พิธีมอบทุนและแสดงผลงาน Young Scientist Competition YSC2024
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในนามศูนย์ประสานงานระดับภูมิภาค (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) จัดโครงการการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ครั้งที่ 26 Young Scientist Competition (YSC2024) จัดให้มีพิธีมอบทุนและการจัดแสดงผลงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ครั้งที่ 26 (YSC2024) โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.ทวนทอง จุฑาเกตุ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม เป็นประธาน และมอบรางวัล ซึ่งมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภาวดี หิรัญพงศ์สิน ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์ ในฐานะผู้ประสานงานโครงการการ YSC2024 กล่าวรายงาน
โอกาสนี้ นางอติพร สุวรรณ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชนที่มีศักยภาพสูง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวแสดงความยินดี แก่นักเรียนและอาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานที่ได้รับทุนสนับสนุนในการจัดทำโครงงาน นางสาวสุนทรีย์ กริชชัยศักดิ์ หัวหน้าโครงการ YSC2024 ให้เกียรติร่วมพิธีมอบทุนฯ ณ โรงแรมยูเพลส มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เมื่อวันจันทร์ที่ 15 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภาวดี หิรัญพงศ์สิน ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ กล่าวว่า คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้ร่วมเป็นศูนย์ประสานงานจัดโครงการ YSC มาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 15 ปี ติดต่อกัน เพื่อส่งเสริมและคัดเลือกนักเรียนตัวแทนประเทศไทย เข้าประกวดในงาน Regeneron ISEF 2024 ซึ่งจัดขึ้นที่เมือง Los Angeles รัฐ California ณ Los Angeles Convention Center ระหว่างวันที่ 11 – 17 พฤษภาคม 2567 ประเทศสหรัฐอเมริกา
สำหรับปีนี้ มีการส่งข้อเสนอโครงงานเข้าประกวดทั้งสิ้น จำนวน 254 โครงงานจากโรงเรียนในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ซึ่งมีโครงงานที่ผ่านการคัดเลือกและส่งรายงานขอรับทุนสนับสนุนรอบแรก เพื่อเป็นทุนสนับสนุนการจัดทำโครงงาน 38 ทุน ทุนละ 3,000 บาท ได้แก่
- ชีววิทยาและเทคโนโลยีชีวภาพ 10 โครงงาน
- เคมี 5 โครงงาน
- ฟิสิกส์ พลังงาน และดาราศาสตร์ 2 โครงงาน
- วิทยาการคอมพิวเตอร์ 4 โครงงาน
- วัสดุศาสตร์และวิศวกรรมวัสดุ 5 โครงงาน
- คณิตศาสตร์และสถิติ 1 โครงงาน
- วิทยาศาสตร์โลกและสิ่งแวดล้อม 4 โครงงาน
- วิศวกรรมศาสตร์ 2 โครงงาน และ
- วิทยาศาสตร์และวิศวกรรมการแพทย์ 5 โครงงาน
สำหรับการจัดแสดงผลงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ครั้งที่ 26 (YSC2024) ครั้งนี้ มีโครงงานและโรงเรียนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ระดับภูมิภาค และจะเป็นตัวแทนเข้าร่วมการแข่งขันในระดับประเทศ 10 รางวัล ได้แก่
สาขาชีววิทยาและเทคโนโลยีชีวภาพ
- โครงงานการผลิตอาหารสำเร็จรูปซีเรียลบอลจากดักแด้ไหม โรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์ และ
- โครงงานการศึกษาปัจจัยทีมีผลต่อการเจริญเติบโตและลดอัตราการตายก่อนระยะผสมพันธุ์ของตั๊กแตนปาทังก้า โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร
สาขาคณิตศาสตร์และสถิติ
- โครงงานการศึกษาความสัมพันธ์ของพิกัดจุดตกกระทบของรังสีแสงที่ออกจากจุดกำเนิด กับเส้นสะท้อนและแกน X เมื่อกำหนดสมการเส้นสะท้อนความชันเป็นค่าลบต่าง ๆ และรังสีแสงออกจากจุดกำเนิดด้วยมุมต่าง ๆ วิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร
สาขาเคมี
- โครงงานการศึกษาประสิทธิภาพในการกำจัดไข่ยุงลาย (Aedes) โดยการยับยั้งระยะเอ็มบริโอและการสลายไคทินด้วยน้ำมันหอมระเหยจากเปลือกส้มโอ เพื่อประยุกต์ใช้ในรูปแบบน้ำมันหยดที่ต้านการเกิดออกซิเดชัน โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ
- โครงงานการพัฒนาเทคนิคตรวจวัดครีเอตินินโดยการเปลี่ยนสีบนกระดาษโอริกามิเพื่อวัดสภาวะการทำงานของไต โรงเรียนลือคำหาญวารินชำราบ
สาขาฟิสิกส์ พลังงาน และดาราศาสตร์
- โครงงานการศึกษาการสร้างอุปกรณ์สะท้อนแสงพลาสติกที่สามารถปรับแต่งได้สำหรับใช้ในงานสำรวจอวกาศ โรงเรียนลือคำหาญวารินชำราบ
สาขาวัสดุศาสตร์และวิศวกรรมวัสดุ
- โครงงานเครื่องแปรรูปขวดพลาสติกเป็นเส้น Filament สำหรับเครื่องพิมพ์ 3 มิติ โรงเรียนเขมราฐพิทยาคม
สาขาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมการแพทย์
- โครงงานการพัฒนาเซ็นเซอร์กระดาษ ในการตรวจวัดไมโครอัลบูมินในน้ำปัสสาวะ โดยใช้กระดาษ ไมโครฟลูอิดิกร่วมกับการวิเคราะห์โดยใช้ image processing เพื่อวินิจฉัยโรคไตเรื้อรังเบื้องต้น โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร
สาขาวิทยาศาสตร์โลกและสิ่งแวดล้อม
- โครงงานการใช้เฟอร์โรฟลูอิดส์เพื่อลดปริมาณไมโครพลาสติกในแหล่งน้ำ โรงเรียนศรีสะเกษวิทยาลัย และ
สาขาวิศวกรรมศาสตร์
- โครงงานกำแพงตลิ่งป้องกันน้ำแบบพ๊อปอัปอัติโนมัติ v.3 โรงเรียนปิยะมหาราชาลัย
ทั้งนี้ จากการแข่งขันยังมีโรงเรียนที่ได้รับรางวัลเกียรติบัตรเหรียญเงิน 18 โครงงาน และรางวัลเหรียญทอง 10 โครงงาน
ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ ชำนาญการ ม.อุบลฯ ภาพ/ข่าว