อุบลฯ เดินหน้าสร้างพระพุทธรูปประจำพระชนมวารม์ ถวายในหลวง ร.10
สมเด็จพระมหาธีราจารย์ เดินหน้าสร้างพระพุทธรูปประจำพระชนมวารม์ใหญ่ที่สุดอันดับ 3 ของโลก เป็นพระประธานในพุทธมณฑลอุบลฯ ถวายในหลวง ร.10 ตั้งเป้าสร้างเสร็จใน 5 ปี เชิญพุทธศาสนิกชนที่มีแรงศรัทธาร่วมบริจาคเพื่อสร้างพระไว้ในร่มพุทธศาสนาให้คงอยู่นับนานพันปี
วันที่ 15 มกราคม 2567 เวลา 13.00 น. เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม และเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นองค์ประธานในการประชุมสามัญประจำปี 2567 ของคณะกรรมการมูลนิธิพุทธมณฑลอุบลราชธานี ณ ศาลาชินโสภณพาณิชย์ วัดยางน้อย ต.ก่อเอ้ อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี ทั้งนี้ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับทราบถึงความก้าวหน้าของโครงการ รวมทั้งร่วมกันเดินหน้าเพื่อการก่อสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่จะประดิษฐานอยู่ ณ พุทธมณฑลอุบลราชธานี
โดยเป็นพระพุทธรูปประทับยืน ปางห้ามสมุทร ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และใหญ่ที่สุดอันดับ 3 ของโลก กว้าง 42 ม. สูงจากพระบาทถึงยอด 95 เมตร และสูงจากฐานถึงยอด 137 เมตร ซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณการก่อสร้างราว 10,000 ล้านบาท เพื่อถวายเป็นราชสักการะแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เนื่องในวโรกาสที่พระองค์ทรงขึ้นครองสิริราชสมบัติ และทรงเจริญพระชนมายุครบ 6 รอบ 72 พรรษาในปี 2567 โดยวิธีการออกแบบ จะเป็นพระพุทธรูปที่สร้างด้วยโลหะ ระหว่างทองแดงและสแตนเลทที่จะมีความคงทนถาวรและมีอายุอยู่ได้ร่วมพันปี
สมเด็จพระมหาธีราจารย์ เปิดเผยว่า โครงการก่อสร้างพุทธมณฑลเกิดขึ้นเนื่องจากรัฐบาลไทยและคณะสงฆ์โดยมหาเถรสมาคมแห่งประเทศไทยได้มีการพิจารณาเห็นชอบร่วมกันว่า ให้มีการจัดตั้งพุทธมณฑลขึ้นในประเทศไทยทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจทางธรรมะของประชาชน รวมทั้งใช้เป็นสถานที่ให้ประชาชนร่วมกันทำคุณงามความดี ประกอบกิจกรรมทั้งทางศาสนาและวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม รวมทั้งสามารถใช้เป็นที่ออกกำลังกายและเล่นกีฬาที่ไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีงามของท้องถิ่นและประเทศชาติ แต่เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนงบประมาณในการก่อสร้างทำให้หลายจังหวัดจึงไม่มีความคืบหน้าในโครงการ มีเพียงบางจังหวัดที่มีความพร้อมและความร่วมมือร่วมใจกันของประชาชนเท่านั้นที่สามารถก่อสร้างได้สำเร็จเช่นที่ จ.นครปฐม เป็นต้น ซึ่งพุทธมณฑลอุบลราชธานีก็เป็นอีกแห่งที่โครงการยังค้างอยู่และมีความคืบหน้าไม่มากเท่าที่ควร
อย่างไรก็ตาม จ.อุบลราชธานี เป็นจังหวัดใหญ่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีความสำคัญ ดังนั้นทั้งฝ่ายคณะสงฆ์และฝ่ายบ้านเมืองจึงได้ร่วมกันดำเนินการเพื่อผลักดันมาโดยตลอด โดยได้จัดตั้งเป็นมูลนิธิพุทธมณฑลอุบลราชธานีขึ้น และมีมติให้อาตมาภาพเป็นประธานมูลนิธิฯ มีบุคคลสำคัญต่างๆใน จ.อุบลราชธานี ร่วมเป็นคณะกรรมการ นอกจากนั้น ยังมีคณะกรรมการดำเนินงานซึ่งได้เลือกสรรกัน โดยดำเนินการมา 20 กว่าปีแล้ว แต่ก็ยังไม่คืบหน้ามาก ดังนั้นอาตมาจึงพยายามเร่งรัด ขณะนี้มีความคืบหน้าไปในขั้นเลือกสถานที่ก่อสร้างคือ ใช้พื้นที่ริมถนนแจ้งสนิท บริเวณกิโลเมตรที่ 30 เส้นทางมุ่งหน้าไปทาง จ.ยโสธร นั่นคือ จุดที่ บ้านยางน้อย ต.ก่อเอ้ อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี ในเนื้อที่ 2 แปลง รวมแล้วประมาณ 300 ไร่
“ ในช่วงแรกของโครงการฯ ที่ประชุมมีมติให้สร้างเป็นพุทธเจดีย์ที่มีความสวยงามตั้งภายในพุทธมณฑล แต้ด้วยมีเหตุปัจจัยขัดข้องบางประการจึงไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ต่อมาจึงได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการก่อสร้างโดยเปลี่ยนจากการสร้างเจดีย์มาเป็นพระพุทธประติมาประจำพระชนมวารพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อถวายแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ในช่วงที่พระองค์ยังทรงมีพระชนชีพอยู่แต่ไม่ทันพระองค์ท่านเสด็จสวรรคต
ปัจจุบันจึงได้กำหนดให้มีการก่อสร้างพระพุทธประติมาประจำพระชนมวารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เพื่อถวายพระพรแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ในวโรกาสที่พระองค์ทรงขึ้นครองสิริราชสมบัติ และทรงเจริญพระชนมายุครบ 6 รอบ 72 พรรษา ในปี 2567 โดยขอพระราชทานนามว่า ‘พระพุทธมหาวชิราลงกรณ’ เพื่ออัญเชิญมาประดิษฐานเป็นพระพุทธประธานประจำพุทธมณฑลอุบลราชธานี แห่งนี้ต่อไป” สมเด็จพระมหาธีราจารย์ กล่าว
สมเด็จพระมหาธีราจารย์ กล่าวต่อไปว่า เบื้องต้นได้ออกแบบพระประติมาเป็นองค์ต้นแบบมาแล้ว และกำลังพัฒนาขนาดให้มีความเหมาะสมพร้อมทั้งให้มีความมั่นคงถาวรให้อยู่ได้หลายร้อยหรือพันปี เนื่องจากเป็นพระพุทธรูปประทับยืน การออกแบบโครงสร้างจึงต้องเป็นโลหะผสมระหว่างทองแดงและสแตนเลส ซึ่งพระพุทธรูปลักษณะนี้ มีการก่อสร้างขึ้นในประเทศไทยแล้วหนึ่งที่ จ.กาญจนบุรี โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงเป็นองค์อุปถัมป์ก่อสร้างแล้วเสร็จไปแล้ว
แต่ที่จะสร้างขึ้นที่พุทธมณฑลอุบลราชธานี จะเป็นพระพุทธรูปที่มีใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยมีความกว้าง 42 เมตร สูงจากพระบาทไปจนถึงยอดพระเศียร 95 เมตร ซึ่งตรงกับพระสูติกาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ซึ่งทรงพระประสูติกาลในปี พ.ศ.2595 และหากรวมจากฐานถึงยอดพระเศียรจะมีความสูงทั้งสิ้น 137 เมตร จะถือเป็นพระพุทธรูปที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากอันดับ 1 อินเดีย 240 ม. และอันดับ 2 จีน 153 ม. ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าการก่อสร้างจะเป็นเกือบหนึ่งหมื่นล้าน
“พระพุทธรูปนี้จะสูงกว่าเทพีเสรีภาพที่นิวยอร์ก ตอนนี้เราก็กำลังเปิดโอกาสให้กับพุทธศาสนิกชนที่มีแรงศรัทธาอยากสร้างพระพุทธรูปนี้ไว้ในร่มเงาพระพุทธศาสนาไปนานพันปี และมีกำลังทรัพย์ที่จะร่วมสร้างพระพุทธประติมาองค์นี้ประดิษฐานไว้ ณ พุทธมณฑลอุบลราชธานี โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เกิดวันจันทร์ วันพุธ หรือวันเสาร์ ซึ่งมีดวงเป็นมิตรกัน หรือจะเป็นผู้เกิดวันอื่นๆ ก็สามารถร่วมสร้างได้ เพื่อร่วมถวายเป็นราชสักการะแด่พระมหาบพิตรในหลวงรัชกาลที่ 10
โดยท่านที่มีจิตศรัทธาอยากจะร่วมสร้างสามารถร่วมบริจาคได้ที่อาตมา สมเด็จพระมหาธีราจารย์ วัดพระเชตุพนต์วิมลมังคลาราม กรุงเทพฯ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสมทบกันคนละเล็กละน้อยร่วมกัน และพระประติมาองค์นี้จะถือเป็นหัวใจหลักของโครงการพุทธมณฑลอุบลราชธานี โดยตั้งใจว่าจะให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปี แต่ก็ขึ้นอยู่กับงบที่มีด้วย ซึ่งส่วนใหญ่งบที่สร้างน่าจะมาจากเงินบริจาคของผู้มีจิตศรัทธาเป็นหลักเพราะรัฐบาลไม่มีงบประมาณสนับสนุนให้”
“ต่อไปที่ตรงนี้จะเป็นจุดศูนย์กลางในการทำกิจกรรมที่ดีงามร่วมกัน มีที่จอดรถ มีที่จับจ่ายซื้อสินค้าพื้นเมือง มีห้องน้ำให้ประชาชน รวมทั้งมีสถานที่ชาร์ตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า
อย่างไรก็ตามเนื่องจากปีนี้เป็นปีมหามงคลสำคัญที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงเจริญพระชนมพรรษา ครบ 6 รอบ 72 พรรษา ก่อนสร้างพระประติมาขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อาตมาตั้งใจจะทำพระพุทธรูปประจำพระชนมวารองค์นี้แต่มีขนาดย่อม เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติแด่องค์ท่าน เพื่อให้พระองค์ทรงพระราชทานพระประติมานี้ไปประดิษฐานไว้ ณ จังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย ให้เป็นสัญลักษณ์ของพุทธมณฑลอุบลราชธานี และเป็นพระพุทธประจำพระชนมวารของพระองค์เพื่อเป็นที่สักการะบูชาของประชานทุกจังหวัด พร้อมทั้งจะมอบให้กับกระทรวงต่างๆ ทุกกระทรวงเพื่อนำไปสักการะบูชา โดยเบื้องต้นคาดว่าจะใช้งบประมาณสร้างพระพุทธประติมาองค์จำลองนี้องค์ละประมาณ 50,000 บาท ซึ่งประชาชนที่อยากร่วมสร้างก็ร่วมบริจาคได้เช่นเดียวกัน” สมเด็จพระมหาธีราจารย์ กล่าว
ศิริลักษณ์ สอนอาจ - ข่าว