในระหว่างวันที่ 16 -18 พฤศจิกายน 2561 ณ ห้องเพลนารี ฮอลล์ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ เพื่อพิชิตสุดยอดผลงาน Prototype
ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ ม.อุบลฯ ภาพ/ข่าว