ตลาดน้อย ปัญหาใหญ่มิใช่น้อย
ตามที่มีข่าวว่า ตัวแทนพ่อค้าแม่ค้าจากตลาดสดเทศบาล 2 หรือตลาดน้อย กว่า 30 คน เข้ายื่นหนังสือต่อ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาประจำจังหวัดอุบลราชธานี ขอให้หาทางช่วยเหลือพ่อค้าแม่ค้าในตลาดประมาณ 170 ราย เนื่องจากเทศบาลนครอุบลราชธานีได้ส่งคืนพื้นที่ของตลาดให้แก่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ รับคืนไปบริหารจัดการเอง ทำให้พ่อค้าแม่ค้าที่ขายของในตลาดมาหลายรุ่นเกรงว่าจะไม่มีที่ให้ค้าขายเหมือนที่ผ่านมา
สำหรับตลาดสดที่อยู่ในความดูแลของเทศบาลนครอุบลราชธานี มีทั้งสิ้น 6 แห่ง โดยเป็นของเทศบาลนครอุบลฯ 4 แห่ง และตลาดเอกชน 2 แห่ง ดังนี้
ตลาดสดเทศบาล 2 หรือตลาดน้อย
ตลาดสดเทศบาล 3 หรือตลาดใหญ่
ตลาดสดเทศบาล 5 หลังโรงแรมลายทอง
ตลาดสดเทศบาล 6 ข้างโรงแรมปทุมรัตน์
ตลาดเอกชนสิทธิธรรม (หนองบัว)
ตลาดเอกชนใหม่บ้านดู่ (ตลาดทยาประศาสตร์ เดิม)
ส่วนตลาดสดเทศบาล 1 อยู่แถวห้างฯ ยงสงวนเก่า แถวร้านชัยวิตร์เภสัช ถูกยกเลิกไป เนื่องจากชุมชนขยายตัวไปทางเชิงสะพานข้ามแม่น้ำมูล เกิดเป็นตลาดสดเทศบาล 3 หรือตลาดใหญ่ และตลาดสดเทศบาล 4 อยู่ซอยนิโก้เก่า หลังร้านเล็กนมสด ภายหลังตลาดถูกไฟไหม้ จึงยกเลิกไป
ตลาดสดเทศบาล 2 หรือตลาดน้อย เป็นตลาดที่เกิดบนที่ร้างว่างเปล่าของวัดหนองยาง ต่อมาเป็นโรงเรียนอุบลวิทยาคม เริ่มประมาณปี พ.ศ.2501 เทศบาลนครอุบลฯ เช่าที่จากวัดทำเป็นตลาด มีการปรับปรุงเป็นอาคารถาวร 2 ครั้ง คือ ครั้งแรก พ.ศ.2507 และครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ.2549 แล้วเสร็จปี 2553 จากการสำรวจข้อมูลเมื่อเดือนมิถุนายน 2563 ตลาดน้อย มีเนื้อที่ 2 ไร่ 3 งาน 59 ตร.ว. มีจำนวนแผงค้า 303 แผง จำนวนผู้ซื้อ 1,500 คน/วัน
ประมาณกลางเดือนเมษายน 2565 ไกด์อุบลทราบข่าวว่า เทศบาลนครอุบลฯ จะทำเรื่องส่งคืนพื้นที่ตลาดน้อยให้กับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเจ้าของพื้นที่ โดยอ้างว่าไม่สามารถแบกรับภาระที่ค้างจ่ายค่าเช่าที่ตั้งของตลาดมานานกว่า 2 ปี เป็นเงินเกือบ 27,000,000 บาท เพราะมีการปรับขึ้นค่าเช่าในอัตราใหม่ที่แพงกว่าเดิมอีกเกือบเท่าตัว จึงจำเป็นต้องส่งคืนพื้นที่ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาตินำกลับไปบริหารจัดการเองและได้เตรียมตลาดสดเทศบาล 6 ซึ่งห่างจากเดิมประมาณ 1 กม. ไว้รองรับผู้ขายจากตลาดน้อยไว้แล้ว
อย่างไรก็ตาม พ่อค้าแม่ค้าตลาดน้อย ไม่ต้องการย้ายมาขายในที่แห่งใหม่ อ้างว่าขายของอยู่ในตลาดน้อยมานานหลายรุ่น และพื้นที่ตลาดใหม่อาจไม่ได้อยู่ใจกลางเมืองเหมือนในอดีต
ภายหลังเป็นข่าวในโลกโซเชียล บางส่วนให้ความเห็นว่า ตลาดน้อย คือ เศรษฐกิจพื้นฐาน และเป็นเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ ผู้รับผิดชอบต้องหาทางแก้ไข ไม่ใช่ปิดตลาด ในขณะที่สมาชิกสภาเทศบาล (สท.) ท่านหนึ่งให้ข้อมูลว่า พื้นที่ตลาดน้อยเป็นของกรมการศาสนา ซึ่งกรมการศาสนาขึ้นค่าเช่ามากกว่าเดิม หลายเท่า
"อีกทั้งเวลาทำสัญญา เขาไม่ได้ให้เช่าปีต่อปี เหมือนตึกแถวบ้านเรานะครับ ต้องทำสัญญาระยะยาว ใช้เงินภาษีของพี่น้องประชาชนจ่ายล่วงหน้า เป็น 100 ล้าน รวมจ่ายหนี้เก่าด้วย มติสภาฯ เลยลงความเห็นว่า เราขอส่งพื้นที่คืนครับ และเราก็ยังได้เตรียมพื้นที่รองรับคือ ตลาดเทศบาล 6 ไว้รอพ่อค้าแม่ค้า ถ้าหากว่ากรมการศาสนาเขาจะทำประโยชน์อย่างอื่นต่อ ไม่ให้พ่อค้าแม่ค้าเช่าต่อ ตอนนี้ผู้ค้าก็ยังขายในพื้นที่กันอยู่ ไม่มีการเก็บค่าเช่า เทศบาลก็ยังดูแล ค่าน้ำ ค่าไฟ เก็บขยะให้เหมือนเดิม"
ด้านนางณภัค เทียนชัย ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาประจำจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า หลังรับทราบปัญหาจากผู้ค้าขาย สำนักงานฯ จะต้องพูดคุยกับเทศบาลนครอุบลราชธานี จะดำเนินการต่อไปอย่างไร แล้วแจ้งให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติหาวิธีดำเนินการต่อไป ขณะนี้ยังให้พ่อค้าแม่ค้าสามารถขายของไปได้ตามปกติ จนกว่าจะได้ข้อยุติ และดำเนินการตามที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติสั่งการ
เรื่อง ตลาดน้อย กลายเป็นเรื่องใหญ่มิใช่น้อย ทั้งปัญหาผู้ขายบางรายที่ไม่จ่ายค่าเช่าให้เทศบาลนครอุบลฯ ขณะที่เทศบาลนครอุบลฯ ก็ยังค้างค่าเช่ากับกรมการศาสนาอยู่อีกประมาณ 27 ล้าน แถมสัญญาใหม่ยังมีการขึ้นค่าเช่าและต้องจ่ายระยะยาวเป็นเงินก้อนใหญ่อีกนับร้อยล้านบาท เบื้องต้นคงต้องรอความเห็นจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติก่อน ระหว่างนี้ พ่อค้าแม่ขายก็ทำมาหากินกันต่อไป กว่าจะมีความเห็นลงมา อาจใช้เวลาอีกเป็นปีก็ได้ ใครจะรู้