โบสถ์รูปทรงแปลกตา กับปรัชญาหลวงพ่อชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง
พลันที่ภาพมุมสูงในวัดหนองป่าพง ปรากฏบนเฟสบุ้คของ กตภัน แก้วสง่า ก็มีคำถามมากมายว่า อาคารสีขาวที่เห็นนั้นคืออะไร เมื่อได้คำตอบแล้วว่า คือ โบสถ์วัดหนองป่าพง ก็มีคำชื่นชมว่าสวยงาม แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่า โบสถ์นี้มีแนวคิดในการสร้างอย่างไร ส่วนไกด์อุบล มองโบสถ์วัดหนองป่าพง เหมือนตะพาบน้ำมากๆ ครับ
เรื่องโบสถ์วัดหนองป่าพงนี้ มีปราชญ์เมืองอุบลฯ คุณพ่อสุวิชช คูณผล ได้เคยเขียนเล่าความเป็นมาไว้ เมื่อครั้งท่านดำรงตำแหน่งปลัดเทศบาลวารินชำราบ โดยเขียนเป็นบทความตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์หอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี เดือนตุลาคม 2546 ไกด์อุบลเห็นว่าน่าสนใจ จึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่อีกครั้ง และขอขอบคุณ นาย กตภัน แก้วสง่า สำหรับภาพประกอบมา ณ โอกาสนี้
วันที่ 8 มีนาคม 2497 หลวงพ่อชา พาคณะพระธุดงค์เข้าสำรวจ "ดงหนองป่าพง" ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านก่อ อันเป็นบ้านเกิดของหลวงพ่อ 2-3 กม. เพื่อพำนักเป็นแหล่งสุดท้ายแห่งชีวิตธุดงค์ของหลวงพ่อชา ซึ่งโยมพ่อของท่านเล่าว่า ป่าดงแห่งนี้ ได้มีพระกรรมฐานธุดงค์มาปักกลดหลายองค์ รวมทั้งหลวงปู่ เสาร์ กนฺตสีโล (อาจารย์ของหลวงปู่มั่น ภูริทดโต) และหลวงปู่พุธฐานิโย (อดีตเจ้าคณะอำเภอวารินชำราบ, เจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ, เจ้าอาวาสวัดป่าสาละวัน นครราชสีมา) ดงหนองป่าพง เนื้อที่ประมาณ 300 ไร่ จึงกลายเป็นวัดป่าที่สงบร่มเย็น น่าเลื่อมใสศรัทธา มีชื่อว่า "วัดหนองป่าพง" มาจนทุกวันนี้
ผู้เขียน (สุวิชช คูณผล) ย้ายจากชะอำ เพชรบุรี มาเป็นปลัดเทศบาลที่วารินชำราบ 15 ตุลาคม 2505 ยังไม่รู้จักวัดหนองป่าพง จนกระทั่ง พ.ศ. 2512 ได้รับโทรศัพท์จาก อ.สงัด สันตะพันธุ์ อาจารย์ ศ.อ.ศ.อ. ว่า "ผู้เกี่ยวชาญองค์การ UNESCO ชาวอังกฤษ จะไปเยี่ยมญาติซึ่งบวชอยู่ที่วัดหนองป่าพง ขอให้นำทางพาไปด้วย" ผู้เขียนจึงแปลกใจว่า วัดหนองป่าพงมีอะไรดีเป็นพิเศษอย่างไร จึงทำให้ชาวอารยะจากโพ้นทวีป เช่น อังกฤษ อเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย มาบวชศึกษาธรรมจำนวนมาก และสงสัยเหมือนกับประชาชนทั่วไปว่า หลวงพ่อชา พูดได้เฉพาะภาษาอีสาน ภาษากลางก็ไม่ค่อยถนัด ส่วนภาษาฝรั่ง อังกฤษ พูดไม่ได้เลย ฝรั่งที่มาบวชก็ไม่คุ้นกับภาษาอีสาน หรือภาษาไทย หลวงพ่อสอนฝรั่งให้เข้าใจในหลักธรรมได้อย่างไร ?
