ผ้าซิ่นไหมมัดหมี่ ที่ชาวอุบลฯ ทูลเกล้าฯ ถวาย
ในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2558 จังหวัดอุบลราชธานีจัดงานใหญ่ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรชาวอุบลราชธานี ครบ 60 ปี เมื่อ พ.ศ.2498 โดยชาวอุบลฯ จำนวน 60,000 คน จะมาร่วมฟ้อนรำถวายพร้อมๆ กัน ณ บริเวณทุ่งศรีเมืองและพื้นที่โดยรอบ
นอกจากความประทับใจในพระจริยวัตรของทั้งสองพระองค์ ที่ทรงห่วงใยราษฎรอย่างหาที่สุดมิได้แล้ว ไกด์อุบลยังจำเรื่องที่นายสุวิชช คูณผล ปราชญ์เมืองอุบล เคยเขียนเล่าบันทึกเหตุการณ์เรื่อง "ผ้าซิ้นไหมมัดหมี่ทูลเกล้าฯ ถวาย" http://guideubon.com/news/view.php?t=34&s_id=1&d_id=1 อันเป็นความปลาบปลื้มใจที่อยากนำมาเล่าต่ออีกครั้งหนึ่งครับ
ย้อนไปเมื่อต้นปี พ.ศ.2493 สำนักพระราชวังได้ประกาศ หมายกำหนดการ พระราชพิธีอภิเษกสมรส สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพล กับ มรว.สิริกิต์ กิติยากร ในวันที 28 เมษายน พ.ศ.2493 ชาวอุบลฯ ทราบข่าวด้วยความโสมนัส ปีติยินดีทั่วกัน จังหวัดอุบลราชธานีสมัยนั้น มีนายเลียง ไชยกาล เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และเป็น ส.ส. ด้วย นางอรพิน ไชยกาล เป็นสมาขิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ได้ปรึกษาหารือกับชาวเมืองอุบลฯ ว่า ควรจะมีของขวัญของคนอุบลฯ 1 ชิ้น นำทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายในวันอภิเษกสมรส จึงมีมติตกลงกันว่า ให้ทอผ้าซิ่นไหมมัดหมี่ 1 ผืน โดยมอบหมายให้นายสวน นางสงวนศักดิ์ คูณผล ร่วมกับช่างทอผ้าที่มีฝีมือในเมืองอุบลฯ ไปดำเนินการ
นายสวน ได้ออกแบบผ้าซิ่นมัดหมี่สีพื้นเป็นเม็ดมะปราง ตอนล่างของผ้าซิ่นมีรูปนกยูงรำแพนสีขาวนวล ผ้าซิ่นผืนนี้ ทอด้วยกี่ทอมือ ใต้ถุนบ้านเลขที่ 314 ถนนพิชิตรังสรรค์ สี่แยกศาลจังหวัดอุบลราชธานี คือ บ้านของหมื่นวิชิตอักษร และนางหอม คูณผล นอกจากนางสงวนศักดิ์ เป็นผู้ทอเริ่มตันแล้ว มีช่างทอฝีมือดีอีกหลายคน มาร่วมกันทอ เพื่อให้ได้ชื่อว่า ชาวอุบลฯ ร่วมมือร่วมใจกันรังสรรค์ของขวัญทูลเกล้าฯ ด้วยความจงรักภักดีหาที่สุดมิได้ เมื่อการทอผ้าซิ่นไหมมัดหมี่ประวัติศาสตร์ผืนนี้เสร็จเรียบร้อย รมต.เลียง ไชยกาล และคณะก็ได้นำทูลเกล้าฯ ถวายตามความมุ่งหมายต่อไป
ต่อมา เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2498 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินี เพื่อทรงเยี่ยมพสกนิกรชาวอุบลราชธานี และได้เสด็จประทับที่พลับพลาหน้าศาลากลางจังหวัดหลังเดิม (พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติจังหวัดอุบลราชธานี ในปัจจุบัน) ณ พลับพลาที่ทางจังหวัดจัดถวาย มีผู้แทนราษฎร เช่น นางอรพิน ไชยกาล และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของจังหวัดอุบลราชธานีเข้าเฝ้าใกล้ชิด รวมทั้ง ขุนวรเวธวรรณกิจ เตรียมไม้เท้าแกะสลักสวยงามผูกริบบิ้น ถวายในหลวงด้วย
