ย้อนตำนาน ท่าอากาศยานอุบลราชธานี
ท่าอากาศยานนานาชาติอุบลราชธานี เพิ่งทำพิธีเปิดอาคารที่พักผู้โดยสารใหม่ เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2558 หลังจากถูกไฟไหม้เสียหายไปบางส่วนเมื่อปลายปี 2557 ที่ผ่านมา ในโอกาสนี้ไกด์อุบลขอแนะนำข้อมูลสนามบินอุบล หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า ท่าอากาศยานนานาชาติอุบลราชธานี (Ubon Ratchathani International Airport) ตั้งอยู่ที่ ถนนเทพโยธี ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ห่างจากทุ่งศรีเมืองอุบลราชธานี ประมาณ 2 กิโลเมตร ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่เทศบาลนครอุบลราชธานี
ท่าอากาศยานอุบลราชธานี เป็นท่าอากาศยานที่ใช้งานมาตั้งแต่ครั้งสงครามเวียดนาม โดยเป็นที่ตั้งของฐานทัพอากาศสหรัฐอเมริกา ที่ใช้เป็นฐานในการโจมตีเวียดนาม ตั้งอยู่ในบริเวณกองบิน 21 กองทัพอากาศ มีพื้นที่ทั้งหมด 3,876 ไร่ ได้รับการจัดตั้งให้เป็นท่าอากาศยานนานาชาติ (International Airport) แห่งแรกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อปี พ.ศ. 2531 ตามมติของคณะรัฐมนตรี (เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า) ในสมัยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัน เป็นนายกรัฐมนตรี ที่มีเป้าหมายที่จะให้ท่าอากาศยานแห่งนี้เป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคอินโดจีน
ปัจจุบัน ท่าอากาศยานนานาชาติอุบลราชธานี เป็นศูนย์กลางการบินพาณิชย์ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง สามารถรองรับผู้โดยสารจากจังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ ยโสธร และอำนาจเจริญ รวมถึงผู้โดยสารจากประเทศเพื่อนบ้าน (สปป.ลาวตอนใต้)
ท่าอากาศยานอุบลราชธานี มีทางวิ่ง (Runway) ยาว 3,000 เมตร กว้าง 45 เมตร และทางขับ (Taxiway) ใช้ร่วมกับทางวิ่ง พื้นผิดแอสฟัสท์ติคคอนกรีต
ลานจอดอากาศยาน มีขนาดกว้าง 120 เมตร ยาว 270 เมตร สามารถรองรับเครื่องบินในเวลาพร้อมๆ กันได้ 4 ลำ ได้แก่ Boeing737 จำนวน 1 ลำ เครื่อง Airbus A300 ได้ 2 ลำ และเครื่องบิน ATR-72 ได้อีก 1 ลำ
สำหรับภายในอาคารที่พักผู้โดยสาร ภายหลังการปรับปรุงซ่อมแซมครั้งล่าสุดนี้ จะทำให้มีเคาน์เตอร์เช็คอินของสายการบิน 16 เคาน์เตอร์ ห้องผู้โดยสารขาเข้า รองรับได้ 300 คน/ชั่วโมง ห้องผู้โดยสารขาออก รองรับได้ 624 คน/ชั่วโมง มีห้องรับรองพิเศษ (VIP) จำนวน 4 ห้อง และร้านค้าจำหน่ายสินค้าต่างๆ 16 ล็อค
ปัจจุบัน (ก.ย.2557) มีสายการบินให้บริการ 5 สายการบิน ได้แก่
- สายการบินไทยสมายล์ (สุวรรณภูมิ-อุบลฯ) จำนวน 3 เที่ยวบิน/วัน
- สายการบินไทยแอร์เอเซีย (ดอนเมือง-อุบลฯ) จำนวน 2 เที่ยวบิน/วัน
- สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ (ดอนเมือง-อุบลฯ) จำนวน 4 เที่ยวบิน/วัน
- สายการบินนกแอร์ (ดอนเมือง-อุบลฯ) จำนวน 7 เที่ยวบิน/วัน และ
- สายการบินกานต์แอร์ (เชียงใหม่-อุบลฯ) จำนวน 1 เที่ยวบิน/วัน
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับท่าอากาศยานอุบลราชธานี ได้ที่โทร. 045-245123
สนามบินอุบลฯ เปิดอาคารที่พักผู้โดยสารแล้ว หลังปิดปรับปรุงร่วมปี