เมื่อกราบนมัสการถามท่าน หลวงพ่อมีคำตอบเปรียบให้ฟังอย่างคมคายว่า "น้ำฮ้อนก็มี น้ำร้อนก็มี ฮอทวอเตอร์ก็มี มันเป็นแต่ชื่อภายนอก ถ้าเอามือจุ่มลงไป ก็ไม่ต้องใช้ภาษาหรอก คนชาติไหนก็รู้ได้เอง" บางทีท่านตั้งคำถามเอากับพวกสงสัยในเรื่อง "ที่บ้านโยมมีสัตว์เลี้ยงไหม อย่างหมาแมวหรือวัวควายอย่างนี้ เวลาพูดกับมัน โยมต้องรู้ภาษาของมันด้วยหรือเปล่า" เคล็ดลับในการสอนของหลวงพ่อ มีอยู่เพียงประการเดียว และไม่ใช่เรื่องลี้ลับเลย นั่นคือ ท่านสอนด้วยการกระทำ จึงไม่จำเป็นต้องใช้ภาษามาก
ดังที่ท่านชี้แจงให้ฟังว่า "ถึงแม้มีลูกศิษย์เมืองนอกมาอยู่ด้วยมากๆ อย่างนี้ ก็ไม่ได้เทศน์ให้เขาฟังมากนัก พาเขาทำเอาเลย ทำดีได้ดี ถ้าทำไม่ดีก็ได้ของไม่ดี พาเขาทำดู เมื่อทำจริงๆ ก็เลยได้ดี เขาก็เลยเชื่อ ไม่ใช่มาอ่านหนังสือเท่านั้นนะ ทำจริงๆ นั่นแหละ สิ่งใดไม่ดีก็ละมัน อันไหนไม่ดีก็เลิกมันเสีย มันก็เป็นความดีขึ้นมา" การสอนแบบ "พาเขาทำเอาเลย" นี้ บางทีหลวงพ่อก็เปรียบเทียบให้ฟังว่า "ไม่ยากหรอก ดึงไปดึงมาเหมือนควาย เดี๋ยวมันก็เป็นเท่านั้นล่ะ"
จุดเด่นและจุดอ่อนของมนุษย์เรา มักจะอยู่ในที่เดียวกัน สำหรับพระฝรั่งส่วนใหญ่ที่มามอบตัวเป็นศิษย์ของหลวงพ่อ จุดนั้นอยู่ที่ความสงสัย หลวงพ่อจึงมีลูกศิษย์ช่างซักซ่างถามอยู่หลายรูป "เมื่อเราทำให้เขาหยุดได้ เขาก็มองเห็นข้างหลังถนัดเลย ฝรั่งเหล่านี้ แต่ครั้งแรกก็เปลืองอาจารย์นิดหน่อย อยู่กับอาจารย์ที่ไหนก็ต้องถามทั้งนั้นแหละ ก็คนไม่รู้จักนี่ ต้องถามจนกว่าหมดสงสัยนั่นแหละ ไม่มีอะไรจะถามถึงหยุด ไม่ยังงั้นก็วิ่งตลอด เวลา...มันร้อน...
