guideubon

 

UBU Co-working Space แหล่งสร้างไอเดีย พื้นที่ความคิดแห่งใหม่

Co-working-Space-UBU-01.jpg

วันที่ 25 กันยายน 2561 รองศาสตราจารย์ ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน “Grand opening UBU Co-working Space” ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณดำเนินงานจาก สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ณ ชั้น 2 อาคารข้อมูลท้องถิ่น หอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยมี นายเธียรชัย พุทธรังสี รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวให้การต้อนรับ 

Co-working-Space-UBU-06.jpg

รองศาสตราจารย์ ดร.อริยาภรณ์ พงษ์รัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวรายงานและวัตถุประสงค์การจัดงานครั้งนี้ว่า เพื่อเป็นสถานที่ในการสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และมุ่งหวังให้เป็นพื้นที่เปิดสำหรับนักศึกษา นักวิจัย คณาจารย์ และบุคคลทั่วไปที่สนใจจะเริ่มต้นธุรกิจใหม่สามารถใช้ประโยชน์ในพื้นที่ร่วมกัน ในการพัฒนาแนวคิดธุรกิจพัฒนาผลิตภัณฑ์ เป็นสถานที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวคิดในการเริ่มต้นธุรกิจการประชุม การอบรม ตลอดจนการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่จะเป็นการเสริมสร้างระบบนิเวศน์ (Ecosystem) ของการสร้างนักธุรกิจพันธุ์ใหม่ที่จะเป็นผู้สร้างเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี และพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือต่อไป

Co-working-Space-UBU-04.jpg

รองศาสตราจารย์ ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า อย่างที่ทุกท่านทราบดีว่า รัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายไว้ว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว หลุดจากกับดักรายได้ปานกลางในปี 2580 หรือในอีก 20 ปี การจะหลุดจากกับดักได้หมายความว่า รายได้ต่อหัวจะต้องมากกว่า 15,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคนต่อปีหรือประมาณ 42,000.- บาทต่อเดือน ในขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำของเรา(จังหวัดอุบลฯ) อยู่ที่วันละ 320.- บาท ปริญญาตรีจบใหม่เงินเดือน 15,000.- บาท รัฐบาลจึงคิดโมเดล Thailand 4.0 เพื่อเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนประเทศโดยให้ก้าวพ้นกับดับรายได้ปานกลาง

Co-working-Space-UBU-07.jpg

Thailand 4.0 มียุทธศาสตร์หลายด้าน แต่ด้านหนึ่งที่เป็น Flagship คือการส่งเสริมผู้ประกอบการที่มีอยู่ให้เข้มแข็งมากขึ้น ควบคู่ไปกับการสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ Start-up สำหรับการสร้าง Start-up ให้รอดไม่ใช่เรื่องงาย รัฐบาลโดยสำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างธุรกิจบนฐานนวัตกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ SME และ Start-up จึงสนับสนุนการจัดตั้ง Co-working Space ให้เป็น Platform สำหรับภาคเอกชน ภาคการเงินการธนาคาร ภาคประชาชน ภาคสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยต่างๆ ได้มีพื้นที่มาพบปะแลกเปลี่ยนแรงบันดาลใจ และร่วมงานกันเพื่อรังสรรค์นวัตกรรมในอนาคต

Co-working-Space-UBU-02.jpg

รองศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต ถิ่นวงศ์พิทักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพันธกิจสังคม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และผู้อำนวยการโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เผยว่า ปัจจุบัน Co-working Space ทั่วโลกปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 17,000 แห่ง มีทั้งที่ Operate โดยภาคเอกชนและภาครัฐบาล มีทั้งสำเร็จและไม่สำเร็จ สำหรับ Co-working Space เป็นวัฒนธรรมการทำงานรูปแบบใหม่ที่กำลังเติบโตอยู่ในขณะนี้ และมีความจำเป็นอย่างยิ่งในสังคมปัจจุบัน

Co-working-Space-UBU-03.jpg

นับว่าเป็นความโชคดีของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่ทางสำนักปลัดประทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้เล็งเห็นถึงศักยภาพ ความพร้อม และความตั้งใจของทางมหาวิทยาลัย จึงได้ให้การสนับสนุนงบประมาณก่อสร้าง Co-working Space ขึ้น และด้วยความคาดหวังว่าสถานที่แห่งนี้จะกลายเป็นระบบนิเวศน์ (Ecosystem) ที่เอื้อต่อการสร้างหรือต่อยอดของธุรกิจ อันจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การสร้างนวัตกรรม ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีและพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้เกิดความสำเร็จทางธุรกิจต่อไป


ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ ม.อุบลฯ ภาพ/ข่าว