ตำหนักวังสงัด ที่ประทับของกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ กับหม่อมเจียงคำ
ทุกวันที่ 20 ตุลาคม ของทุกปี จะมีงานพิธีเชิดชูเกียรติและรำลึกหม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา ซึ่งชาวอุบลฯ ร่วมกันจัดต่อเนื่องมาเป็นประจำทุกปี และเมื่อเอ่ยถึงหม่อมเจียงคำ ก็จะมีหลายท่านสงสัยว่า เมื่อครั้ง หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา ถวายตัวเป็นชายาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เมื่อเดือนมีนาคม รศ.112 (พ.ศ.2436) นั้น ท่านประทับที่ใดในจังหวัดอุบลราชธานี
ไกด์อุบลได้อ่านบทความเรื่องความเป็นมาของวังสงัด จากคำบอกเล่าของคุณผลา สิงหัษฐิต (ณ อุบล) ขณะที่สัมภาษณ์ (พ.ศ.2551) คุณผลา มีอายุ 78 ปี ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานปู่ของอำมาตย์ตรีพระวิภาคย์พจนกิจ (เล็ก สิงหัษฐิต) เป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางใจจากคุณปู่วิภาคย์พจนกิจ ซึ่งเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ตำหนักวังสงัด หลังจากที่กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ และหม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา ได้เสด็จนิวัติคืนสู่ประทับที่วังสวนดุสิต กรุงเทพมหานคร
อำมาตย์ตรี พระวิภาคย์พจนกิจ (เล็ก สิงหัษฐิต)
เลขานุการในพระองค์ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์
ตำหนักวังสงัด หรือที่คนทั่วไปรู้จัก เรียกสั้นๆ ว่า "วังสงัด" ตั้งอยู่ทิศเหนือ ถนนพโลรังฤทธิ์ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือของทุ่งศรีเมือง อำภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี วังสงัดมีเนื้อที่ 7 ไร่ ลักษณะวังเป็นอาคารไม้สักและไม้เนื้อแข็ง มี 3 ชั้น มีมุกกลางซึ่งกว้างมาก มีบันไดกว้างประมาณ 7 เมตร มีบันไดประมาณ 15 ขั้น มีห้องโถงชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 กว้างขวางมาก หลังคามุงด้วยสังกะสีอย่างหนา ตัวอาคารเป็นสีน้ำตาล สีไม่ธรรมชาติ ห้องบรรทมอยู่ทางทิศตะวันออก มีบันไดเวียนอยู่ทางทิศตะวันตก มีประตูหน้าต่างมากมาย อากาศถ่ายเทได้ดี
ตำหนักวังสงัดนี้ สร้างขึ้นเมื่อ ร.ศ.112 เป็นที่ประทับของพลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสิทธประสงค์และหม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา ตลอดระยะเวลาที่ประทับอยู่ที่เมืองอุบลราชธานี เป็นเวลา 17 ปี ก่อนที่จะนิวัติคืนสู่กรุงเทพมหานคร จนกระทั่งสิ้นพระชนม์
ทำไมจึงได้ชื่อว่า ตำหนักวังสงัด ก็เพราะว่าเป็นที่สงบเงียบ อากาศดี มีต้นไม้นานาพันธุ์ สวนผลไม้มากมาย และตั้งอยู่ใจกลางเมืองอุบลฯ ด้วย ผลไม้ที่อยู่รอบบริเวณวังสงัด อาที ต้นมะม่วง, ต้นกระท้อน, ต้นมะพร้าว, ต้นไผ่ตง ต่างๆ ผลไม้เหล่านี้ ท่านโปรดให้เก็บและแจกญาติ พี่น้อง ลูกหลาน ได้ทานกันอย่างทั่วถึง
