สรุปการเสวนารับฟังความคิดเห็น น้ำท่วมเมืองอุบลฯ ปี 2565
จากเหตุการณ์อุทกภัยปี 2565 จังหวัดอุบลราชธานี ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สมาคม มูลนิธิ ระดมกำลังเข้าช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างเต็มกำลังความสามารถ อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาที่ เกิดขึ้นทั้งการแจ้งเตือน การบริหารจัดการน้ำ การป้องกัน การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย การจัดทำแผนแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้นระยะยาว ทุกหน่วยงานจำเป็นต้องถอดบทเรียนและรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนมาปรับแผนแก้ไขปัญหา การดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชน
จังหวัดอุบลราชธานี จึงได้มอบหมายให้สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับ สำนักประชาสัมพันธ์เขต 2 อุบลราชธานี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดการเสวนารับฟังความคิดเห็น "น้ำท่วมเมืองอุบลฯ ปี 2565" โดยเชิญประชาชนในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วม รวมทั้งตัวแทนเกษตรกร องค์กรภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ท้องถิ่น พระสงฆ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการเสวนา ทั้งแบบแบบออนไซต์ ประมาณ 300 คน และเปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นผ่านออนไลน์ไปยังพื้นที่อำเภอที่ประสบภัย เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะอย่างครอบคลุมทุกพื้นที่และทุกภาคส่วน โดยรับข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน รวบรวมนำไปสู่การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมทั้งในระยะสั้น และระยะยาวได้อย่างยั่งยืนต่อไป
นายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวเปิดการเสวนา
จากเหตุการณ์อุทกภัย ปี 2565 จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับผลกระทบ จากสถานการณ์น้ำท่วมเป็นอย่างมาก หน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สมาคมมูลนิธิ ระดมกำลังเข้าช่วยเหลือพี่น้องประชาชน อย่างเต็มกำลังความสามารถ ทั้งด้านการบริหารจัดการน้ำ การติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ การวางแนวกั้นน้ำ การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย การขนย้ายข้าวของ การจัดตั้งจุดพักพิงบริการสาธารณสุข การแจกจ่ายถุงยังชีพ อาหารปรุงสุข การดูแลความปลอดภัย บริการรับส่งประชาชน จนถึงการทำความสะอาด ขนย้ายของกลับ และการฟื้นฟูเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย
อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งการแจ้งเตือน การบริหารจัดการน้ำ การป้องกัน การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย การจัดทำแผนแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้นระยะยาว ทุกหน่วยงานจำเป็นต้องถอดบทเรียน และรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน มาปรับแผนแก้ไขปัญหา การดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชน
ในวันนี้ จังหวัดอุบลราชธานี ได้ให้ผู้บริหารทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหาร จัดการอุทกภัยจังหวัดอุบลราชธานี มารับฟัง จดบันทึกทุกข้อคิดเห็นของทุกท่าน กลับไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไข ผลักดันให้เกิดผลในการป้องกัน แก้ไขปัญหา จัดระบบให้ดีขึ้น อย่างเป็นรูปธรรมให้มากที่สุด ขอให้ทุกท่านได้เสนอความคิดเห็นอย่างเต็มที่ และขอขอบคุณทุกท่านเป็นอย่างสูง
การนำเสนอแผนงานโครงการแก้ไขปัญหาอุทกภัย โดย 3 หน่วยงาน ดังนี้
1 ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
นางสาวฉวี วงศประสิทธิพร ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ รายงานผลการศึกษาลุ่มน้ำชีล่าง มูลล่าง น้ำท่วมหนัก เมื่อปี 2521 2545 2562 และ อยู่ระหว่าง ประมวลผลปี 2565 ซึ่งพบว่าเหตุการณ์น้ำท่วมเกิดขึ้นจากช่วงแรกแล้งระดับน้ำมูลต่ำ แล้วมีพายุเข้า 1-2 ลูก เกิดฝนตกแล้วท่วม ยกเว้นปี 2565 ระดับน้ำสูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากฝนตกจากร่องมรสุม โดยสาเหตุ ปี 2545 กับ 2554 สาเหตุน้ำท่วมมาจากปริมาณน้ำมูลที่มาก ส่วนปี 2562 มาจากน้ำชี การบริหารจัดการน้ำจึงต้องบริหารตามปริมาณน้ำแต่ละสาย นอกจากนี้ยังพบว่าสาเหตุน้ำท่วมเกิดจาก มีสิ่งกีดขวาง เช่น สิ่งกีดขวางในลำน้ำเซบก เซบาย หรือแก่งสะพือ นอกจากนี้ยังพบว่าการหนุนของน้ำโขง มีผลเอ่อมาถึงท้ายแก่งสะพือ แต่ระดับต่ำกว่าสันแก่งสะพือ ยังไม่ส่งผลต่อการระบายน้ำออกจากเมืองอุบลราชธานี
มาตรการหนึ่งในการบริหารจัดการน้ำ จะใช้วิธีด้านบนหน่วงน้ำไว้ในเขื่อน ในแก้มลิง น้ำชี น้ำมูล ถ้าปริมาณน้ำมาสูงพร้อมกันก็สลับจราจรน้ำ ซึ่งในมาตรการนี้จะไม่ค่อยมีค่าใช้จ่าย สามารถลดน้ำ ได้แต่ยังไม่มากพอ มาตรการที่สอง การบริหารจัดการลุ่มต่ำ สนทช. ได้ศึกษาทำผังน้ำไว้ พบว่าน้ำในรอบสองปีจะอยู่ในลำน้ำพอดี แต่ถ้าเกิดในรอบห้าปีจะท่วมในพื้นที่ตระพักน้ำ ถ้าเลยห้าปีจะเกิดภัยพิบัติ ซึ่งในปี 2565 ซึ่งเป็นรอบ 25 ปี มีแนวทางจัดการพื้นที่ลุ่มต่ำให้น้ำอยู่ในแก้มลิงรอบๆ น้ำท่วมบ่อยๆ ให้มีที่อยู่ของน้ำ จะต้องพัฒนาแก้มลิง ให้มีประตูเปิดปิดพร้อมสถานีสูบน้ำด้วย สนทช. ศึกษาผังน้ำรอบ 5 ปี เก็บน้ำไว้ในแก้มลิงและพื้นทีลุ่มต่ำ รองรับอัตราการไหลเพิ่มได้จาก 2,300 เป็น 3,900 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ระดับ 114 เมตรเหรือระดับน้ำทะเลกลาง โดยการใช้แก้มลิงทอนอัตราการไหลน้ำท่วมได้ แต่ยังมีน้ำเกินอยู่ ด้วยน้ำหลากผ่านอุบลช่วงปีน้ำท่วมวิกฤติ ประมาณ 5,000-6,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (รอบการเกิดประมาณ 25 ปี)
