guideubon

 

 

อุบลเมืองนักปราชญ์ ศิลปินแห่งชาติ 16 ราย พระราชาคณะชั้นสมเด็จ 5 รูป

เมืองนักปราชญ์-ศิลปินแห่งชาติ-01.jpg

จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับการขนานนามว่าเป็น ดินแดนแห่งนักปราชญ์ เนื่องมาจากความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมืองในแต่ละด้าน ได้แก่ การเมือง การปกครอง การทหาร การศึกษา การศาสนา และศิลปวัฒนธรรม ที่ได้รับความร่วมมือจากบุคคลในท้องถิ่น ในการสร้างสรรค์ผลงานสู่สังคม จนสร้างชื่อเสียงเกียรติคุณให้กับจังหวัด และคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ

ทั้งพระภิกษุสงฆ์ ครู อาจารย์ นักปกครอง นักการเมือง นักสังคมสงเคราะห์ นักสาธารณสุข นักร้อง/นักดนตรี ดารา/นักแสดง ศิลปิน นักการเกษตร นักกีฬา และภูมิปัญญาท้องถิ่นหลากหลายสาขา จนมีคำกล่าวขานถึงความโดดเด่นสองเมืองใหญ่ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ว่า “ นักมวยเมืองโคราช นักปราชญ์เมืองอุบล

ที่สำคัญด้านการศาสนา จังหวัดอุบลราชธานี มีวัดมากกว่าพันแห่ง มีพระภิกษุสงฆ์ สามเณรจำนวนมาก ได้สืบทอดพระพุทธศาสนาให้มีความเจริญรุ่งเรืองถึงปัจจุบัน และมีพระสงฆ์ ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ ชั้นสมเด็จถึง 5 รูป คือ

พระราชาคณะ-ชั้นสมเด็จ-ชาวอุบล-01.jpg

1. สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสโส)
​ชาติภูมิ นามเดิม อ้วน นามสกุล แสนทวีสุข เกิดวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2410 ที่บ้านแคน ตำบลดอนมดแดง อำเภอเมืองอุบลราชธานี นามบิดามารดา คือ เพี้ย เมืองกลาง นางบุดสี ซึ่งบิดามีตำแหน่งเป็นกรมการเมืองอุบล

2. สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์ ธัมมะธะโร)
​ชาติภูมิ นามเดิม พิมพ์ นามสกุล แสนทวีสุข เกิดเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2440 ที่บ้านสว่าง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี นามบิดามารดาคือ นายทอง นางนวล แสนทวีสุข

3. สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (สนั่น จันทะปัชโชโต)
​ชาติภูมิ นามเดิม สนั่น นามสกุล สรรพสาร เกิดวันที่ 8 กันยายน พ.ศ.2451 ที่บ้านหนองบ่อ อำเภอเมืองอุบลราชธานี นามบิดามารดาคือ นายคำพ่วย นางแอ้ม สรรพสาร นายคำพ่วย มีตำแหน่งเป็น กำนันตำบลหนองบ่อ

4. สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวะโร)
​ชาติภูมิ นามเดิม กงมา นามสกุล ก่อบุญ เกิดเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ.2460 ที่บ้านบ่อชะเนง ตำบลหนองแก้ว อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี นามบิดามารดา นายช่วย นางกา ก่อบุญ

5. สมเด็จพระมหาธีราจารย์ (ปสฤทธ์ เขมงกโร)​
ชาติภูมิ นามเดิม ประสิทธิ์ นามสกุล สุทธิพันธ์ เกิดวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ.2480 ที่บ้านยางน้อย ตำบลก่อเอ้ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี นามบิดามารดา ขุนก่อเอ้อุกฤษ (ผา) นางก่อเอ้อุกฤษ (ตา) สุทธิพันธ์

ศิลปินแห่งชาติ-ชาวอุบล-01.jpg

สำหรับ 16 ศิลปินแห่งชาติ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งได้รับการคัดเลือกตั้งแต่รุ่นแรก ถึงปัจจุบัน มีดังนี้

