guideubon

 

 

ม.อุบลฯ หนุนเมืองอุบลฯ สู่ “เมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรีของ UNESCO”

เมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรี-01.jpg

วันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมกิจกรรมสร้างการรับรู้และรับฟังความคิดเห็นกลุ่มใหญ่ระดับจังหวัด เมืองอุบลราชธานี ภายใต้กิจกรรม “การศึกษาศักยภาพและความเหมาะสมของเมืองที่สามารถพัฒนาสู่การเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของ UNESCO” ณ ห้องประชุมพิมานทิพย์ อาคารศูนย์ศิลปวัฒนธรรมกาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี โดยมี นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธาน

เมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรี-02.jpg

และในส่วนของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นำทีมโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต ถิ่นวงศ์พิทักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรมและบริการวิชาการ นักวิจัยโครงการการจัดการทุนทางวัฒนธรรมเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี (ฟื้นใจเมืองเขมราฐเฟสสาม) พร้อมด้วย นายกเทศมนตรีตำบลเขมราฐ ตัวแทน องค์การบริหารส่วนตำบลเจียด ชมรมรัก(ษ์)วัฒนธรรมและการท่องเที่ยวอำเภอเขมราฐ ชมรมศิลปวัฒนธรรมคนสามวัยใส่ใจสุขภาพ และชมรมอนุรักษ์ต้นตำรับรำตังหวาย ในฐานะภาคีเครือข่ายผลักดันเมืองอุบลราชธานีสู่ “เมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรีของ UNESCO” เข้าร่วมกิจกรรมนี้ จัดโดย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องวัฒนธรรมสร้างสรรค์ด้านต่างๆ ของเมือง การรับฟังความคิดเห็นและร่วมกันจัดทำ inventory ด้านวัฒนธรรม และแผนที่วัฒนธรรมของเมือง ที่จะนำไปสู่การวางกรอบการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

เมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรี-03.jpg

การจัดกิจกรรมครั้งนี้ กำหนดให้มีการแสดงดนตรี การแสดงรำตังหวาย โดยกลุ่มอนุรักษ์ต้นตำรับรำตังหวาย ตำบลเจียด อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี การแสดงหมอลำโดย นายฉลาด ส่งเสริม (ป.ฉลาดน้อย) ศิลปินแห่งชาติ และบรรเลงพิณโดย นายทองใส ทับถนน เพื่อผลักดันอุบลราชธานีสู่เมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรีต่อไป

รองศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต ถิ่นวงศ์พิทักษ์ เสนอความเห็นว่า ปัจจุบันเมืองอุบลราชธานีมีความพร้อมเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรี มีต้นทุนในพื้นที่ที่ดี ทั้งศิลปินแห่งชาติด้านดนตรีมากที่สุดในประเทศถึง 7 ท่านด้วยกัน และยังมีประวัติศาสตร์ด้านดนตรีอย่างยาวนาน มีระบบนิเวศน์สี่กลุ่มที่ต้องทำงานด้วยกัน ประกอบด้วย สถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัย สถาบันอาชีวะศึกษา โรงเรียน สนับสนุนงานวิชาการและงานวิจัยด้านดนตรีและการแสดง

หน่วยงานภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องมีนโยบายในการผลักดันที่ชัดเจน เปิดพื้นที่สาธารณะสำหรับดนตรี การแสดง ภาคเอกชนและภาคการค้า ถ้าจะทำให้ศิลปวัฒนธรรมอยู่อย่างยืนยาว จะต้องฝังลงไปในระบบเศรษฐกิจ องค์กรเอกชนจะทำหน้าที่หล่อลื่นและหล่อเลี้ยง ส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทั้งร้านอาหาร ร้านกาแฟ โรงแรมที่พัก หอการค้า สภาอุตสาหกรรม และชุมชน ประชาสังคม รวมทั้งชุมชนคนทำเพลง นักร้อง นักดนตรี นักแสดง ชมรมในท้องถิ่นที่ทำเรื่องดนตรี การแสดง ชุมชนจะทำให้งานดนตรีฝังรากลึงภายในชุมชน ซึ่งการทำงานต้องขับเคลื่อนไปพร้อมกันทุกภาคส่วน เพื่อเสริมพลังซึ่งกันและกัน

เมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรี-04.jpg

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีพร้อมสนับสนุนและผลักดันเมืองอุบลราชธานีสู่ “เมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรีของ UNESCO” อย่างเต็มที่ ด้วยความตั้งใจที่จะเป็น “มหาวิทยาลัยในดวงใจของชุมชน เป็นหลักของท้องถิ่น และเป็นปัญญาแห่งแผ่นดิน” ตามยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม โดยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมุ่งมั่นที่จะสร้างอนาคตร่วมกับชุมชน (Sharing the Future with the Community) ให้ยั่งยืนต่อไป

ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ ชำนาญการ ข่าว/ภาพ อาจารย์วศิน โกมุท คณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลฯ

 

copyright 2005 www.GuideUbon.com สำนักงานไกด์อุบลดอทคอม เลขที่ 89/1 ถนนพโลรังฤทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 ติดต่อไกด์อุบล : webmaster@guideubon.com | msn : guide_ubon@hotmail.com | Tel : 080-4850511