ที่ดินบริเวณวังสงัด จำนวน 7 ไร่นี้ เป็นกรรมสิทธิ์ของท้าวสุรินทร์ชมภู (หมั้น บุตโรบล) ซึ่งเป็นบิดาของหม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา เมื่อกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์และหม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา และพระโอรส ได้เสด็จนิวัติกลับกรุงเทพฯ พระองค์ท่านได้มอบหมายให้คุณพระวิภาคย์พจนกิจ (เล็ก สิงหัษฐิต) เป็นผู้ดูแลเก็บผลประโยชน์
ในปี พ.ศ.2478 อาจารย์ A.P. เอเบิล ฝรั่งมิชชั่นนารี ได้มาขอเช่าเพื่อจัดการศึกษาระดับประถม เรียกว่า โรงเรียนมิชชั่น มีนายเปรย โทณะสุต เป็นครูใหญ่ ค่าเช่าเดือนละ 500 บาท และต่อมาประมาณปี พ.ศ.2483 เกิดสงครามอินโดจีน โรงเรียนมิชชั่นจึงเลิกลาไป
คณะครูโรงเรียนวิไลวัฒนา ถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึกเมื่อประมาณปี 2496 (ถ่ายที่บันไดตำหนักวังสงัด)
โรงเรียนวิไลวัฒนา มีครูใหญ่คนแรกและคนเดียว คือ ครูปรียา ถิระกิจ (ยืนที่ 3 จากซ้าย ผู้ผ้าพันคอ)
หลังจากนั้น เจ้าศรีรัฐ ณ จำปาศักดิ์ บิดาของคุณครูมาลี เจริญศรี (สกุลเดิม ณ จำปาศักดิ์) ได้มาขอเช่าวังสงัดจากพระวิภาคย์พจนกิจ เพื่อดำเนินการจัดการเรียนการสอนนักเรียน ระดับประถมศึกษาถึงมัธยมปีที่ 6 ให้ชื่อว่า โรงเรียนวิไลวัฒนา โดยมีครูปรียา ถิระกิจ (ชุมสาย ณ อยุธยา) เป็นครูใหญ่คนแรกและคนเดียว ทางโรงเรียนเสียค่าเช่าเดือนละ 500 บาท โดยมีคุณผลา (สิงหัษฐิต) ณ อุบล เป็นผู้เก็บค่า แล้วนำไปให้คุณปู่วิภาคย์พจนกิจ เก็บไว้เสียภาษีบำรุงเทศบาลอุบลฯ ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งหม่อมเจ้ากมลีสาณ ชุมพล ได้ประทานพระวิภาคย์พจนกิจไว้เพื่อดูแลหม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา (หม่อมแม่ของพระองค์) ซึ่งป่วยมารักษาตัวอยู่ที่บ้านพักของคุณพระวิภาคย์พจนกิจ ถนนพิชิตรังสรรค์ ใกล้กับวัดป่าน้อย (วัดมณีวนาราม) อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี และได้ถึงแก่อนิจกรรมที่บ้านพักหลังนี้
อีกหลายปีต่อมา อาคารตำหนักวังวงัดได้ทรุดโทรมมาก คุณผลาได้เล่าว่า คุรผลาได้เดินทางไปเข้าเฝ้าหม่อมเจ้ากมลีสาณ ชุมพล ที่วังสุโขทัยด้ยตนเอง และได้เล่าถึงตำหนักวังสงัดที่ชำรุดทรุดโทรม เกรงว่าเมื่อโดนลมแรงจะพังลงล้ม ทำลายทรัพย์สินที่อยู่บริเวณใกล้เคียงเสียยหายได้ หม่อมเจ้ากมลีสาณ ชุมพล จึงได้ขอความเห็นจากคุณผลาว่า จะทำอย่างไรดี คุณผลาจึงได้ทูลตอบให้ข้อเสนอว่า ควรรื้อถอนตำหนักวังสงัดแล้วถวายวัดสุทัศนาราม สร้างเป็นกุฏิถวายวัดสุทัศนาราม เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา ท่านก็เห็นด้วย เพราะอัฐิหม่อมแม่ของท่าน ก็ได้เก็บไว้ที่วัดสุทัศนารามแห่งนี้ ทางวัดสุทัศนารามจึงมีกุฏิไม้ ซึ่งสร้างโดยไม้จากตำหนักวังสงัดที่ปรากฎอยู่ที่วัดสุทัศนารามในปัจจุบัน