โอชิเนจับมือ ม.ราชภัฏอุบลฯ เปิด ป.ตรี ผลิตบัณฑิตรองรับการเติบโต
“เรามีแผนจะนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ในอนาคต ดังนั้น การเตรียมคนรองรับการเติบโตต้องทำตั้งแต่วันนี้ ไม่ใช่เพียงเพื่อบริษัทแต่อย่างเดียว แต่หมายถึงการให้โอกาสกับน้อง ๆ ในท้องถิ่นของเราให้มีสมรรถนะในการทำงาน มีประสบการณ์จริง และทำงานได้ทันทีอีกด้วย” คุณกิตติศักดิ์ ลีล้อม หรือ เชฟหนุ่ม แห่งโอชิเน ให้สัมภาษณ์
เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2565 คุณวราพร ภาคโพธิ์ (ภรรยาเชฟบุญธรรม กระทะเหล็ก) กรรมการผู้จัดการบริษัท โอชิเน เอ็นเตอร์ไพร์ส จำกัด เจ้าของภัตตาคารอาหารญี่ปุ่นโอชิเน และคุณกิตติศักดิ์ ลีล้อม หรือ เชฟหนุ่ม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไดกิ ฟู้ด จำกัด บริษัทในเครือที่ทำหน้าที่จัดหาและจำหน่ายวัตถุดิบอาหารญี่ปุ่น ป้อนภัตตาคารอาหารญี่ปุ่นหลายแห่งทั่วประเทศ ทำความร่วมมือครั้งสำคัญกับมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ในการร่วมกันจัดการเรียนการสอนระดับปริญญาตรี หลักสูตร วท.บ.การจัดการอุตสาหกรรมและนวัตกรรม ซึ่งเป็นหลักสูตรใหม่ที่จะเปิดสอนในปีการศึกษา 2565 นี้
คุณกิตติศักดิ์ ลีล้อม หรือ เชฟหนุ่ม กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของความร่วมมือครั้งนี้ ว่าเกิดจากการที่ภัตตาคารโอชิเนมีการเติบโตและขยายสาขาเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ ต้องการบุคลากรที่มีความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ในงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีอยู่น้อยและหาได้ยาก รวมทั้งบริษัท ไดกิ ฟู้ด เองที่เป็นบริษัทในเครือที่จัดหาวัตถุดิบอาหารญี่ปุ่นจากต่างประเทศ แล้วมากระจายให้โอชิเนสาขาต่าง ๆ ของเรา งานของเรามีตั้งแต่การคัดเลือกและประเมินซัพพลายเออร์ นำเข้า จัดการคลังสินค้า รักษาคุณภาพ กระจายสินค้า จัดเก็บ ชี้บ่งและจัดการความเสี่ยงด้านความปลอดภัยในอาหาร จัดการสาขา รวมถึงรักษามาตรฐานในการทำงานเมื่อมีสาขาต่าง ๆ มากขึ้น งานทั้งหมดเป็นงานใหญ่และจำเป็นต้องมีองค์ความรู้แบบองค์รวม กว่าเราจะพัฒนาคนได้เองก็ใช้เวลานาน หากรับคนนอกมา ก็รู้งานไม่ครอบคลุม และต้องมาใช้เวลาเรียนรู้งานอีกนาน
ต่อมาทราบว่าทางมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี กำลังพัฒนาหลักสูตรแบบใหม่ เป็นหลักสูตรนำร่องแบบที่เรียกว่า “CWIE หรือ ซีวี่” ตามนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา ฯ จึงได้หารือเรื่องดังกล่าว
