guideubon

 

 

จากโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นต่ำ พ.ศ.2458 สู่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี

วันราชภัฏ-คนของพระราชา-ข้าของแผ่นดิน-04.jpg

วันวาน..ผ่านมากว่า 100 ปี สถานศึกษาทีพัฒนาความรู้ให้กับประชาชน และบุคลากรออกมารับใช้สังคมประเทศชาติ มีความเจริญรุ่งเรือง และวิวัฒนาการก้าวหน้ามาถึงปัจจุบัน..กลายเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่นอย่างแท้จริง..

จากโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นต่ำ...สู่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ซึ่งมีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2458 ตามหลักฐานบันทึกไว้ในตราสาร เสมาธรรมจักรน้อย ที่ 7/1144 ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2458 แจ้งให้ อำมาตย์ตรี พระยาวิเศษสิงหนาท สมุหเทศาภิบาล มณฑลอุบลราชธานี อนุญาตให้จัดตั้ง “ การฝึกหัดครูชั้นต่ำ” ที่โรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลอุบลราชธานี “เบ็ญจะมะมหาราช” มีนักเรียนรุ่นแรก จำนวน 15 คน

ในปี พ.ศ.2459 กระทรวงธรรมการ อนุญาตให้จัดตั้ง “โรงเรียนฝึกหัดครูมูล” (โรงเรียนฝึกหัดครูอุบลราชธานี) และยุบเลิกการฝึกหัดครูชั้นต่ำไป...

ต่อมาในปี พ.ศ. 2466 กระทรวงธรรมการ มีนโยบายขยายการกสิกรรม จึงขอจัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรมมณฑลอุบลราชธานี ที่บ้านกุดเป่ง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี มีนายอ่ำ บุญไทย เป็นครูใหญ่คนแรก และครูประจำการ 2 คน คือ นายมั่น เพ็ชร์ศรีสม นายบุญรอด พันธ์เพ็ง จัดการสอนได้ 4 รุ่น แล้วยุบเลิกไป.. ในปี พ.ศ. 2467 มีการขอจัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูหัตถกรรมแผนกจักสานประจำมณฑล โดยอาศัยอาคารโรงเรียนวัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนาราม) เป็นสถานที่จัดการศึกษา และต่อมาได้ยุบเลิกไปเหมือนโรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรม เนื่องจากการยุบมณฑลอุบลราชธานี...

วันราชภัฏ-คนของพระราชา-ข้าของแผ่นดิน-09.jpg

ในปี พ.ศ. 2469 จอมพล สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสนาบดีกระทรวงกลาโหมสมัยนั้น ได้ประทานเงินส่วนพระองค์สำหรับบำรุงโรงเรียนในจังหวัดอุบลราชธานี คือประทานให้โรงเรียนฝึกหัดครูอุบลราชธานี จำนวน 100 บาท และโรงเรียนสตรีประจำจังหวัดอุบลราชธานี(นารีนุกูล) จำนวน 100 บาท

หลัง พ.ศ. 2475 รัฐบาลได้ขยายการศึกษาประชาบาลทุกภูมิภาคอย่างกว้างขวาง กระทรวงธรรมการ จึงขยายการฝึกหัดครูเพิ่มขึ้นด้วย โดยในปี พ.ศ. 2479 กระทรวงธรรมการอนุญาตให้จังหวัดอุบลราชธานี จัดตั้งโรงเรียนสตรีฝึกหัดครูอุบลราชธานี ขึ้น แต่เนื่องจากงบประมาณไม่เพียงพอ จึงขอย้ายไปเรียนที่โรงเรียนสตรีประจำจังหวัดอุบลราชธานี (นารีนุกูล) ตรงข้ามโรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลอุบลราชธานี (เบ็ญจะมะมหาราช) โดยมี นางอรพิน ไชยกาล เป็นครูใหญ่คนแรก...

ต่อมาปี พ.ศ. 2485 รัฐมีนโยบายขยายการศึกษาระดับอุดมศึกษาไปยังหัวเมืองต่างๆ จึงได้ขอจัดตั้งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขึ้น ที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยความดูแลของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในเนื้อที่ 80 ไร่ ( อาคารอำนวยการปัจจุบัน) และได้รับการบริจาคที่ดินอีก 11ไร่ จาก ขุนวรวาทพิสุทธิ์ (สุข พันธ์เพ็ง) ศึกษาธิการจังหวัดอุบลราชธานี สมัยนั้น..

