แก้ปัญหาวิกฤติราคายางตกต่ำ workshop ผลิตรองเท้าจากยางพารา
หลักสูตรเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมกับ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฏร์ธานี จัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผลงานวิจัยสู่การจัดการการผลิตรองเท้ายางพาราจากวัตถุดิบของเกษตรกรสู่อาชีพอย่างยั่งยืน” ให้แก่ เกษตรกรชาวสวนยาง นักวิชาการ และผู้สนใจในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างเข้าร่วมการฝึกอบรม 35 คน ในระหว่างวันที่ 14 - 15 ธันวาคม 2562 ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผลงานวิจัยด้านยางพารา ภายใต้โครงการพัฒนายางพาราของประเทศไทย พ.ศ. 2558 - 2562 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นำทีมโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุนิสา สุชาติ อาจารย์สังกัดคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฏร์ธานี เป็นหัวหน้าโครงการและวิทยากรหลัก และในส่วนของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นำทีมโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สราวุธ ประเสริฐศรี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชัยวุฒิ วัดจัง นายศิวรักษ์ จันโท เป็นวิทยากร และนักศึกษา จำนวน 5 คน ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยวิทยากร ในการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการผลิตรองเท้ายางพาราคุณภาพดีอย่างเหมาะสม
เริ่มจากขั้นตอนและกระบวนการผลิตวัตถุดิบยางพารา ชนิดของยางและสารเคมี วัสดุใหม่หรือวัสดุที่มีในท้องถิ่นที่ใช้ในกระบวนการผลิตรองเท้า กรรมวิธีการผลิตรองเท้ายางพารา เครื่องมือที่ใช้ในการผลิต เครื่องมือทดสอบค่าต่าง ๆ เช่น ทดสอบความแข็ง ความทนต่อแรงดึง ความต้านทานต่อการสึกหรอ เป็นต้น การเพิ่มมูลค่ารองเท้าโดยนำวัสดุที่มีในท้องถิ่นมาตกแต่ง สร้างสรรค์รองเท้าในรูปแบบที่สวยงาม ตลอดจนด้านการตลาด การจัดการระบบการตลาดสำหรับกลุ่มและเครือข่าย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สราวุธ ประเสริฐศรี ประธานหลักสูตรเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี หนึ่งในวิทยากรที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ฯ กล่าวว่า สำหรับการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการผลิตรองเท้ายางพาราคุณภาพดีครั้งนี้ การทางทีมวิทยากรได้นำผลงานวิจัยและประสบการณ์ตรงมาบูรณาการองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม เทคนิคการเพิ่มมูลค่า และการจัดการผลิตรองเท้าคุณภาพดี การผลิตรองเท้าเพื่อสุขภาพ ที่มีต้นทุนต่ำ ราคาถูก และแนวทางการนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้
ตลอดจนการรวมกลุ่มในการสร้างเครือข่ายแปรรูปผลิตภัณฑ์ยาง เพื่อเป็นแนวทางในการช่วยฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของเกษตรกรชาวสวนยางได้ ช่วยกันแก้ไขภาวะราคายางพาราตกต่ำซึ่งสอดคล้องกับความพยายามของภาครัฐ เกษตรกรชาวสวนยางจะได้ความรู้ความเข้าใจและตระหนักพร้อมนำไปปรับใช้กับการทำผลิตภัณฑ์ยางที่ดี มีคุณภาพ และมีราคาที่เป็นธรรม เที่ยงตรง ได้ราคาตามคุณภาพที่ผลิตมีอาชีพและชีวิตที่ดีขึ้น
ดังนั้น การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการภายใต้โครงการนี้จึงสามารถตอบโจทย์และช่วยแก้ปัญหาเกษตรกรชาวสวนยางและผู้ที่สนใจในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้เป็นอย่างดี
ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ ข่าว/ภาพ หลักสูตรเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ ม.อุบลฯ