เชฟหนุ่ม กล่าวต่อว่า “โอชิเน และไดกิ ฟู้ด มีหลายอย่างที่เกี่ยวพันกับจังหวัดอุบล ฯ ทั้งผู้บริหารที่เป็นคนอุบล ฯ (เชฟบุญธรรม คุณวราพร เชฟหนุ่ม เชฟฮอนด้า ฯลฯ) โอชิเนสาขาแรกที่เมื่อเกือบ 8 ปีก่อนเริ่มต้นที่อุบล ฯ และบุคลากรของบริษัทอีกหลายสิบชีวิตที่เป็นคนบ้านเรา ดังนั้น การตัดสินใจครั้งนี้ จึงเป็นการตอบแทนสังคมอุบล ฯ โดยการพัฒนาลูกหลานคนอุบล ฯ ให้มีทักษะและประสบการณ์ที่จะเป็นประโยชน์ต่อไปในชีวิต ถือเป็นอุดมการณ์หนึ่งของโอชิเนในความรับผิดชอบต่อสังคมและมีส่วนในการพัฒนาสังคม ประกอบกับ ม.ราชภัฏอุบล ฯ นั้น มีภาพลักษณ์ของการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ติดดิน บัณฑิตของราชภัฏมีภาพลักษณ์ในการสู้งานและซื่อสัตย์ตามที่บริษัทต้องการ”
ด้าน อ.เชษฐ์ ศรีไมตรี รองอธิการบดี ม.ราชภัฏอุบลฯ กล่าวว่า หลักสูตร CWIE ย่อมาจาก “Cooperative and Work Integrated Education” หรือ “หลักสูตรแบบสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน” เป็นหลักสูตรในลักษณะร่วมผลิตระหว่างมหาวิทยาลัยกับสถานประกอบการ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บัณฑิตพร้อมสู่โลกการทำงานจริงได้ทันที มีสมรรถนะตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน สามารถพัฒนาอาชีพในปัจจุบันและเตรียมพร้อมรองรับตำแหน่งงานในอนาคต โดยใช้การจัดการเรียนการสอนทั้งในมหาวิทยาลัยและในสถานประกอบการเพื่อพัฒนาประสบการณ์และเตรียมความพร้อมให้กับบัณฑิต
เมื่อ ม.ราชภัฏอุบล ฯ ตกลงจัดทำหลักสูตรกับโอชิเน พร้อมกับบริษัทอื่นอีกสองแห่งแล้ว จะเริ่มต้นเอาตำแหน่งงานที่บริษัทต้องการในระดับปริญญาตรี มากำหนดคุณลักษณะ ผลลัพธ์ และสมรรถนะของตำแหน่งงานนั้น ๆ เพื่อออกแบบเนื้อหาและวิธีการจัดการเรียนการสอนร่วมกัน โดยมีกิจกรรมสำคัญคือต้องให้นักศึกษาได้มีโอกาสฝึกและทำงานจริง ในตำแหน่งงานนั้นในบริษัทให้มากที่สุด บริษัทต้องเป็นทั้งผู้ร่วมกำหนดผลลัพธ์ของหลักสูตร เป็นสถานที่ฝึกสถานที่จัดการเรียนการสอน ร่วมเป็นผู้สอน ผู้ช่วยสอน พี่เลี้ยง ผู้ประเมินผล และผู้ใช้บัณฑิต เรียกว่าเกี่ยวข้องทุกขั้นตอนเลยทีเดียว
หลักสูตร วท.บ. การจัดการอุตสาหกรรมและนวัตกรรม หลักสูตรใหม่แบบ CWIE พ.