ในปี พ.ศ. 2489 หลังสงครามโลกครั้งที่สองสงบลง รัฐบาลได้ยกเลิกโครงการจัดตั้งโรงเรียนตรียมอุดมศึกษา และมีการขยายการฝึกหัดครูเพิ่ม เพื่อกระจายโอกาสทางการศึกษาสู่ชนบทมากขึ้น..

และในปี 2491 กระทรวงศึกษาธิการ ได้อนุมัติงบประมาณเพื่อซ่อมแซมอาคาร และจัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูชาย ขึ้น โดยมีนายประสิทธิ์ สุนทโรทก เป็นครูใหญ่ คนแรก และเปิดสอน 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรประกาศนีบัตรจังหวัด (ว) รับผู้จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และหลักสูตรประกาศนีบัตรครูมูล(ป) รับผู้จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6

วันราชภัฏ-คนของพระราชา-ข้าของแผ่นดิน-08.jpg

ปี พ.ศ. 2499 กระทรวงศึกษาธิการ ได้ยุบโรงเรียนสตรีฝึกหัดครู ซึงตั้งมาแต่ปี 2479 ไปรวมกับโรงเรียนฝึกหัดครูชาย ในรูปแบบสหศึกษา เป็นโรงเรียนฝึกหัดครูอุบลราชธานี เพียงแห่งเดียว

จากโรงเรียนฝึกหัดครู...สู่วิทยาลัยครูอุบลราชธานี ในปี พ.ศ. 2501 กระทรวงศึกษาธิการ ได้อนุมัติให้เปิดสอนหลักสูตร ประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง (ปกศ.สูง) โดยต่อยอดจากหลักสูตรโรงเรียนฝึกหัดครู และรับผู้ที่จบหลักสูตรประกาศนียบัตร (ปกศ.) จากการขยายหลักสูตรการศึกษาสูงขึ้นดังกล่าว กระทรวงศึกษาธิการ จึงได้ยกฐานะ โรงเรียนฝึกหัดครูอุบลราชธานี เป็น วิทยาลัยครูอุบลราชธานี โดยมีนายประสิทธิ์ สุนทโรทก ดำรงตำแหน่งเป็นอาจารย์ใหญ่ และได้เลื่อนตำแหน่งเป็น ผู้อำนวยการวิทยาลัยครูอุบลราชธานี คนแรก มีฝ่ายวิชาการ ฝ่ายธุรการ และฝ่ายปกครอง ด้านวิชาการ มีการตั้งหมวดวิชา คือ หมวดวิชาภาษาไทย หมวดวิชาการศึกการศึกการและจิตวิทยา หมวดวิชาห้องสมุด หมวดวิชาคณิตศาสตร์ หมวดวิชาวิทยาศาสตร์ หมวดวิชาพลานามัย หมวดวิชาสังคมศึกษา หมวดวิชาภาษาอังกฤษ หมวดวิชาศิลปะ- ดนตรี หมวดวิชาคหกรรมศาสตร์ หมวดวิชาหัตถศึกษา หมวดวิชาโรงเรียนสาธิต

วิทยาลัยครูอุบลราชธานี มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการศึกษาของชาติ โดยการเปิดสอนหลักสูตรครูประถมศึกษา (ป.ป.) และเปิดสอนหลักสูตรประกาศนีบัตรวิชาการศึกษา (ป.กศ.)และหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง (ป.กศ.ชั้นสูง) ภาคนอกเวลา เพื่อแก้ปัญหาครูประถมศึกษาที่ขาดแคลน

ต่อมามี พระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ.2518 ส่งผลให้วิทยาลัยครูอุบลราชธานี และวิทยาลัยครูทั่วประเทศ สามารถจัดการศึกษาเปิดสอนปริญญาตรี ได้วุฒิการศึกษา “ครุศาสตร์บัณฑิต” มีสถานภาพเป็นสถาบันอุดมศึกษา และตั้งเป็นคณะวิชา คือ คณะวิชาครุศาสตร์ คณะวิชาวิทยาศาสตร์ และคณะวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มีการเปลี่ยนตำแหน่งผู้บริหาร จากผู้อำนวยการ เป็นอธิการ..