ขุนวรเวธวรรณกิจ เล่าว่า ตื่นเต้นดีใจมาก ที่เห็นสมเด็จฯ ฉลอง พระองค์ด้วยผ้าซิ่นไหมมัดหมี่เม็ดมะปราง มีลายนกยูงลำแพนสีขาวนวลที่ช่วงล่าง ระหว่างขุนวรเวธวรรณกิจ ทูลเกล้าฯ ถวายไม้เท้า ทั้งสองพระองค์ได้ทรงปฏิสันถารด้วยอย่างไม่ถือพระองค์
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินี รับสั่งถามว่า "คุณลุงเป็นคนอุบลฯ เคยเห็นผ้าซิ่นผืนนี้มาก่อนไหม"
ขุนวรเวธวรรณกิจ กราบบังคมทูลด้วยความปลาบปลื้มว่า "ลูกสาวคนโตของข้าพระพุทธเจ้า เป็นผู้ทอผ้าซิ่นผืนนี้ร่วมกับช่างทอชาวอุบลฯ ได้ร่วมงานตั้งแต่เริ่มต้นจึงจำได้อย่างแม่ยำ"
นางอรพิน ไชยกาล ส.ส. อุบลฯ ซึ่งเข้าเฝ้าใกล้ชิดตลอดเวลา ก็ได้กราบบังคมทูลว่า ตนได้เป็นผู้ร่วมคิดและร่วมทอผ้าซินไหมมัดหมี่นี้ด้วย
สมเด็จฯ ทรงแย้มสรวล และรับสั่งอีกว่า "คนอุบลฯ เขาให้ผ้าซิ่นผืนนี้เป็นของขวัญวันอภิเษกสมรส เมื่อมาเยี่ยมอุบลฯ จึงนำมานุ่งให้คนอุบลฯ เขาดู"
ในขณะที่ทรงรับสั่งถึงผ้าซิ่นประวัติศาสตร์ผืนนี้ นายเกียรติ ธนกุล ข้าหลวงประจำจังหวัดอุบลราชธานี ในสมัยนั้นได้ร่วมรับฟังอยู่ด้วย ได้กล่าวกับผู้เฝ้ารับเสด็จว่า นับเป็นสิริมงคลแก่ชาวอุบลฯ เป็นอย่างยิ่ง ที่สมเด็จฯ ฉลองพระองค์ด้วยผ้าซิ่นไหมมัดหมี่ที่ชาวอุบลฯ ทูลเกล้าฯ ถวายเป็นของขวัญในพระราชพิธีอภิเษกสมรส ในวันเสด็จเยี่ยมพสกนิกรชาวอุบลฯ เพราะใครจะคาดคิดว่า เวลาผ่านไปตั้ง 5 ปี สมเด็จฯ พระราชินีฯ ยังทรงจำของขวัญที่ชาวอุบลฯ ทูลเกล้าฯ ถวายได้ ทั้งๆ ที่มีของขวัญมากมายทั่วโลก หลังจากนั้น ทั้งสองพระองค์เสด็จลงจากพลับพลาที่ประทับ เพื่อเยี่ยมพสกนิกรชาวอุบลฯ ที่เฝ้าคอยอย่างเนืองแน่นก่อนเช้าตรู่ บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดหลังเดิม เป็นเวลาหลายชั่วโมง
นางอรพิน ไชยกาล ได้โดยเสด็จเพื่อถวายรายงานอย่างใกล้ชิด ได้แจ้งให้ชาวอุบลฯ ที่เฝ้ารับเสด็จทราบว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินี ฉลองพระองค์ด้วยผ้าซิ่นไหมมัดหมี่ที่ชาวอุบลฯ ทูลเกล้าฯ ถวายในพระราชพิธีอภิเษกสมรส เมื่อ 28 เมษายน 2493 ซึ่งทรงรับสั่งว่า "นุ่งผ้าซิ่นของชาวอุบลฯ ให้คนอุบลฯ เขาดู" ชาวอุบลฯ ปลาบปลื้มปิติเป็นล้นพ้น รู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้า ล้นกระหม่อม จวบจนบัดนี้
เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวประทับใจที่ไกด์อุบลอยากนำมาเล่าอีกครั้ง ในโอกาสที่ชาวอุบลฯ จำนวนถึง 6 หมื่นคน จะฟ้อนรำถวาย เนื่องในโอกาสครบรอบ 60 ปี ที่ทั้งสองพระองค์เสด็จฯ จังหวัดอุบลราชธานีครับ