อุบลโมเดล ติวเข้มเกษตรกร รู้ดิน รู้ปุ๋ย เพาะปลูกยั่งยืน ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต
วันที่ 11 พฤษภาคม 2560 อุบลโมเดลรับขวัญชาวไร่มัน จัดงานมหกรรมตรวจวิเคราะห์ดิน ปี 2560 เปิดคลินิกหมอดิน หมอปุ๋ย หมอมัน “ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต” เพื่อเตรียมความพร้อมให้เกษตรกรก่อนเริ่มฤดูกาลเพาะปลูก เพื่อการปลูกพืชอย่างมีประสิทธิภาพ
น.ส.เบญจพร ชาครานนท์ รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เป็นประธานเปิดงาน มหกรรมตรวจ วิเคราะห์ดิน ปี 60 ซึ่งเป็นกิจกรรมต่อเนื่องของโครงการ พัฒนาการส่งเสริมการเกษตรการปลูกมันสำปะหลัง หรือโครงการอุบลโมเดลประจำปี 2560/61 จัดโดยกลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล ร่วมกับ กรมพัฒนาที่ดิน และกรมวิชาการเกษตร รวมพลวิทยากรหมอดิน หมอปุ๋ย หมอมัน อบรมติวเข้มวิชา “รู้ดิน รู้ปุ๋ย เพาะปลูกพืชยั่งยืน” ก่อนเริ่มฤดูกาลเพาะปลูกให้กับกลุ่มเกษตรกรปลูกมันสำปะหลังกว่า 300 ราย นำร่องชาวอำเภอนาเยีย จังหวัดอุบลราชธานี ณ โรงแป้งมันอุบลเกษตรพลังงาน
การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เริ่มต้นจากเกษตรกรเก็บดินแปลงมันสำปะหลังของตนเองมาส่งวิเคราะห์ เพื่อตรวจผลธาตุอาหาร และเรียนรู้วิธีการเพิ่มผลผลิต โดยมีฐานการเรียนรู้ 5 ฐาน ซึ่งเกษตรกรจะได้เรียนรู้เรื่องการจัดการดิน การเก็บดินที่ถูกต้อง การตรวจวิเคราะห์ดินอย่างง่าย เรียนรู้การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ได้เรียนรู้ชนิดปุ๋ย สูตรปุ๋ยและอัตราการใช้ที่เหมาะสมกับชนิดพืช รวมทั้งการจัดการปุ๋ย/ธาตุอาหารในดินที่สอดคล้องกับลักษณะดิน ในเวลาที่เหมาะสมกับระยะการเจริญเติงโตของพืช เรียนรู้เรื่องพันธุ์ เทคโนโลยีการผลิต การอารักขาพืช
นอกจากเรื่องดิน ปุ๋ย แล้ว เกษตรกรยังได้เรียนรู้เรื่องพันธุ์มันสำปะหลังที่ได้มาตรฐานโรงงาน ให้ผลตอบแทนสูง และเปิดโอกาสให้เกษตรกรปรึกษาปัญหาโรคแมลง และการสนับสนุนปัจจัยการปรับปรุงดิน
รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า “การปลูกมันสำปะหลัง เป็นพืชที่ทนแล้ง ขึ้นง่าย ที่ส่วนใหญ่มองว่าปลูกง่าย ปลูกทิ้งก็โตได้ นั้นอาจเป็นเรื่องปากต่อปาก แต่หากมองกว้างและไกลกว่านั้น การใส่ใจในเรื่องดินเป็นสิ่งสำคัญ งานวันนี้ เป็นการรวมพลังการพัฒนาการเกษตรยุคใหม่ ให้เกษตรกรเข้าใจถึงความสำคัญของดินที่เป็นแหล่งผลิต แหล่งอาหารพืช ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการเลือกปลูกพืชที่เหมาะสม การจัดการต้นทุนต่ำ ปฏิบัติได้ง่าย และให้ผลตอบแทนสูง หลังการเก็บเกี่ยวก่อนเริ่มฤดูกาลเพาะปลูกใหม่ ขอแนะนำให้เกษตรกรเก็บดินมาตรวจวิเคราะห์ธาตุอาหารในดิน โดยใช้ชุดตรวจสอบดินสนาม (Ldd Test kit) ของพัฒนาที่ดินที่ใช้งานง่าย รู้ผลเร็ว