โครงการคุรุทายาท ในปี พ.ศ. 2530 วิทยาลัยครูอุบลราชธานี ร่วมกับนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่ง(สปช.) มีโครงการผลิตบัณฑิตทางการศึกษา เรียกว่า “โครงการคุรุทายาท ” โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อปรับปรุงและรับนักเรียนที่จะเข้าเรียนต่อในคณะครุศาสตร์ หรือศึกษาศาสตร์ ให้มีความสอดคล้องกับแผนการผลิตครูรุ่นใหม่ และความคาดหวังที่ต้องการคัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ และมีเจตคติที่ดีต่ออาชีพครูมาเป็นครู ซึ่งวิทยาลัยครูอุบลราชธานี ได้จัดการศึกษาตามโครงการคุรุทายาท โดยเปิดสอนวิชาเอกประถมศึกษาหลักสูตรปริญญาตรี 2 ปี และหลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี โดยการคัดเลือกนักเรียนตามโครงการเข้าเรียน คือ วิชาเอก คณิตศาสตร์ ชีววิทยา ฟิสิกส์ ภาษาไทย วิทยาศาสตร์ทั่วไป อุตสาหกรรมศิลป์ และดนตรีศึกษา

วันราชภัฏ-คนของพระราชา-ข้าของแผ่นดิน-07.jpg

จากวิทยาลัยครู....สู่ สถาบันราชภัฏ. ในปี พ.ศ. 2535 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช.. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานนาม “ สถาบันราชภัฏ ” แก่วิทยาลัยครูทั่วประเทศ ตามหนังสือสำนักราชเลขาธิการพระบรมมหาราชวัง ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2535 และต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานดวงตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์ อัญเชิญเป็นตราสัญลักษณ์ประจำสถาบันราชภัฏ ตามหนังสือสำนักราชเลขาธิการพระบรมมหาราชวัง ลงวันที่ 6 มีนาคม 2538 นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ และเป็นสิริมงคลยิ่งแก่สถาบันราชภัฏอุบลราชธานี และข้าราชการ พนักงาน รวมไปถึงศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน ได้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ โดยกำหนดให้วันที่ 14 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็นวัน ราชภัฏ และจัดกิจกรรมเผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบทั่วกัน

วันราชภัฏ-คนของพระราชา-ข้าของแผ่นดิน-10.jpg

ปี พ.ศ. 2540 สถาบันราชภัฏอุบลราชธานี สามารถจัดการศึกษา ระดับบัณฑิตศึกษา โดยเปิดสอน 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพครู (ป.บัณฑิต) และหลักสูตรระดับปริญญาโท สาขาการบริหารการศึกษา (เป็นสถาบันราชภัฏแห่งแรก ที่เปิดสอนระดับปริญญาโท) ต่อมาได้เปิดสอนระดับปริญญาโท สาขาวิจัยและการประเมินผลการศึกษา และ สาขาการพัฒนาหลักสูตรและการเรียนการสอน ..

วันราชภัฏ-คนของพระราชา-ข้าของแผ่นดิน-05.jpg

ปี พ.ศ. 2547 ก้าวสู่ ...มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลรชธานี สืบเนื่องจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 เปิดโอกาสให้มีการปฏิรูปการศึกษาครั้งสำคัญ โดยพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2540 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2542 และการประกาศใช้ พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ และมีผลตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2547 เป็นต้นมา

วันราชภัฏ-คนของพระราชา-ข้าของแผ่นดิน-06.jpg

มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เป็นศูนย์กลางการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพบนพื้นฐานกาวิจัย และสร้างสรรค์ภูมิปัญญาร่วมกับภาคีเครือข่ายเพื่อการพัฒนาที่ที่ยั่งยืน โดยจัดการเรียนการสอนระดับพื้นฐาน มีโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เปิดสอนระดับปฐมวัย และประถมศึกษา

ในส่วนระดับอุดมศึกษา และระดับบัณฑิตศึกษา เปิดสอนระดับปริญญาตรี ระดับปริญญาโท และระดับปริญญาเอก และมีหน่วยงานบริหารจัดการ ประกอบด้วย คณะเกษตรศาสตร์ คณะครุศาสตร์ คณะเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม คณะนิติศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจและการจัดการ คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก คณะวิทยาการคอมพิวเตอร์ และบัณฑิตวิทยาลัย

