สาวภูฏาน สานฝันสวมชุดขาว คว้าทุนมาเรียนพยาบาลที่ ม.ราชภัฏอุบลฯ
“วันที่ 12 พฤษภาคมของทุกปี” ถูกกำหนดให้เป็น “วันพยาบาลสากล” (International Nurses Day) และยังเป็นวันเกิดของ มิสฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ผู้ก่อกำเนิดวิชาชีพการพยาบาล และเป็นปฐมบูรพาจารย์วิชาการพยาบาลของโลก โดยสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยฯ เข้าเป็นองค์กรสมาชิกของสภาพยาบาลระหว่างประเทศ เมื่อ พ.ศ.2504 (ค.ศ.1961) และเริ่มจัดกิจกรรมวันพยาบาลสากลมาโดยตลอด
“ไอวี่” หรือ “Miss Pema Yangzom” สาวน้อยจากประเทศภูฏาน เดินทางไกลจากถิ่นฐานบ้านเกิดมาเรียนที่ประเทศไทย เพื่อทำความฝันให้เป็นจริง เธอเห็นว่าอาชีพพยาบาลเป็นอาชีพที่ดี มีความมั่นคง และอาชีพพยาบาลได้ดูแลช่วยเหลือผู้บาดเจ็บล้มป่วย รวมทั้งสามารถนำอาชีพนี้มาดูแลตนเองและครอบครัวได้
สำนักงานเลขาธิการแห่งกษัตริย์ภูฏาน เล็งเห็นว่าการพยาบาลศาสตร์ เป็นอีกหนึ่งการศึกษาที่คนภูฏานยังขาดแคลน และประเทศไทยก็เป็นประเทศที่พัฒนาด้านการสาธารณสุขมาโดยตลอด จึงสนับสนุนนักเรียนที่เรียนดี โดยการให้ทุนมาเรียนที่ประเทศไทย ซึ่ง “ไอวี่” ก็เป็นหนึ่งในนักเรียนที่ได้รับการคัดเลือกรับทุนพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ภูฏาน จนได้มาเรียนที่คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี
“ไอวี่” เข้าเรียนที่คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ในปี 2564 ซึ่งนักศึกษาต่างชาติที่เข้ามาเรียนที่มหาวิทยาลัย จะได้เรียนคอร์สพิเศษหลักสูตรภาษาไทยระยะสั้น เป็นเวลา 3 เดือน เพื่อให้สามารถสื่อสาร เรียนรู้ และใช้ชีวิตประจำวันได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ปัจจุบัน “ไอวี่” เรียนอยู่ชั้นปีที่ 2 สามารถพูด ฟัง และสื่อสารกับอาจารย์และเพื่อน ๆ ได้เป็นอย่างดี และกำลังฝึกการเขียนภาษาไทย
“ไอวี่” เป็นเด็กที่มีความตั้งใจสูง มีความมุ่งมั่นใส่ใจการเรียนมาก รวมถึงการขึ้นวอร์ด ซึ่งเป็นหนึ่งในการเรียนการสอนวิชาการพยาบาล ช่วงแรก ๆ ที่จะต้องสื่อสารกับผู้ป่วย จะมีอาจารย์ พยาบาล และเพื่อน ๆ ที่เป็นคนไทยให้ความช่วยเหลือ เธอบอกว่า การขึ้นวอร์ดทำให้ได้เรียนรู้การพยาบาลผู้ป่วย ได้ลงมือปฏิบัติจริงในการทำหัตถการทุกอย่าง สามารถฟังอาการต่าง ๆ ที่ผู้ป่วยพูดเป็นภาษาไทยได้เข้าใจเป็นอย่างดี ซึ่ง “ไอวี่” พูดภาษาไทยกับผู้ป่วยได้อย่างน่ารักมาก ๆ ญาติผู้ป่วย และพี่ ๆ พยาบาลที่โรงพยาบาลเอ็นดู “ไอวี่” มาก ๆ เลย
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี มีความภาคภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่เป็นแหล่งผลิตบัณฑิตทางการพยาบาลที่มีสมรรถนะตามกรอบมาตรฐานวิชาชีพ ภายใต้การกำกับดูแลของสภาการพยาบาลแห่งประเทศไทย เป็นบัณฑิตที่มีคุณธรรม นำองค์ความรู้บูรณาการกับชุมชนท้องถิ่นสร้างนวัตกรรมด้านสุขภาพ และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
ซึ่งในอีก 2 ปี ข้างหน้า หากทุกอย่างเป็นไปตามที่วาดไว้ เราคงได้เห็นสาวน้อยชาวภูฏานที่มีชื่อว่า “ไอวี่” ผู้ที่มีความมุ่งมั่นในสิ่งที่รักที่จะทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น ในวันที่สวมชุดพยาบาลสีขาวสะอาดตา ทำหน้าที่ตามวิชาชีพ “พยาบาล” ดังที่ฝันไว้ได้อย่างภาคภูมิ