ช่วง พ.ศ. 2512 เป็นต้นมา หลวงพ่อชา มีลูกศิษย์รับใช้ใกล้ชิดเพิ่มขึ้นอีก 3 องค์ คือ อ.สงัด สันตะพันธุ์ (ผอ.ศ.อ.ศ.อ.ศนอ. ลำดับที่ 9) อ.ประสิทธิ บุญทรง (ผอ.ศนจ.สมุทรสงคราม 2528-2530 น้องชายพลเรือเอกประเสริฐ บุญทรง อดีต ผบ.ทร.) และผู้เขียน ลูกศิษย์ทั้ง 3 ได้รับความเมตตา ได้รับคำปรึกษาจากหลวงพ่ออยู่เสมอ ในการก่อสร้างตลาดสด และสำนักงานเทศบาลวารินฯ หลังใหม่ ท่านก็เป็นประธานในการวางศิลาฤกษ์ เมื่อคณะกรรมการวัดและศิษยานุศิษย์ได้ประชุมปรึกษาหารือ มีความเห็นพ้องต้องกันว่า วัดหนองป่าพงควรมีโบสถ์ เพื่อเป็นที่ประกอบสังฆกรรมสืบไป
เมื่อได้นำเรื่องการสร้างโบสถ์กราบเรียนหลวงพ่อชา ท่านได้ปรารภว่า "การสร้างโบสถ์ ซึ่งเป็นอาคารขนาดใหญ่ ต้องใช้ปัจจัยจำนวนมาก หลวงพ่อไม่ยินดีในตึกอาคารที่หรูหราฟุ่มเฟือย ฟุ้งเฟ้อ หากมุ่งคุมการก่อสร้างในวัด ให้อยู่ภายในเกณฑ์ที่พอดี สร้างแต่สิ่งมีประโยชน์จริงๆ สร้างให้กลมกลืนกับธรรมชาติ ให้มากที่สุด และในลักษณะที่ไม่ทำลายบรรยากาศ เรียบง่าย มักน้อย สันโดษของวัดป่า หลักการสำคัญที่หลวงพ่อยึดไว้เสมอต้นเสมอปลาย คือ การไม่ขออะไรเลยจากญาติโยม แม้ในทางอ้อมก็ตาม
ฉะนั้น การเจริญโดยวัตถุธรรมของวัดหนองป่าพง ค่อยดำเนินไปอย่างเป็นธรรมชาติ ตามหลัก สีเลน โภคสมฺปทา โดยไม่มีการเรื่ยไรจากชาวบ้านเป็นอันขาด หลวงพ่อสอนอยู่เสมอว่า พระไปยุ่งกับการหาเงินก่อสร้างวัด เป็นสิ่งที่น่าเกลียด แต่ให้ "พระสร้างคน คนจะสร้างวัดเอง" โบสถ์คือ บริเวณหรืออาคารที่พระสงฆ์ใช้เป็นที่ทำสังฆกฐรม ให้สร้างพอคุ้มแดดคุ้มฝน ไม่จำเป็นต้องมีเครี่องประดับให้สิ้นเปลืองแต่อย่างใด
นอกจากนี้ ท่านได้อธิบายให้รายละเอียดว่า วัดป่าพงเป็นวัดใหญ่ มีพระอยู่อาศัยมาก และมีวัดสาขามากมาย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงต้องการให้ออกแบบโบสถ์ที่มีขนาดกว้างใหญ่ สามารถให้พระสงฆ์มารวมกันทำพิธีทางศาสนาได้ถึง 200 รูป เป็นอย่างน้อย ให้พื้นโบสถ์ยกลอยสูงขึ้นจากพื้นดิน พื้นโบสถ์ส่วนที่ลอยนี้ จะใช้เป็นถังเก็บน้าฝนขนาดใหญ่ เพราะวัดมักจะกันดารน้ำในฤดูแล้ง ไม่ควรมีช่อฟ้าใบระกา ตลอดทั้งสิ่งประดับฟุ่มเฟือยต่างๆ เพียงแต่ให้หลังคาคุ้มแดดคุ้มฝนได้ ก็เพียงพอแล้ว ไม่ต้องมีผนัง ประตู หน้าต่าง พื้นโบสถ์ที่อยู่สูง ทำให้ทุกคนมองเห็น และมีความรู้สึกว่าได้ร่วมพิธีกรรม มุ่งในประโยชน์ใช้สอย ประหยัด แข็งแรงทนทาน รูปแบบอาคารให้พยายามดึงเอาส่วนที่เป็นเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรม ศิลปกรรมพื้นเมืองอีสาน เข้ามาผสมปนเปด้วย เป็นการสืบทอดเจตนารมณ์ทางวัฒนธรรม โบสถ์วัดหนองป่าพง สร้างตามปรัชญาหลวงพ่อชา สุภัทโท (พระโพธิญาณเถระ)