ในรอบศตวรรษที่ผ่านมา (2457-2557) มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี มีผู้บริหารผ่านยุคสมัยต่างๆ ดังนี้ (โรงเรียนสตรีฝึกหัดครู) 1. นางอรพิน ไชยกาล ครูใหญ่ 2. นางสาวประมวญ วรรณมาศ 3. นางสาวเศวต จึงเจริญ 4.นางชุ่มชื่น สุคนรส ส่วน (โรงเรียนฝึกหัดครูชาย) 1. นายประสิทธิ์ สุนทโรทก ครูใหญ่ 2. นางสาวฉวีวรรณ ดุลยจินดา รักษาการครูใหญ่ 3. นายประสิทธิ์ สุนทโรทก ผู้อำนวยการ 4. นายสนอง สิงห์พันธ์ ผู้อำนวยการ 5. นายสกล นิลวรรณ ผู้อำนวยการ 6. นายพจน์ ธัญญขันธ์ ผู้อำนวยการ 7. นายจินต์ รัตนสิน อธิการ 8. นายประธาน จันทร์เจริญ อธิการ 9. นายอรุณ มุขสมบัติ อธิการ 10. ดร.พล คำปังส์ อธิการ 11. ผศ.ปุณณะ ภูละ อธิการ 12. ผศ.สมชาย วงศ์เกษม อธิการบดี 13. ผศ.เกษม บุญรมย์ อธิการบดี 14. ผศ.ชัยวัฒน์ บุณฑริก อธิการบดี 15. ผศ.ประชุม ผงผ่าน อธิการบดี และปัจจุบัน 16. รศ.ธรรมรักษ์ ละอองนวล รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี

วันราชภัฏ-คนของพระราชา-ข้าของแผ่นดิน-11.jpg

มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี น้อมนำโครงการพระราชดำริ และศาสตร์พระราชา....สู่การพัฒนาการศึกษาและคุณภาพชีวิตประชาชนที่ยั่งยืน หลายโครงการ

มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ได้น้อมนำโครงการพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สู่การพัฒนาการศึกษา และคุณภาพชีวิตประชาชนที่ยั่งยืน โดยรับผิดชอบหลายโครงการ เช่น

- โครงการศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง
- โครงการพัฒนาศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสียด้วยพืช และกำจัดขยะด้วยกล่องคอนกรีต ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
- โครงการวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย
- โครงการจัดทำฝายต้นน้ำลำธาร (Check Dam) ตามแนวพระราชดำริแบบบูรณาการ โดยประชาอาสา
- โครงการกองทุนอาสา โครงการพัฒนาหมู่บ้านท่าล้ง ตามแนวพระราชดำริฯ
- การน้อมนำแนวพระราชดำริฯในการผลิตบัณฑิต
- โครงการอุทยานการศึกษาเฉลิมพระเกียรติกาญจนาภิเษก
- มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ได้น้อมนำและสืบสาน โครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ และการส่งเสริมการดำเนินงานโครงการศูนย์ศิลปาชีพ

มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี รับสนองงานโครงการอันเนื่องจากพระราชดำริฯ คือ

- โครงการฟาร์มเกษตร 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ์
- โครงการทุนพระราชทาน และการสนองงานในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร

มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ได้ดำเนินงานตามโครงการพระราชดำริฯสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เช่น

- โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ
- โครงการส่งเสริมการดำเนินงานโรงเรียนในถิ่นธุรกันดารตามแนวพระราชดำริฯ
- โครงการจัดทำข้อมูลและใบลานในหอศิลป์วัดสุปัฏนารามวรวิหาร
- โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชลุ่มน้ำโขง การน้อมนำแนวพระราชดำริฯในการผลิตบัณฑิต

มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ยังได้น้อมนำโครงการพระราชดำริฯ โดยรับผิดชอบและสนับสนุนส่งเสริมการจัดการศึกษาโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ในพื้นที่ 3 คือ จังหวัดอุบลราชธานี ยโสธร และ อำนาจเจริญ จำนวน 14 โรงเรียน กับ 2 ศูนย์การเรียนรู้ โดยดำเนินงานร่วมกับเครือข่ายมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 โดยการพัฒนาครูตำรวจตระเวนชายแดน และส่งเสริมด้านวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนการสอน เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพ

มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ได้ดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี

- โครงการ To Be Number One
- โครงการโรงเรียนเพียงหลวง 12

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ยังได้ร่วมกับทุกภาคส่วนดำเนินงาน ตามโครงการพระราชดำริฯ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุด นับเป็นการน้อมนำศาสตร์พระราชา.... สู่การพัฒนาการศึกษาและคุณภาพชีวิตประชาชนที่ยั่งยืน เป็นพลังสำคัญในการพัฒนาสังคมประเทศชาติให้มีความเจริญก้าวหน้า

นับเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งของมหาวิยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี และชาวราชภัฏทั่วประเทศ ซึ่งพร้อมในการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น สังคม ประเทศชาติให้มีความเจริญก้าวหน้าต่อไป

ปัญญา แพงเหล่า /รายงาน

 

copyright 2005 www.GuideUbon.com สำนักงานไกด์อุบลดอทคอม เลขที่ 89/1 ถนนพโลรังฤทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 ติดต่อไกด์อุบล : webmaster@guideubon.com | msn : guide_ubon@hotmail.com | Tel : 080-4850511