แก้มลิงในพื้นที่ลุ่มต่ำที่สำคัญในจังหวัดอุบล มี 3 ที่ คือ แก้มลิงมูลน้อย ถ้าน้ำท่วมจะท่วมถนนเลี่ยงเมืองที่เซ็นทรัล มูลน้อยลันจะท่วมทางสัญจร ท่วมเลยสันเขื่อนแจระแม ในปี 2565 นี้น้ำท่วมเลยไปถึงสวนสัตว์อุบลราชธานี ส่วนนี้ถ้าเราทำประตูปิดเปิดทั้งสองทาง เราจะสามารถควบคุมน้ำได้ในวงแก้มลิงไม่ให้ท่วมเมืองอุบลได้ พนังกั้นน้ำแก้มลิงว่าริน จากการสำรวจพบว่าจะมีจุดฟันหลออยู่ 13 แห่ง แต่ชาวบ้านมีการใช้น้ำอยู่ จึงอยากเสนอประตูน้ำพับได้คล้ายแบบที่อยุธยา มีการปิดแบบฝ่ายพับได้หรือไฮโดรลิค หรือใส่ stop log ซึ่งเป็นบานปิดชั่วคราวในการปิดพนังกั้นน้ำชั่วคราว จุดนึงคือกุดเป่ง กุดปลาขาว มีสิ่งรุกล้ำ ถ้าจัดการโดยการขุดคลองเชื่อม หนองให้ดี เรามีประตูกุดศรีมังคละ ทำประตูปิด ระบบปิดไม่ให้น้ำมูลเข้าภายในวาริน และสูบน้ำภายในพื้นที่ออกสู่น้ำมูลและหน้าแล้งสูบน้ำกลับมาใช้ สามารถทำเรื่องนิเวศ ท่องเที่ยวได้ อุบลควรจะมีประตูและปั้มที่ถาวร ในแก้มลิงอื่นๆ จะมีการจัดการคล้ายแบบนี้
สนทช.จะประชุมขับเคลื่อน พัฒนากับ อปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการสำรวจศึกษามีส่วนร่วมกับชาวบ้าน ปัญหาที่พบชาวบ้านบอกว่าห้วยแจระแมน้ำเน่าในหน้าแล้ง หากพัฒนาพื้นที่ลุ่มต่ำมูลน้อยแล้ว สูบน้ำมูลในหน้าแล้งเข้ามาเจือจางทำให้น้ำดี รวมทั้งควบคุมผังเมืองอีกแนว ทำคันล้อมปิดเมือง ทำสถานีสูบน้ำ แก้มลิงห้วยวังนอง อยู่ใกล้โรงพยาลสรรพสิทธิ์ สนามบิน ซึ่งมีชุมชนหมู่บ้านจัดสรร ปี 2562 และ 2565 น้ำมูลไหลย้อนสันเขื่อนขึ้นไป ถ้าทำสันเขื่อนสูงขึ้นทำประตูปิดระหว่างถนนกั้น ห้วยวังนอง อาจสัญจรลำบาก ควรมทำประตูระบายน้ำปิดปากห้วยวังนอง แนวคิดนี้ทำน้อยแต่ได้มาก ส่วนที่น้ำย้อนท่อเข้ามาท่วมถนนสรรพสิทธิ์ อาจทำประตูปิด ท่อระบายน้ำในเมือง ซึ่งใช้งบไม่เยอะ ตรงนี้อาจะอาศัยความรู้จากชลประทานและหน่วยบรรเทาสาธารณภัย การป้องกันพื้นที่ลุ่มต่ำในพื้นที่ตำบลกุดลาด โดยขุดคลองหัวท้าย ซึ่งแก้มลิงบุ่งมะแลง แก้มลิงกุดกว้าง แก้มลิงดอนมดแดง ใช้แนวคิดเดียวกัน อีกแนวคิดหนึ่ง คือ การขุดลอกแม่น้ำมูลท้องมูลสูงต่ำต้องระเบิดแก่งเพื่อขุดลอก แต่ต้องมีการสำรวจว่าถ้าขุดดินขุดหินออกจะได้เพิ่มเท่าไหร่ แนวคิดนี้ทำในแม่น้ำมูลจะไม่กระทบกับพื้นที่ชาวบ้าน