1. นายคำหมา แสงงาม ศิลปินแห่งชาติ ปี พ.ศ.2529 สาขา ทัศนศิลป์ ( ปั้น แกะสลัก)
2. นายทองมาก จันทะลือ ศิลปินแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2529 สาขา ศิลปะการแสดง (หมอลำ)
3. นายเฉลิม นาคีรักษ์ ศิลปินแห่งชาติ ปี พ.ศ.2531 สาขา ทัศนศิลป์ (จิตรกรรม)
4. นายเคน ดาเหลา ศิลปินแห่งชาติ ปี พ.ศ.2534 สาขา ศิลปะการแสดง (หมอลำ)
5. นางฉวีวรรณ ดำเนิน ศิลปินแห่งชาติ ปี พ.ศ.2536 สาขา ศิลปะการแสดง (หมอลำ)
6. นางบุญเพ็ง ไฝผิวชัย ศิลปินแห่งชาติ ปี พ.ศ.2540 สาขา ศิลปะการแสดง (หมอลำ)
7. นายคำพูน บุญทวี ศิลปินแห่งชาติ ปี พ.ศ.2544 สาขา วรรณศิลป์ (วรรณศิลป์)
8. นายฉลาด ส่งเสริม ศิลปินแห่งชาติ ปี พ.ศ.2548 สาขา ศิลปะการแสดง (หมอลำ)
9. นายเผ่า สุวรรณศักดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติ ปี พ.ศ.2553 สาขา ทัศนศิลป์ (ประยุกต์ศิลป์)

10. นางบานเย็น รากแก่น ศิลปินแห่งชาติ ปี พ.ศ.2556 สาขา ศิลปะการแสดง (หมอลำ)
11. นายพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ศิลปินแห่งชาติ ปี พ.ศ.2557 สาขา ศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยลูกทุ่ง)
12. นายสมบัติ เมทะนี ศิลปินแห่งชาติ ปี พ.ศ.2559 สาขา ศิลปะการแสดง ( ภาพยนตร์และโทรทัศน์)
13. นางคำปุน ศรีใส ศิลปินแห่งชาติ ปี พ.ศ.2561 สาขา ทัศนศิลป์ (ทอผ้า)
14. นายวิชชา ลุนาชัย ศิลปินแห่งชาติ ปี พ.ศ.2564 สาขา วรรณศิลป์ (วรรณศิลป์ฉ
15. นายมีชัย แต้สุจริยา ศิลปินแห่งชาติ ปี พ.ศ.2564 สาขา ทัศนศิลป์ ( ทอผ้า)
16. นายสลา คุณวุฒิ ศิลปินแห่งชาติ ปี พ.ศ.2564 สาขา ศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล ประพันธ์เพลงไทยลูกทุ่ง)

ศิลปินแห่งชาติ-01.jpg

ความเป็นมา : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้จัดทำโครงการศิลปินแห่งชาติ มาตั้งแต่ พ.ศ. 2527 เพื่อสรรหา ส่งเสริมสนับสนุนและช่วยเหลือศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่มีคุณค่าของแผ่นดินไทย โดยมีสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติเป็นผู้พิจารณา นอกจากนี้คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้วันที่ 24 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันศิลปินแห่งชาติอีกด้วย

ศิลปินแห่งชาติ มี 4 สาขา คือ
1. สาขา ทัศนศิลป์ ได้แก่งานจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพถ่าย ภาพพิมพ์และสื่อผสม
2. สาขา ศิลปะสถาปัตยกรรม ได้แก่งานออกแบบ งานก่อสร้าง และงานสร้างสรรอื่นๆที่มีคุณค่าทางศิลปะ
3. สาขาศิลปะการแสดง ได้แก่ การละคร การดนตรีแขนงต่างๆ รวมถึงการแสดงพื้นบ้านด้วย
4. สาขา วรรณศิลป์ ได้แก่งานประพันธ์ชนิดต่างๆ ทั้งนิยาย นวนิยาย บทกวี บันเทิงคดีและเรื่องสั้น เป็นต้น

รางวัลเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติเริ่มมีการประกาศครั้งแรกในปี พ.ศ. 2528 และมีการประกาศรายชื่อเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นศิลปินแห่งชาติ จะต้องมีคุณสมบัติ 7 ประการดังนี้

1. เป็นผู้มีสัญชาติไทยและยังมีชีวิตอยู่ในวันตัดสิน
2. เป็นผู้มีความสามารถ มีความเชี่ยวชาญ และมีผลงานดีเด่นเป็นที่ยอมรับของวงการศิลปะแขนงนั้น
3. เป็นผู้สร้างสรรค์และพัฒนาศิลปะแขนงนั้นจนถึงปัจจุบัน
4. เป็นผู้ผดุงและถ่ายทอดศิลปะแขนงนั้น
5. เป็นผู้ปฏิบัติงานศิลปะแขนงนั้นอยู่ในปัจจุบัน
6. เป็นผู้มีคุณธรรมและมีความรักในวิชาชีพของตน
7. เป็นผู้มีผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและมนุษยชาติ

สำหรับศิลปินแห่งชาติ จะได้รับสวัสดิการประกอบด้วย ค่าตอบแทนรายเดือน เดือนละ 25,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่มีชีวิตอยู่ ค่ารักษาพยาบาลตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลโดยอนุโลม เว้นแต่มีสิทธิเบิกจากหน่วยงานอื่น ให้เบิกจากหน่วยงานนั้นก่อน ถ้าเบิกจากหน่วยงานนั้นได้ต่ำกว่าสิทธิตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ให้มีสิทธิเบิกในส่วนที่ยังขาดอยู่ได้อีกภายในวงเงินไม่เกิน 100,000 บาทต่อปีงบประมาณ เงินช่วยเหลือเมื่อประสบสาธารณภัย รายละไม่เกิน 50,000 บาทต่อครั้ง ค่าของเยี่ยมในยามเจ็บป่วยหรือในโอกาสสำคัญเท่าที่จ่ายจริง รายละไม่เกิน 3,000 บาทต่อครั้ง และกรณีเสียชีวิตจะได้รับเงินช่วยเหลือบำเพ็ญกุศลศพ รายละ 20,000 บาท และเงินช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตเท่าที่จ่ายจริง รายละไม่เกิน 150,000 บาท

ศิลปินแห่งชาติ-ชาวอุบล-02.jpg

จังหวัดอุบลราชธานี ยังมีมรดกทางวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทรัพยากรบุคคล ที่มีความรู้ ความสามารถ ที่ได้รับรางวัลอันสูงส่งและมีคุณค่า เชิดชูเกียรติ เป็นแบบอย่างแก่สังคม และยังมีอีกส่วนหนึ่งที่สมควรได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ ในโอกาสต่อไป เช่น นายทองใส ทับถนน นายสมคิด สอนอาจ นายโชคชัย ตักโพธิ์ นายวิเชียร ภาดี นายประดับ ก้อนแก้ว นายสุวัฒน์ สุทธิประภา นายมนัส สุขสาย นายรังสรรค์ วงศ์งาม นางอังค์นาง คุณไชย นางทองแปน พันบุปผา นายคำเก่ง บัวใหญ่ และ นายสุรสีห์ ผาธรรม เป็นต้น จนมีการกล่าวขาน ว่า อุบลราชธานี เมืองนักปราชญ์ ราชธานีแห่งหมอลำ ราชธานีแห่งศิลปิน หรือ ราชธานีแห่งธรรม นับเป็นจังหวัดเดียวในประเทศไทย ที่มีคำต่อท้ายชื่อเมืองว่า “ ราชธานี” และจังหวัดอุบลราชธานี จะครบ 230 ปี ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2565 นี้

ปัญญา แพงเหล่า/รายงาน
พฤษภาคม 2565

 

copyright 2005 www.GuideUbon.com สำนักงานไกด์อุบลดอทคอม เลขที่ 89/1 ถนนพโลรังฤทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 ติดต่อไกด์อุบล : webmaster@guideubon.com | msn : guide_ubon@hotmail.com | Tel : 080-4850511