หลวงพ่อชา และคณะกรรมการวัด ได้มอบหมายให้ลูกศิษย์ทั้ง 3 ดังกล่าว ไปสรรหาสถาปนิกที่เข้าใจในแนวคิดของหลวงพ่อ แล้วนำสถาปนิกและวิศวกร ตลอดจนทีมงานทั้งหมด มารับฟังปรัชญาการสร้างโบสถ์วัดหนองป่าพง จากหลวงพ่อชาโดยละเอียด พร้อมกับวาดภาพประกอบตามแนวคิดไปด้วย เมื่อหลวงพ่อรับรองว่าถูกต้องตามเจตนารมณ์แล้ว การเขียนแบบโบสถจึงได้เริ่มต้นจนเสร็จการโดยไม่คิดมูลค่าใดๆ
การก่อสร้างโบสถ์วัดหนองป่าพง มีขั้นตอนดังนี้ วันที่ 6-9 พฤษภาคม 2518 หลวงพ่อพร้อมด้วยพระภิกษุ 40 รูป ได้ประกอบพิธีสวดถอนติจีวรวิปปวาสสีมา และสมานสังวาสสีมา ภายในเขตวิสุงคามสีมา กว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร วันที่ 25 พฤษภาคม 2518 ตรงกับวันวิสาขบูชา หลวงพ่อได้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์พระอุโบสถ ได้มอบหมายให้ลูก ศิษย์ทั้ง 3 ทำหน้าที่พิธีกรประจำหลุมฤกษ์ภายในราชวัตร ฉัตรธง ทุกขั้นตอน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด อีกทั้งข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนมาร่วมในพิธีเป็นจำนวนมาก
วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2519 ตรงกับวันมาฆบูชา เป็นวันที่เริ่มลงมือวางผังก่อสร้าง ต่อมาอีก 2 ปี จึงแล้วเสร็จในส่วนโครงสร้าง ซึ่งถือได้ว่า งานการก่อสร้างพระอุโบสถวัดหนองป่าพง เกือบจะเสร็จสมบูรณ์ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2527 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินินาถ ได้เสด็จมาประกอบพิธี ผูกพัทธสีมา
หลวงพ่อบอกว่า แนวความคิดในการสร้างโบสถ์วัดหนองป่าพงนี้ มีแรงบันดาลใจ ตั้งแต่สมัยที่หลวงพ่อเป็นพระภิกษุใหม่ๆ ท่านก็ไปงานบวช แล้วโบสถ์นั่นก็เล็กเหลือเกิน คนเข้าไปได้นิดเดียว พวกญาติโยมที่มา ใครๆ ก็อยากจะเห็น แต่มองไม่เห็นว่าในโบสถ์นั่นทำอะไรกันบ้าง ในพิธีนั้นมีอะไรบ้าง ท่านก็บอกว่า เอาไว้ไห้ท่านมีโอกาส ท่านจะสร้างโบสถ์ให้ใหญ่ ให้กว้าง ให้เห็นกันทั่วไป ให้เย็นสบาย ไม่ต้องร้อน ไม่ต้องอบอ้าว แล้วหลวงพ่อท่านก็สร้างอย่างนั้น และโบสถ์นั้นก็เย็นสบายจริงๆ ก็ปลอดโปร่ง แล้วจุคนได้มากจริงๆ ไม่มีใครบ่นได้ว่า มองไม่เห็นอะไร" สมดังปรัชญา เจตนารมณ์ทุกประการ
นายสุวิชช คูณผล
22.16 / 12 ต.ค. 46