นายอัธยะ พินจงสกุลดิษฐ รักษาการผู้เชี่ยวชาญ ด้านวินิจฉัยคุณภาพและกำลังผลิตพืช กรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า “การปลูกมันสำปะหลังนั้น เกษตรกรควรมีความรู้พื้นฐานว่า ช่วงเวลาใดควรปลูก ช่วงเวลาใดควรจัดการอย่างไร การรู้จักลักษณะและสมบัติของดินในแปลงของตนเอง จะทำให้เกษตรกรวางแผนการปลูกมันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทั้งนี้ กรมพัฒนาที่ดิน ได้มีจัดทำแผนที่ดินและพัฒนาเป็นแอพพลิเคชัน LDD soil guide เพื่อให้เกษตรกรได้รู้ถึงชุดดินในแปลงของตัวเอง ซึ่งส่วนใหญ่ดินในจังหวัดอุบลราชธานี จะเป็นชุดดินที่มีสมบัติเป็นดินร่วนปนทราย ดังนั้น จึงต้องใส่ใจเรื่องการปรับปรุงบำรุงดินด้วยอินทรียวัตถุ จากนั้น จึงเก็บดินมาตรวจด้วยการวิเคราะห์ดิน เพื่อให้ทราบปริมาณธาตุอาหารพืชในดิน คือ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม ว่ามีมากน้อยเพียงใด เมื่อทราบแล้วจะนำไปสู่การใส่ปุ๋ยถูกต้องเหมาะสมได้ ”
นายสุกิจ รัตนศรีวงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการผลิตพืชที่เหมาะสม ของพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง กรมวิชาการเกษตร เผยว่า... “ปุ๋ย คืออาหารของพืช เหมือนคนกินมากอ้วนมากและไม่มีประโยชน์ กินไม่ถูกหลักโภชนาการจะส่งผลทำให้ไม่แข็งแรง ประสิทธิภาพไม่ดี การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน เรารู้ดิน รู้ว่าจะปลูกพืชอะไร จะช่วยลดต้นทุนการผลิตลงได้ไม่น้อยกว่าไร่ละ 300 บาท
นายเดชพนต์ เลิศสุวรรณโรจน์ ผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล กล่าวว่า “ครั้งนี้ เรามุ่งเน้นให้เกษตรกรเรียนเสริม เรียนเพิ่ม โดยเน้นย้ำเรื่องการลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิตตามหลักการของกรมพัฒนาที่ดิน และกรมวิชาการเกษตร อย่างในโมเดลปุ๋ย ตามค่าวิเคราะห์ดิน มีเกษตรกรต้นแบบที่เข้าร่วมอบรมและนำไปปรับใช้จนสามารถทำได้ 8 ตันต่อไร่ ลดต้นทุนที่ไร่ละมากกว่า 1,000 บาท เมื่อเกษตรกรรู้ต้นทางของการเพาะปลูก เกษตรกรจะเริ่มมีโมเดลความคิดในการจัดการแปลงที่ดี มีโมเดลทางสังคมที่ช่วยกันขยายผลไปโดยอัตโนมัติ จนการทำการเกษตรแบบมืออาชีพจริงๆ”
ดังนั้น การทำการเกษตรทุกรูปแบบ หากมีการเริ่มต้นที่ดี ที่ตัวเรา เริ่มต้นที่แปลงคือ รู้จักดิน รู้จักพืช การเพาะปลูกที่ยั่งยืนทั้งรายได้ และเศรษฐกิจ จะทำให้เกษตรกรไทยไปสู่ชีวิตที่ “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”
กัณฑ์พร กรรณสูต ฝ่ายสื่อสารองค์กร
กลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล