การสร้างอนุสาวรีย์เจ้าคำผง และสถานที่ตั้งอนุสาวรีย์
ทุกวันที่ 10 พฤศจิกายน ของทุกปี ชาวอุบลฯ ต่างร่วมใจกันจัดงานพิธีบวงสรวง และสดุดีวีรกรรมพระประทุมวรราชสุริยวงษ์ (เจ้าคำผง) เพื่อเผยแพร่เกียรติคุณของผู้สร้างบ้านแปงเมืองอุบลราชธานี โดยมีพิธีบวงสรวงและอัญเชิญดวงวิญญาณเจ้าคำผง จากวัดหลวง ซึ่งเป็นวัดที่เจ้าคำผงสร้างขึ้น เข้าร่วมขบวนแห่สดุดีไปยังที่ประดิษฐานอนุสาวรีย์พระประทุมวรราชสุริยวงษ์ บริเวณทุ่งศรีเมือง พิธีวางขันหมากเบ็ง เป็นต้น ความเป็นมาของการสร้างอนุสาวรีย์ มีที่มาอย่างไร ไกด์อุบลขออนุญาตนำเรื่องที่คุณพ่อสุวิชช คูณผล ปราชญ์เมืองอุบล เคยเขียนไว้ มาย่อย มาย่อ รับใช้ทุกท่าน ดังนี้ ครับ
เล่าแบบย่อๆ ตัดรายละเอียดปลีกย่อยออก จังหวัดอุบลราชธานีมีความคิดที่จะสร้างอนุสาวรีย์ผู้ก่อตั้งเมืองอุบลราชธานีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2492-2497 แล้วครับ โดยนายเลียงและนางอรพิน ไชยกาล ส.ส.อุบลราชธานี ในสมัยนั้น ได้ชักชวนชาวอุบลฯ บริจาคเงินเพื่อร่วมกันสร้างอนุสาวรีย์ พระวอ พระตา เนื่องจากเข้าใจว่าเป็นผู้ก่อสร้างเมือง ได้เงินบริจาคประมาณ 7 หมื่นกว่าบาท แต่สุดท้ายก็ไม่ได้สร้างเพราะมีผู้อาวุโสทักท้วงมากมายว่า พระวอ พระตา ไม่ได้ก่อตั้งเมืองอุบลฯ เพราะสิ้นชีวิตในสงครามก่อนเมืองอุบลฯ จะตั้งขึ้น คณะกรรมการฯ จึงนำเงินบริจาคไปมอบให้ รพ.อุบลราชธานี (รพ.สรรพสิทธิประสงค์อุบลราชธานี) เพื่อสร้างอาคารรักษาผู้เจ็บป่วย ให้ชื่อว่า "ตึกพระวอ พระตา"
ว่างเว้นไปหลายปี ระหว่างนั้นก็มีการถกเถียง ค้นคว้าประวัติศาสตร์มากมาย จนได้ข้อสรุปว่า พระประทุมวรราชสุริยวงษ์ (เจ้าคำผง) เป็นผู้สร้างบ้านแปงเมืองอุบลราชธานี ดังนั้นในปี พ.ศ.2524 คณะธรรมมัสสวนะสามัคคี (เทศน์สามัคคี) จึงได้หารือกัน จะสร้างอนุสาวรีย์เจ้าคำผง อีกครั้ง โดยครั้งนี้มีผู้บริจาคโลหะ เงิน ทองเหลือ ทองแดง นาก เพื่อรวบรวมนำไปหล่อรูปเจ้าคำผง แต่โครงการนี้ก็ต้องพับไปอีกครั้ง เนื่องจากประวัติเจ้าคำผงยังไม่รัดกุมดี และโครงการก็ยังไม่เข้าหลักเกณฑ์ของกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการสร้างอนุสาวรีย์แห่งชาติฯ พ.ศ.2520 ทางกระทรวงมหาดไทยแนะนำว่า ให้สร้างอนุสาวรีย์สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ขึ้นก่อน คณะกรรมการฯ ยังไม่ได้ข้อสรุป จึงต้องพักโครงการนี้ไว้อีกครั้ง
