รายได้ท่องเที่ยว จ.อุบลฯ ไม่ติด TOP 5 ภาคอีสาน
วันที่ 2 มกราคม 2566 ข้อมูลจากแฟนเพจ ISAN Insight & Outlook ระบุว่า ในปี พ.ศ.2565 (มกราคม - พฤศจิกายน) ภาคอีสานมีจำนวนนักท่องเที่ยวประมาณ 10 ล้านคน และมีรายได้จากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 49,283 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 192.97% จากปี 2564 (มกราคม - พฤศจิกายน) ที่มีรายได้ 16,822 ล้านบาท โดยรายได้หลักยังคงมาจากคนในประเทศ
สำหรับ 5 จังหวัดภาคอีสาน ที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวสูงสุด ในปี 2565 เมื่อเทียบกับ ปี 2564 ได้แก่
อันดับ 1. นครราชสีมา 8,714 ล้านบาท (4,923 ล้านบาท)
อันดับ 2. ขอนแก่น 8,438 ล้านบาท (2,252 ล้านบาท)
อันดับ 3. อุดรธานี 5,417 ล้านบาท (1,687 ล้านบาท)
อันดับ 4. บุรีรัมย์ 5,311 ล้านบาท (1,237 ล้านบาท)
อันดับ 5. หนองคาย 2,950 ล้านบาท (641 ล้านบาท)
จะเห็นว่า ปี 2565 การท่องเที่ยวในภาคอีสานมีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เนื่องจากรัฐบาลเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศที่แนวโน้มดีขึ้น ทำให้ทุกๆ จังหวัดมีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก
แนวโน้มการท่องเที่ยวไทยหลังจากนี้ ในปี 2566 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยน่าจะมีจำนวนประมาณ 20.0 – 24.0 ล้านคน หรือกลับมาคิดเป็นสัดส่วน 50.0%-60.0% เมื่อเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยในปี 2562 นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคอื่นในภาพรวมน่าจะฟื้นตัวได้ดี แต่ยังต้องใช้เวลากว่าที่จะกลับไปสู่ระดับก่อนการระบาดของโควิด
สำหรับการใช้จ่ายของชาวต่างชาติเที่ยวไทยสู่ธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องในปี 2566 คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 0.84 - 1.01 ล้านล้านบาท โดยค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อทริปยังต่ำกว่าปี 2562 จากหลายปัจจัย ทั้งความต้องการเดินทางท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป ส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวระยะใกล้ กลุ่ม Younger Travelers กลุ่มที่เดินทางแบบ Backpacker และเศรษฐกิจที่ชะลอตัวซึ่งมีผลต่องบประมาณในการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว
ทั้งนี้ ในปี 2566 แม้คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยจะมากขึ้น แต่ยังอยู่ระดับต่ำกว่าก่อนการระบาดของโควิด และการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่ทั่วถึง ด้วยสภาพแวดล้อมของตลาดยังมีปัจจัยท้าทายหลากหลาย โดยเฉพาะปัจจัยความเสี่ยงจากแนวโน้มเศรษฐกิจหลักของโลกอย่างในสหรัฐฯและยุโรปหลายประเทศเข้าสู่ภาวะถดถอย ความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของรายได้และการมีงานทำ สถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นในเอเชียตะวันออก รวมถึงปัญหาค่าครองชีพที่ยังทรงตัวสูง ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวยังคงต้องมีแผนการบริหารความเสี่ยงรองรับเพื่อให้เท่าทันสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงและไม่กระทบสภาพคล่องของธุรกิจ อาทิ แผนรองรับการเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกการเดินทางของนักท่องเที่ยว การลงทุนโครงการใหม่ที่ยังคงต้องระมัดระวัง การเจาะตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติหลากหลายมากขึ้นเพื่อกระจายความเสี่ยง รวมถึงการศึกษาทิศทางเทรนด์ของตลาดเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยว ท้ายสุดมาตรฐานความปลอดภัยและคุณภาพการให้บริการยังเป็นสิ่งจำเป็น
อ้างอิงจาก:
กองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
https://www.mots.go.th/news/category/657
https://www.kasikornresearch.com/.../Tourist-2023-z3370.aspx