วันเชิดชูเกียรติและรำลึก หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา ปี 2565
วันที่ 20 ตุลาคม 2565 ที่ลานหม่อมเจียงคำ วัดสุทัศนาราม ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี นายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานในพิธีการจัดงานเชิดชูเกียรติและรำลึกหม่อมเจียงคำชุมพล ณ อยุธยา ประจำปี 2565 เป็นครั้งที่ 15 ครบ 7 รอบ การอนิจกรรม 84 ปี โดยมีคณะกรรมการกองทุนเครือข่ายแห่งบุญหม่อมเจียงคำอนุสรณ์ หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าร่วมงาน
ทั้งนี้ เพื่อเชิดชูเกียรติ และรำลึกถึงหม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา อยุธยา ผู้สร้างคุณประโยชน์ให้กับจังหวัดอุบลราชธานี โดยมีนางพัทธานันท์ ยังตรง นายกเหลล่ากาชาดจังหวัดอุบลราชธานี /ประธานชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดอุบลราชธานี ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน นักเรียน นักศึกษา ร่วมในพิธี
ภายในงาน มีพิธีทางพระพุทธศาสนา ทอดผ้าบังสุกุล ถวายปัจจัยเครื่องไทยธรรม และการวางขันหมากเบ็ง ตามวิถีของชาวอีสานที่ได้สืบทอดกันมาเป็นเวลานาน รวมถึงการกล่าวคำเชิดชูเกียรติ ที่บำเพ็ญประโยชน์ในด้านการอุทิศทรัพย์สินที่เป็นที่ดิน ตั้งเป็นสถานที่ราชการของจังหวัดอุบลราชธานี นอกจากนี้ยังมีการฟ้อนเชิดชูเกียรติหม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา อย่างสมเกียรติ พร้อมมอบรางวัลหม่อมเจียงคำ ประจำปี 2565
หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา (ท.จ.) เกิดเมื่อ วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2422 ที่เมืองอุบลราชธานี เป็นธิดาคนสุดท้อง/ลำดับที่ 9 ของท้าวสุรินทรชมภู (หมั้น บุตโรบล) อัญญาแม่ดวงจันทร์
ท่านมีศักดิ์เป็นหลานปู่ ของเจ้าราชบุตร (ท้าวสุริยะ สุ่ย บุตโรบล) กับอัญญาแม่นางทอง บุตโรบล มีศักดิ์เป็นเหลนทวด ในท้าวสีหาราช (พูลสุข หรือ พลสุข) กรมการเมืองอุบลราชธานีชั้นผู้ใหญ่ กับอัญญานางสุภา ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากท้าวโคต ผู้เป็นพระราชโอรสในเจ้าพระตา (เจ้าพระวรราชปิตา)
ตระกูลบุตโรบล ถือว่าสืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระวรราชปิตา (เจ้าพระตา) เจ้าผู้ครองเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน (หนองบัวลุ่มภู หรือเมืองกมุทาสัย) และพระองค์ยังทรงสืบเชื้อสายจาก เจ้าอินทกุมาร แห่งราชวงศ์เชียงรุ่งแสนหวีฟ้าและราชวงศ์ล้านช้างเวียงจันทน์
หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา (ท.จ.) นามเดิม อัญญานาง เจียงคำ บุตโรบล เป็นเจ้านายฝ่ายหญิงของเมืองอุบลฯ ที่ถวายตัวเป็นหม่อมใน พลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชุมพลสมโภช กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ พระราชโอรสองค์ที่ 11 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับเจ้าจอมมารดาพึ่ง เพื่อเป็นการกระชับสัมพันธไมตรีระหว่างราชสำนักสยาม กับเจ้านายพื้นถิ่นเมืองอุบลฯ ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ในช่วงที่มีนโยบายปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน สมัยรัชกาลที่ 5
พลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชุมพลสมโภช กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เมื่อเสด็จมาปรับปรุงและจัดระบบราชการที่เมืองอุบลราชธานี ได้ทรงพอพระทัยต่ออัญญานางเจียงคำ ซึ่งเป็นธิดาของท้าวสุรินทร์ชมภู (หมั้น) จึงได้ทรงขออัญญานางเจียงคำ ต่อเจ้านายผู้ใหญ่ในเมืองอุบล คือ พระอุบลศักดิ์ประชาบาล (กุคำ สุวรรณกูฏ) พระอุบลการประชานิตย์ (บุญชู พรหมวงศานนท์) ได้เข้าพิธีบายศรีสู่ขวัญตามจารีตประเพณีของบ้านเมืองดั้งเดิม ถวายตัวเป็นหม่อมห้ามใน พลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชุมพลสมโภช กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เมื่อเดือนมีนาคม ร.ศ.112 (พ.ศ. 2436) ต่อมาได้ให้กำเนิดโอรส 2 พระองค์ คือ
1. หม่อมเจ้าอุปลีสาณ ชุมพล
2. หม่อมเจ้ากมลีสาณ ชุมพล
หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา เป็นผู้เสียสละ มีความกตัญญูกตเวที บำเพ็ญประโยชน์ในด้านมอบที่ดินอันเป็นมรดกตกทอด ให้เป็นประโยชน์แก่แผ่นดินจำนวน 6 แปลง ซึ่งในปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสถานที่ราชการที่สำคัญ ได้แก่
- พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจังหวัดอุบลราชธานี
- เทศบาลนครอุบลราชธานี
- ทุ่งศรีเมือง
- โรงเรียนอนุบาลอุบลราชธานี
- ศาลจังหวัดอุบลราชธานี
- ที่ทำการอำเภอเมืองอุบลราชธานี
- ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี (หลังเก่า)
นอกจากนี้ ยังมีที่ดิน ที่ตกทอดมาเป็นมรดกของโอรสทั้ง 2 องค์ และได้มอบให้ทางราชการเมื่อ พ.ศ.2475 ซึ่งปัจจุบัน คือ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์
หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคอัมพาต เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2481 รวมสิริอายุได้ 58 ปี 320 วันณ โฮงพระวิภาคย์พจนกิจ (เล็ก สิงหัษฐิต) เลขานุการในพระองค์ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ผู้เป็นญาติใกล้ชิดของหม่อมเจียงคำ ซึ่งตั้งอยู่ ณ ถนนพิชิตรังสรรค์ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
ปัจจุบัน ทายาทได้นำพระอัฐิของท่านบรรจุไว้ ณ บริเวณฐานตั้งใบเสมา หน้าพระอุโบสถ วัดสุทัศนารามอำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นวัดที่เจ้าราชบุตร (สุ่ย บุตโรบล) และเจ้านายญาติวงศ์เมืองอุบลราชธานี ได้ร่วมกันสร้างไว้ตั้งแต่ครั้ง พ.ศ.2396