นอกจากการจัดการพื้นที่ลุ่มต่ำตามผังน้ำแล้ว ยังมีน้ำท่วมสูงกว่า 3,900 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที อีกประมาณ ถ้าเราสูบระบายอย่างเดียว ต้องใช้ปั้มขนาดใหญ่มาก ค่าลงทุนค่าใช้จ่ายสูบน้ำสูง เรายังจำเป็นต้องมีคลองผันน้ำ โดยผันน้ำจากชีที่ไหลลงมามูล เจอแก่งสะพือ กีดขวางอยู่ โดยจะใช้วิธีผันน้ำชี 500 ล้าน ลบ.ม. ที่หน้าเขื่อนยโสธร (น้ำรอบ 5 ปี) การเลือกขนาดน้ำผ่านคลองผันหลายๆ สาย เพื่อช่วยบรรเทาน้ำท่วมอุบล รอบ ๒๕ ปี และใช้ประโยชน์การชลประทานก่อน ส่วนที่เหลือจึงระบายน้ำลงแม่น้ำโขง โดยฝั่งซ้ายผันน้ำชี และรับน้ำหลากจากลำเซบาย เซบก ห้วยตุงลุง ไปลงท้ายเขื่อนปากมูล และนำน้ำไปใช้ประโยชน์โดยใช้แรงโน้มถ่วง สามารถส่งพื้นที่ชลประทานประมาณแปดแสนไร่ ฝั่งขวาของมูล จะลดน้ำหลากจากลำโดมใหญ่ โดยจะผันไปลงห้วยกว้างท้ายแก่งสะพือ
สำหรับการเร่งระบายลงแม่น้ำโขงนั้น จะขุดคลองน้ำตัดตรงแก่งสะพือเพื่อพร่องน้ำมูลหน้าแก่งสะพือ อัตราการไหล 400 ลบ.ม. ต่อวินาที ท้องน้ำของคลองต่ำกว่าสันแก่งสะพือ เพื่อพร่องน้ำมูลที่อุบลราชธานีให้ต่ำลง โดยไม่ต้องสูบ และเพื่อเพิ่มอัตราการระบายน้ำ จะมีสถานีสูบน้ำขนาดใหญ่มีอัตราการไหล 150 ลบ.ม. ต่อวินาที เพื่อเร่งสูบน้ำหน้า แก่งสะพือด้วย
ส่วนปัญหาน้ำท่วมห้วยสำราญ ห้วยขะยุง ในลุ่มน้ำไม่มีเขื่อนพอรองรับน้ำหลาก ซึ่งปี 2565 น้ำท่วมหนักมากควรพัฒนาคลองดักน้ำใช้ในพื้นที่ตัวเอง ในพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ โดยดักน้ำหลากประมาณ 50% ไว้ใช้งาน และหากน้ำเหลือก็จะผันไปใช้ฝั่งขวาแม่น้ำมูล และผันลงลำโดมน้อย เขื่อนสิรินธรต่อไป
ถ้าทำทุกมาตรการ/โครงการ แต่ละโครงการพิจารณารอบ 5 ปี ผลจากโมเดลชลศาสตร์ จากการใช้น้ำท่วมปี 2554 กับ ปี 2562 จะช่วยลดน้ำท่วมได้ 72 เปอร์เซ็นต์ ช่วยลดน้ำท่วมน้ำชีตอนล่าง พื้นที่น้ำท่วมด้านบนคือที่ยโสธรด้วย รวมทั้งลำเซบก ลำเซบาย น้ำท่วมอุบล และศรีสะเกษ
2. สำนักชลประทานที่ 7 อุบลราชธานี
นายเศรษฐพงศ์ ภิงคารวัตน์ ผู้อำนวยการส่วนการบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษาสำนักงานชลประทานที่ 7 อุบลราชธานี กล่าวว่า เนื่องจากจังหวัดอุบลเป็นพื้นที่ปลายน้ำ ลุ่มน้ำมูล 70,000 ตร.กม. ลุ่มน้ำขี 40,000 ตร.กม. หากเทียบปริมาณน้ำสองลุ่มน้ำ 21,000 ล้าน ลบ.ม. เท่าเขื่อนสิรินธร 15 เขื่อน โดยปกติน้ำไหลผ่านอุบลทั้งปี 21,000 ล้าน ลบ.ม. โดยเฉลี่ยไหลทั้งปี ปีนี้ ผ่าน M7 ตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมถึงกลางกันยายน 2565 แต่ช่วงน้ำท่วมมีน้ำผ่าน 29,600 ล้าน.ลบ.ม ทางกรมชลประทานเป็นหน่วยงานบริหารจัดการน้ำ มีการวางแผนระยะยาว
