รพ.สรรพสิทธิประสงค์ จัดงาน World Glaucoma Day 2019 วันต้อหินโลก
วันที่ 12 มีนาคม 2562 นายแพทย์มนต์ชัย วิวัฒนาสิทธิพงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์อุบลราชธานี เป็นประธานเปิดงาน Glaucoma Day 2019 วันต้อหินโลก จัดโดยกลุ่มงานจักษุวิทยา โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ภายใต้ชื่องาน "รวมพลัง ระวังต้อหิน!!!" โดยมี พญ.สุดารัตน์ นเรนทร์พิทักษ์ หัวหน้ากลุ่มงานจักษุวิทยา พร้อมด้วยคณะแพทย์ เจ้าหน้าที่ ตลอดจนประชาชนที่ให้ความสนใจเข้าร่วมงาน ณ บริเวณชั้น 4 อาคาร 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์อุบลราชธานี
ภายหลังพิธีเปิดงานแล้ว ประธานในพิธีได้ให้เกียรติเดินชมการปฏิบัติงานของจักษุแพทย์ และเจ้าหน้าที่ พร้อมให้กำลังใจ โดยบางจุดได้ลองทดสอบเป็นผู้รับบริการด้วย สร้างความประทับใจให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเป็นอย่างมาก
พญ.สุดารัตน์ นเรนทร์พิทักษ์ หัวหน้ากลุ่มงานจักษุวิทยา กล่าวว่า เนื่องจากต้อหินเป็นสาเหตุที่ทําให้เกิดตาบอดแบบถาวรเป็นอันดับหนึ่งของทั่วโลก ในจํานวนของผู้ที่ตาบอดทั่วโลกประมาณ 60 ล้านคนนั้น เกิดจากต้อหินถึงประมาณ 7 ล้านคน ทั้งทั้งที่ 80% ของผู้เป็นต้อหินสามารถป้องกันไม่ให้ตาบอดได้ ถ้าตรวจพบและรักษาตั้งแต่ระยะแรก ในประเทศที่พัฒนาแล้ว คนที่เป็นต้อหินเกินครึ่ง ไม่ทราบว่าตนเองเป็นต้อหิน ส่วนในประเทศที่กําลังพัฒนาอย่างประเทศไทย อาจจะมีคนที่เป็นต้อหินแต่ไม่ทราบว่าตนเองเป็นอยู่ถึง 90%
สมาคมต้อหินโลกได้กําหนดให้วันต้อหินโลก เป็นวันที่ 12 มีนาคมของทุกปี กลุ่มงานจักษุวิทยา โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการดูแลรักษาผู้ป่วยต้อหินในเขตอีสานใต้ จึงได้ร่วมมือกับชมรมต้อหินแห่งประเทศไทย จัดรณรงค์วันต้อหินโลกขึ้นในวันนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนทั่วไปมีความตื่นตัวเอง ตระหนักถึงความสําคัญของการตรวจคัดกรองต้อหินในเวลาที่เหมาะสม ทั้งยังให้ความรู้แก่ประชาชน ในเรื่องของอันตรายของโรคนี้ และให้ทราบว่า หากได้รับการรักษาที่ถูกต้องตั้งแต่แรกแล้ว จะสามารถช่วยถนอมสายตาให้คงอยู่มากที่สุด และนานที่สุดได้
กิจกรรมในวันนี้ นอกจากการตรวจคัดกรองโรคต้อหินให้กับผู้สนใจเข้ารับบริการจำนวน 120 คนแล้ว ยังให้บริการตรวจความดันลูกตา และถ่ายภาพจอตา ฟรี!!
การจัดนิทรรศการต้อหิน และเวทีเสวนาให้ความรู้แก่ประชาชน อาทิ
- ต้อหินคืออะไร ใครเป็นแล้วต้องตาบอดทุกคนจริงหรือ โดย พญ.ประภาพรรณ ตรวจพล จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านต้อหิน
- ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับต้อหิน โดย พญ.สิริพร เหลืองรุ่งโรจน์
- หยอดยาอย่างไรห่างไกลต้อหิน โดย เภสัชกรหญิงอภิญญา รุจิรกฤตย์ และ พญ.เสาวนีย์ วรนิทัศน์
ทั้งนี้ ในปัจจุบันคาดว่ามีคนไทยป่วยเป็นต้อหินแล้วจำนวนเกือบ 3 ล้านคน นับเป็นโรคที่รุนแรงและทำให้ตาบอดโดยไม่รู้ตัว โดยพบมากที่สุดที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และน้อยที่สุดคือภาคใต้ จัดว่ารุนแรงกว่าโรคต้อกระจก และโรคเบาหวานขึ้นตา โดยผู้ป่วย 9 ใน 10 ราย จะไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคต้อหิน อาการของผู้ป่วยจะค่อยๆ สูญเสียการมองเห็น พบว่าเป็นสาเหตุสำคัญของอาการตาบอด โดยกลุ่มเสี่ยงจะมีอายุประมาณ 40 ปีขึ้นไป หรือคนในครอบครัวที่มีประวัติเป็นโรคดังกล่าว
อายุและประวัติครอบครัว ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ยิ่งคนไทยมีอายุยืนขึ้น ก็ยิ่งมีอัตราการเป็นโรคต้อหินสูงขึ้น แต่ปัญหาที่สำคัญที่สุดของต้อหิน คือการไม่รู้ตัวว่าตนป่วยเป็นโรค ในระยะแรก จะไม่มีอาการใดๆ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ประสาทตาถูกทำลายไปมากแล้ว และเมื่อโรคลุกลามไปมาก การรักษาก็มักไม่ได้ผล โรคต้อหินเป็นภัยเงียบที่น่ากลัว และทำลายคุณภาพชีวิตในระยะยาว นำมาซึ่งความทุกข์ และคุณภาพชีวิตที่ด้อยลงอย่างมากเมื่อสูญเสียสายตา การตรวจพบโรคในระยะเริ่มแรก จะช่วยป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยตาบอด และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรให้ดีขึ้น
ผู้ที่อยู่ในเกณฑ์เสี่ยง หรือผู้สนใจต้องการตรวจสุขภาพตา สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่ กลุ่มงานจักษุวิทยา โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ อุบลราชธานี ในวันและเวลาราชการ