บุญข้าวประดับดิน วันแรม 14 ค่ำ เดือน 9
บุญข้าวประดับดิน หรือบุญ(ห่อข้าวน้อย) ประเพณีอีสาน หลังจากเข้าพรรษาไปได้ประมาณหนึ่งเดือน อีกหนึ่งฮีตคองประเพณีอีสานบ้านเรา จัดขึ้นเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว และสัตว์นรกหรือเปรต ชาวบ้านจะนำข้าวปลา อาหาร คาวหวาน ผลไม้ หมาก พลู บุหรี่ มาห่อด้วยใบตอง และทำเป็นห่อเล็ก ๆ ก่อนจะนำไปวางตามโคนต้นไม้ใหญ่หรือตามพื้นดินบริเวณรอบ ๆ เจดีย์ หรือโบสถ์ สำหรับปี 2567 นี้ ตรงกับวันที่ 2 กันยายน 2567
โดยการทำบุญข้าวประดับดินนี้ ชาวบ้านเชื่อว่า เป็นการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว รวมถึงอุทิศส่วนกุศลให้กับสัตว์นรก หรือเปรต นอกจากนี้ ประเพณีบุญข้าวประดับดินยังถือเป็นวันสำคัญที่ชาวบ้านจะทำทานให้แก่ผู้ยากไร้ รวมถึงช่วยเหลือสัตว์น้อยใหญ่อีกด้วย
มูลเหตุของความเป็นมา ของเรื่องการทำบุญข้าวประดับดินนี้ เกิดจากความเชื่อตามนิทานธรรมบท ว่า "ญาติของพระเจ้าพิมพิสารได้ยักยอกเงินวัด ของสงฆ์ต่างๆ ไปเป็นของตนเอง ในสมัยพระกัสสปะพุทธเจ้า พวกอดีตญาติของพระเจ้าพิมพิสารเหล่านั้น ครั้นตายไปแล้วได้ไปเกิดเป็นเปรตในนรกตลอดพุทธันดร เมื่อพระเจ้าพิมพิสารถวายทานแด่พระสมณโคดมพุทธเจ้าในภัททกัปป์นี้ ก็ไม่ได้กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลไปให้แก่พวกญาติเหล่านั้น พอตกกลางคืนพวกเปรตญาติของพระเจ้าพิมพิสารเหล่านั้น ได้มาส่งเสียงร้องอันโหยหวนและแสดงรูปร่างน่ากลัวให้แก่พระเจ้าพิมพิสารได้ยินและเห็น พอเช้าวันรุ่งขึ้นได้เสด็จไปถามพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงเล่าเรื่องราวที่เป็นมูลเหตุให้พระเจ้าพิมพิสารได้ทรงทราบ พระเจ้าพิมพิสารได้ทำบุญถวายทานอีก แล้วทรงอุทิศส่วนกุศลไปให้ พวกญาติที่ตายไปแล้วได้รับส่วนกุศล แล้วได้มาแสดงตนให้พระเจ้าพิมพิสารเห็นและทราบว่า ทุกข์ที่พวกญาติได้รับนั้นทุเลาเบาบางลงแล้ว เพราะการอุทิศส่วนกุศลของพระองค์ "ชาวอีสานจึงถือเอามูลเหตุนี้ ทำบุญข้าวประดับดิน ติดต่อกันมา"
พิธีกรรมบุญข้าวประดับดิน
วันแรม 13 ค่ำ เดือน 9 หรือก่อนวันบุญข้าวประดับดิน จะมีการเตรียมอาหารคาวหวาน หมาก พลู และบุหรี่ไว้สี่ส่วนด้วยกัน ส่วนที่หนึ่งเตรียมไว้ให้กับคนในครอบครัว ส่วนที่สองให้แก่ญาติพี่น้อง ส่วนที่สามอุทิศให้แก่ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว และส่วนที่สี่นำไปถวายแด่พระสงฆ์ ในอาหารคาวหวานส่วนที่สามนั้น จะเป็นการ “ห่อข้าวน้อย” นั่นคือเอาใบตองมาห่ออาหาร โดยใช้ขนาดเท่าฝ่ามือ อาหารที่ห่อใส่ไว้ในใบตอง ได้แก่
1.ข้าวเหนียวนึ่งสุก ปั้นเป็นก้อนเล็ก ๆ ขนาดเท่าหัวแม่มือ 1 ก้อน
2.ใส่เนื้อปลา เนื้อไก่ เนื้อหมูลงไปเล็กน้อย
3.กล้วย น้อยหน่า ฝรั่ง มะละกอ มันแกว อ้อย มะละกอสุก หรือขนมหวานอื่น ๆ
4.หมากหนึ่งคำ บุหรี่หนึ่งมวน เมี่ยงหนึ่งคำ
วันแรม 14 ค่ำ เดือน 9 ชาวบ้านจะไปวัดตั้งแต่เวลาตี 4 เพื่อนำสิ่งของที่เตรียมไว้จัดใส่กระทง หรือเย็บเป็นห่อเหมือนข้าวสากไปวางอุทิศส่วนกุศลตามที่ต่าง ๆ ซึ่งการวางแบบนี้ เรียกว่า การวางห่อข้าวน้อย แต่หากเป็นการนำไปวางในวัด จะเรียกว่า การยาย (วางเป็นระยะ ๆ ) ห่อข้าวน้อย ซึ่งเวลานำไปวางจะพากันไปทำอย่างเงียบ ๆ ไม่มีการตีฆ้อง ตีกลองแต่อย่างใด
หลังจากวางเสร็จแล้ว ชาวบ้านจะกลับบ้านเพื่อเตรียมอาหารทำบุญที่วัดอีกทีหนึ่งในตอนเช้า เมื่อพระสงฆ์ฉันเช้าเสร็จก็จะเทศน์ฉลองบุญข้าวประดับดิน ต่อจากนั้น ชาวบ้านจะนำปัจจัยไทยทานถวายแด่พระสงฆ์ เมื่อพระสงฆ์ให้พรเสร็จ ชาวบ้านที่มาทำบุญก็จะกรวดน้ำ อุทิศส่วนกุศลไปให้ญาติผู้ที่ล่วงลับไปแล้วทุก ๆ คน
"บุญข้าวประดับดิน" กับ "บุญข้าวสาก" แตกต่างกันไหม
ทั้งสองประเพณีนี้เป็นการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับเหมือนกัน แต่มีความแตกต่างกันในเรื่อง "วันและเดือน" ที่กำหนดขึ้นเพื่อทำบุญ ประเพณีบุญข้าวประดับดิน (ทำบุญเดือนเก้า) ตรงกับวันแรม 14 ค่ำ เดือน 9 ถือเป็นการทำบุญแบบรวมทั้งหมด ไม่จำกัดว่าต้องอุทิศไปให้ใคร ส่วนประเพณีบุญข้าวสาก (ทำบุญเดือนสิบ) ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 โดยจะจัดขึ้นเพื่อทำบุญให้แก่บรรพบุรุษและญาติผู้ล่วงลับ ซึ่งจะมีการระบุชื่อไว้อย่างชัดเจน