ที่เป็นประเด็นคือทางผันน้ำ อุบลน้ำท่วมสาเหตุไม่ใช่ฝนที่ตกที่อุบลอย่างเดียว แต่เป็นน้ำที่ตกเหนือพื้นที่ลุ่มน้ำมูลและชี สำหรับประเด็นโครงการทางผันน้ำ 40,000 ล้าน.ลบ.ม. จุดสะพานเสรี รับน้ำได้สูงสุด 2,300 ลบ.ม./วินาที ในปีนี้ 6,300 ลบ.ม./วินาที โครงการผันน้ำ คือ เป็นการตัดยอดน้ำส่วนหนึ่งที่ไหลเข้าจังหวัดอุบลราชธานี บริเวณลำห้วยขะยุงกับท้ายเขื่อนหัวนา เนื่องจากท้ายน้ำแม่น้ำมูลมีเขื่อนเดียวคือ เขื่อนปากมูล แนวคิดคือตัดน้ำไปทิ้งที่ท้ายแก่งตะนะ ทางผันน้ำจะมีอาคารบังคับน้ำเพื่อตัดทิ้งท้ายแก่งสะพือ การศึกษาโดยว่าจ้างบริษัทศึกษาได้ศึกษาโดยมีผู้เชี่ยวชาญหลายๆด้านจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และประชาชนมีส่วนร่วมในการให้ความคิดเห็นด้วย จึงได้ออกเป็นทางผันน้ำตัดยอดน้ำที่จะเข้าจังหวัดอุบลราชธานี ตัดน้ำได้เต็มที่ 1,000 ลบ.ม./วินาที
คลองผันน้ำสามารถเพิ่มพื้นที่ให้ชลประทาน 50,000 ไร่ คลองผันน้ำมีความยาว 97 กิโลเมตร คลองผันน้ำนี้จะมีอาคารควบคุมน้ำจะมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 5 อำเภอ ประมาณ 88,000 ไร่ แต่เราจะได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ด้านบรรเทาอุทกภัย การเกษตร อุปโภค ปศุสัตว์ กลับคืน 3,432 ล้านบาทต่อปี พื้นที่หลังจากทำคลองผันน้ำเสร็จลดลง 67,000 ไร่ แต่ยังคงมีพื้นที่น้ำท่วมอยู่ ขณะนี้เป็นการศึกษาขั้นต้น การแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังประชาชนท่านใดมีปัญหามีความคิดเห็นที่แตกต่าง กรมชลประทานยินดีรับแนวทาง นำไปต่อยอดในการแก้ไขซึ่งไม่ขัดต่อระเบียบและกฎหมาย
3. สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดอุบลราชธานี
นายภพ ภูสมปอง โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า จุดสำคัญคือ เทศบาลเมืองฯ เทศบาลวารินฯ และ พิบูลฯ แนวทางในการแก้ไขปัญหามีสองแนวทาง
1) การไม่ใช้สิ่งก่อสร้างและจัดผังเมืองให้สอดคล้องกับการใช้ประโยชน์ โดยจะกำหนดพื้นที่ชัดเจนที่อยู่อาศัยเพื่อการเกษตรกรรม เพื่อสิ่งแวดล้อม การให้ ปท. ออกเทศบัญญัติควบคุมการก่อสร้างเพื่อให้อยู่ร่วมกับอุทกภัยได้หลากหลายมิติ
2) การสร้างสิ่งก่อสร้าง ได้แก่ การสร้างตลิ่งป้องกันการพังทลายและใช้โครงการพัฒนาเมืองพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย อาทิ แนวป้องกันตลิ่งพร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ริมแม่น้ำมูล ในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี ส่วนที่สองโครงการก่อสร้างป้องกันน้ำท่วม ตั้งแต่ชุมชนช่างหม้อ หาดสวนยา วัดเสนาวงศ์ ความสูง 114.5 เมตร โครงการเหล่านี้มีงบประมาณแล้วรอดำเนินการหลังน้ำลด ส่วนโครงการสุดท้ายอยู่ระหว่างศึกษาและออกแบบยกคันป้องกันน้ำท่วมที่เทศบาลวาริน
ชูภาคพลเมืองแก้น้ำท่วมอุบลฯ ไม่เชื่อน้ำยา ขร่ก. "มงคล" ผุดไอเดียสะพานเชื่อมเมือง