ความพยายามในการสร้างอนุสาวรีย์เจ้าคำผง มาสำเร็จเป็นรูปเป็นร่าง ราวปี พ.ศ.2528 เมื่อคณะธรรมมัสสวนะสามัคคี มอบหมายให้คณะกรรมการฯ ประสานงานกับกรมศิลปากร ซึ่งก็เห็นชอบในหลักการและเหตุผล ทั้งยังให้คำแนะนำว่า หุ่นปั้นขี้ผึ้งนั้น จะต้องหาใบหน้าของบุคคลเก่าแก่ของตระกูลเจ้าคำผง เป็นแบบเทียบเคียง ทั้งเครื่องแต่งกาย อาวุธประจำกายของแม่ทัพโบราณทางอีสานด้วย ต้องมีแบบแปลนและหุ่นจำลองจริงๆ ประกอบโครงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการต้องยื่นผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด และได้รับอนุมัติจากจังหวัดแล้ว จึงจะไปถึงกรมศิลปากรเพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป
เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง เมื่อ เรือตรีดนัย เกตุสิริ ซึ่งเป็นลูกหลานชาวอุบลฯ ขณะนั้นเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ คณะกรรมการฯ จึงขอเข้าพบเพื่อขอให้ช่วยผลักดัน และในปี พ.ศ.2528 นั้นเอง เรือตรีดนัย เกตุสิริ ก็ได้ย้ายมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี สมความปรารถนาพอดี หลังจากนั้นท่านได้นำโครงการเข้าปรึกษากับกรมศิลปากร โดยกรมศิลปากรรับเป็นช่างออกแบบปั้นหุ่น ทั้งแบบก่อสร้างแท่นฐานทั้งหมด งบประมาณการก่อสร้างเป็นของจังหวัดกับเทศบาลเมืองอุบลฯ ร่วมกันจัดหา
มีเกร็ดเกร็ดน้อยเกี่ยวกับการสร้างอนุสาวรีย์ เนื่องจาก นายพิศาล มูลศาสตร์สาทร ปลัดกระทรวงมหาดไทยสมัยนั้นกล่าวว่า ถ้าจะสร้างอนุสาวรีย์เจ้าคำผง ก็ต้องสร้างอนุสาวรีย์ของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสโส อ้วน) ด้วย เพราะท่านเป็นพระราชาคณะชั้นสมเด็จองค์แรกของเมืองอุบลฯ และเป็นสังฆนายกองค์แรกของเมืองไทยด้วย เรือตรีดนัยจึงนำกลับมาหารือกับคณะกรรมการฯ อีกครั้ง และได้รับอนุมัติให้สร้างด้วย
ภายหลังต่อมา เรือตรีดนัย ได้เข้าไปกราบนมัสการต่อท่านเจ้าคุณ พระพรหมมุนี เจ้าอาวาสวัดนรนาถ กรุงเทพฯ เพราะท่านเป็นพระเถระที่เป็นที่เคารพบูชาของชาวอุบลฯ ท่านเจ้าคุณทักท้วงว่า ถ้าจะสร้างอนุสาวรีย์สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ก็ต้องสร้างอนุสาวรีย์ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจันโท จันทร์) อีกด้วยจึงจะถูก เพราะท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ เป็นพระอาจารย์ของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ และถือว่าท่านเป็นนักปราชญ์ใหญ่องค์แรกของเมืองอุบลฯ ด้วย
