บัณฑิตพันธุ์ใหม่ หลักสูตรแรกของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ห้อง SEC201 ศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ศาสตราจารย์ ดร.ศิริพร จึงสุทธิวงษ์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ เป็นประธานในพิธีปิดและมอบประกาศนียบัตรแก่ผู้เข้าร่วมโครงการจัดการหลักสูตรประเภทประกาศนียบัตร (Non-degree) หลักสูตรวิทยาการข้อมูลและอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่งเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัล รุ่นที่ 1 โดยมี คณะผู้บริหาร อาจารย์ผู้สอน และเจ้าหน้าที่ประจำคณะวิทยาศาสตร์ ร่วมเป็นเกียรติในพิธี
ดร.วิชิต สมบัติ ประธานฝ่ายวิชาการหลักสูตรฯ กล่าวรายงานสรุปผลการดำเนินงานโครงการหลักสูตรวิทยาการข้อมูลและอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่งเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งเป็นหลักสูตรแรกของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และเป็น 1 ใน 30 หลักสูตร ที่ผ่านแบบไม่มีเงื่อนไขในการพิจารณารอบแรกจาก 127 หลักสูตรของ 63 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ
ดร.วิชิต สมบัติ ประธานฝ่ายวิชาการหลักสูตรฯ กล่าวว่า ในช่วงเดือนสิงหาคม 2565 ทางคณะทำงานได้สอบสัมภาษณ์เพื่อคัดเลือกผู้เข้าอบรมจำนวน 41 คน จากผู้สมัครทั้งหมด 57 คน จาก 50 หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน และเริ่มเปิดการอบรมสมรรถนะระดับต้นช่วงปลายเดือนกันยายน โดยเริ่มการอบรมสมรรถนะระดับกลาง ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2565 รวมเป็น 200 ชั่วโมง และเพื่อให้ผู้เข้าอบรมสามารถนำสมรรถนะในหลักสูตรไปปรับใช้ในหน่วยงานได้จริง
คณะกรรมการวิชาการฯ ได้แบ่งกลุ่มให้คำปรึกษาโครงงานตามเป้าหมายของหน่วยงานในการอบรมสมรรถนะระดับสูง เริ่มพัฒนาโครงงานในช่วงเดือนธันวาคม 2565 และสิ้นสุดต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2566 จากนั้น ได้รวบรวมผลสัมฤทธิ์ในการทำโครงงานเพื่อนำเสนอในพิธีปิดในวันนี้ ในรูปแบบวีดีทัศน์ 5 โครงงาน รูปแบบออนไลน์ 6 โครงงาน และรูปแบบออนไซต์ 5 โครงงาน
จากนั้น ทางคณะกรรมการวิชาการได้ร่วมกันพิจารณาผลสัมฤทธิ์ของการอบรมหลักสูตร รุ่นที่ 1 ผลปรากฏว่ามีผู้ผ่านได้รับเกียรติบัตรสำเร็จหลักสูตร จำนวน 31 คน และผ่านการอบรม จำนวน 10 คน และเพื่อเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และยุทธศาสตร์ที่ 5 ที่มุ่งเน้นการพัฒนากําลังคนให้พร้อมเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล สร้างคน สร้างงาน สร้างความเข้มแข็งจากภายใน เพื่อให้บุคลากรในวิชาชีพด้านดิจิทัลมีคุณภาพและปริมาณที่เพียงพอ ในสาขาที่ขาดแคลน มีความสําคัญต่อการสร้างนวัตกรรมดิจิทัล ก่อให้เกิดการจ้างงานแบบใหม่ อาชีพใหม่ และธุรกิจใหม่ จากการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งประเทศไทยยังมีความขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถสูง เพื่อตอบสนองภาคอุตสาหกรรมได้อย่างเพียงพอในอนาคตต่อไป
ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ ชำนาญการ ม.อุบลฯ ภาพ/ข่าว