ศ. 2565 ที่ทำงานได้หลากหลายตำแหน่งงานในภาคอุตสาหกรรม อาทิ ผู้จัดการโรงงาน ผู้จัดการสาขาธุรกิจค้าส่ง-ค้าปลีก ผู้จัดการสาขาธุรกิจภัตตาคารและฟาสต์ฟู้ด เจ้าหน้าที่/หัวหน้าฝ่ายผลิต เจ้าหน้าที่/หัวหน้าฝ่ายควบคุมและประกันคุณภาพ เจ้าหน้าที่/หัวหน้าฝ่ายจัดซื้อ ฝ่ายคลังสินค้า และฝ่ายโลจิสติกส์ เจ้าหน้าที่/หัวหน้าฝ่ายเพิ่มผลผลิตและส่งเสริมนวัตกรรม เจ้าหน้าที่/ผู้ดูแลระบบมาตรฐานคุณภาพ ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม เจ้าหน้าที่/หัวหน้าฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ นักวิเคราะห์ข้อมูลฝ่ายวิศวกรรมอุตสาหการ หรือฝ่ายวางแผนและควบคุมการผลิต นักออกแบบกระบวนการผลิตและบริการ นักพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมและนวัตกรรม หรือแม้กระทั่งผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม
และที่สำคัญคือ มีการกำหนดสมรรถนะของนักศึกษาแต่ละชั้นปีว่า เมื่อจบแต่ละปีการศึกษา จะมีสมรรถนะทำงานในตำแหน่งงานระดับใด มีการจัดเนื้อหาและทักษะ รวมทั้งการฝึกงานในตำแหน่งที่ตรงกับสมรรถนะแต่ละชั้นปี ซึ่งเมื่อเรียนจบปีที่ 1 จะมีสมรรถนะในตำแหน่ง “พนักงาน” ในอุตสาหกรรม ปีที่ 2 จะมีสมรรถนะในตำแหน่ง “เจ้าหน้าที่ฝ่ายต่าง ๆ” ปีที่ 3 มีสมรรถนะในตำแหน่ง “หัวหน้างานระดับต้น” และปีที่ 4 ปีสุดท้าย จะมีสมรรถนะเป็น “หัวหน้างานระดับกลาง ผู้จัดการสาขา หรือเป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรม” ได้เลยทีเดียว
สำหรับการเรียนนั้น จะเป็นการเรียนสลับกับการทำงานในสถานที่จริงตลอดระยะ 3 ปีแรก หรือที่เรียกว่าเรียนแบบแซนด์วิช เรียนในมหาวิทยาลัยแล้วสลับเข้าบริษัทไปลองทำ จนถึงชั้นปีที่ 4 ที่จะต้องออกไปทำงานในบริษัททั้งปีการศึกษา (สองเทอม) ซึ่งเราก็จะพยายามกระจายน้อง ๆ ไปสาขาต่าง ๆ ทั่วประเทศ หรือกล่าวว่าเรียน 3 ปี ในมหาวิทยาลัย แล้วปีสุดท้ายออกทำงานจริงก็ได้ รวม ๆ แล้วมีเวลาออกฝึกทั้งหมดในหลักสูตรกว่า 60 สัปดาห์ (เกือบ 2 ปีการศึกษา) ซึ่งแบบนี้จะทำให้เมื่อเรียนจบ น้อง ๆ สามารถทำงานได้ทันที และทำงานได้ตรงตามความต้องการของบริษัท
นอกจากความร่วมมือของบริษัท โอชิเน เอ็นเตอร์ไพร์ส และบริษัท ไดกิ ฟู้ด ในอุตสาหกรรมอาหารและบริการแล้ว ยังมีบริษัท นีนโมเดิร์น ในอุตสาหกรรมค้าส่ง-ค้าปลีก และ หจก.เพชรเรือนทอง 2012 ในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ร่วมทำความร่วมมือในครั้งนี้ด้วย
หลักสูตร วท.บ. การจัดการอุตสาหกรรมและนวัตกรรม คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ม.ราชภัฏอุบล ฯ นี้ กำหนดเปิดสอนในปีการศึกษา 2565 เป็นรุ่นแรกในภาคปกติ ซึ่งขณะนี้อยู่ในห้วงของการรับสมัครนักศึกษา โดยมหาวิทยาลัยกำหนดเปิดรับรอบต่อไประหว่างวันที่ 2 - 10 พฤษภาคม นี้ ทางระบบ mytcas.com สนใจติดตามข้อมูลได้ที่ https://admission.ubru.ac.th/ และเฟสบุ๊กเพจ “การจัดการอุตสาหกรรมและนวัตกรรม UBRU” โทร. 0 4535 2000