ที่สำคัญ มีคำจารึกของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ที่ "หอเขียว" วัดบรมนิวาส ปรากฎข้อความที่แสดงเจตนาไว้ว่า "หากผู้ใดจะเชิดชูข้าพเจ้าไม่ว่ากรณีใดๆ ขอให้เชิดชูท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจันโท จันทร์) ซึ่งเป็นพระอาจารย์ที่เคารพของข้าพเจ้าก่อน ...... หากไม่ปฏิบัติตามนี้ ข้าพเจ้าจะไม่ยอมรับการเชิดชูนั้นๆ เป็นอันขาด"
ที่ไกด์อุบลต้องเล่าออกนอกเรื่องการสร้างอนุสาวรีย์เจ้าคำผงไป เพราะจะได้เข้าใจว่า ทำไมจังหวัดอุบลฯ จึงมีอนุสาวรีย์ของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ และอนุสาวรีย์พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ ด้วย นั่นเอง
กลับมาที่อนุสาวรีย์พระประทุมวรราชสุริยวงษ์ (เจ้าคำผง) กันต่อครับ เหตุใดพระรูปเจ้าคำผงจึงหันหน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้
เรื่องนี้ เป็นไปตามข้อกำหนดของคณะกรรมการก่อสร้างอนุสาวรีย์แห่งชาติ ที่กำหนดให้การประดิษฐานพระรูป "เจ้าคำผง" ณ แท่นฐานอนุสาวรีย์ หันหน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ อันเป็นทิศที่ตั้งของพระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (พระแก้วมรกต) เนื่องจาก
1. เจ้าคำผง เป็น "ข้าหลวงเดิม" ของพระบาทมสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เนื่องจากได้ถวายตัวเมื่อก่อนเสวยราช ได้ร่วมทัพจับซึกสงคราม และร่วมราบกบฏหลายครั้ง
2. เมื่อรัชกาลที่ 1 ปราบดาภิเษกขึ้นเสวยราชย์แล้ว ได้โปรดเกล้าฯ สถาปนา "ข้าหลวงเดิม" ครองเมือง "อุบลราชธานี"
3. เจ้าคำผง เป็นแม่ทัพหน้ากำลังสำคัญในการร่วมนำกองทัพเจ้าพระยาจักรี เจ้าพระยาสุรสีห์ โจมตีกรุงเวียงจันทน์จนแตกพ่าย และอัญเชิญ "พระแก้วมรกต" กลับคืนสู่ราชอาณาจักรไทย เป็นมิ่งขวัญคู่พระบารมีพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรีทุกพระองค์
4. เหตุที่อนุสาวรีย์เจ้าคำผงประดิษฐานไว้ที่ทุ่งศรีเมือง เนื่องจากเป็นที่ตั้ง "เมรุนกหัสดีลิงค์" ของพระศพพระประทุมวรราชสุริยวงษ์ (เจ้าคำผง) เมื่อปี พ.ศ.2338 นั่งเอง
ทั้ง 4 ประการข้างต้นนี้เอง จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่อนุสาวรีย์พระประทุมวรราชสุริยวงษ์ (เจ้าคำผง) อยู่ที่ทุ่งศรีเมือง และมีการหันหน้าอนุสาวรีย์ไปทางกรุงเทพมหานคร
กรมศิลปากรกำหนดเคลื่อนย้ายรูปหล่อมาถึงวัดสุปัฏนารามวรวิหาร วันที่ 29 สิงหาคม 2532 มีพิธีพราหมณ์และพิธีสงฆ์อย่างยิ่งใหญ่ จากนั้นวันที่ 30 สิงหาคม 2532 จึงได้อัญเชิญพระรูปทั้ง 3 องค์ เข้าขบวนแห่ไปยังที่แท่นประดิษฐานที่จัดเตรียมไว้ และประกอบพิธีเปิดอนุสาวรีย์ทั้ง 3 องค์ ที่ศาลาจตุรมุข ทุ่งศรีเมือง เพื่อให้ประชาชนได้เข้ากราบไหว้สักการะมาจนกระทั่งทุกวันนี้