guideubon

 

 

สุนทรพจน์ชนะเลิศ วันเชิดชูเกียรติและรำลึกหม่อมเจียงคำ ปี 2566

สุนทรพจน์-หม่อมเจียงคำ-66-01.jpg

ทุกวันที่ 20 ตุลาคม ของทุกปี จังหวัดอุบลราชธานี มีการจัดงานวันเชิดชูเกียรติและรำลึก หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา (ท.จ.) ณ บริเวณวัดสุทัศนาราม อ.เมือง อุบลราชธานี โดยในปี พ.ศ.2566 มีการจัดการประกวดสุนทรพจน์หัวข้อ "หม่อมเจียงคำ ขุมพล ณ อยุธยา ท.จ. ผู้ที่มีคุณูปการต่อชาวอุบลราชธานี"

รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นางสาววรปภา ศรีกำพล นักเรียนโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช อุบลราชธานี ได้รับเกียรติบัตรพร้อมเงินรางวัลจาก นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี

สุนทรพจน์-หม่อมเจียงคำ-66-03.jpg

นางสาววรปภา ศรีกำพล กล่าวสุนทรพจน์ "หม่อมเจียงคำ ขุมพล ณ อยุธยา ท.จ. ผู้ที่มีคุณูปการต่อชาวอุบลราชธานี" ภายในงานวันเชิดชูเกียรติและรำลึก หม่อเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา ประจำปี 2566 มีใจความว่า...

สิ่งต่าง ๆ ในโลกนี้ อาจเสื่อมค่าตามกาลเวลา หากแต่ตรงกันข้ามกับ "คุณงามความดีของบุคคล" ที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะสถิตเสถียร จารึกนามอยู่เช่นนั้น มิได้เสื่อมสลายไปโดยง่าย เช่นเดียวกับคุณงามความดีของ "หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา" ผู้ที่มีคุณูปการต่อชาวอุบลราชธานี

หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา หรือ นามเดิม อัญญานางเจียงคำ บุตโรบล เกิดเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2422 เป็นธิดาคนที่ 9 ของท้าวสุรินทร์ชมฎ หรือ หมั้น บุตโรบล และญาแม่ดวงจันทร์ บุตโรบล ได้เข้าพิธี บายศรีสู่ขวัญ ถวายตัวเป็นหม่อมห้าม ในพลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 

ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีการปฏิรูปการปกครองหลายประการหากจะบริหารราชการแผ่นดินให้มั่นคง จะต้องจัดระเบียบบ้านเมืองให้เป็นปีกแผ่น ความแน่นแฟ้นจึงจะเกิดขึ้น ซึ่งพลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ พระองค์ดำรงตำแหน่งข้าหลวงต่างพระองค์ สำเร็จราชการมณฑลลาวกาว มาปรับปรุงและจัดระบบราชการที่เมืองอุบลราชธานี ฉะนั้น การถวายตัวของหม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา จึงนับได้ว่าเป็นการกระชับสัมพันธไมตรีระหว่างราชสำนักสยาม กับเจ้านายพื้นถิ่นเมืองอุบลราชธานีให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

สุนทรพจน์-หม่อมเจียงคำ-66-02.jpg

ในช่วงชีวิตของหม่อมเจียงคำ ท่านได้สร้างคุณประโยชน์ให้กับจังหวัดอุบลราชธานีเป็นอย่างยิ่ง ท่านเป็นผู้มีความเสียสละ บำเพ็ญประโยชน์ในด้านการมอบที่ดินอันเป็นมรดกตกทอด เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ชาวอุบลราชธานี จำนวน 7 แปลง ซึ่งยากนักที่จะหาใครเสียสละได้เช่นนี้

ในปัจจุบัน ที่ดินดังกล่าวเป็นที่ตั้งของสถานที่ราชการที่สำคัญต่าง ๆ เช่น
- พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจังหวัดอุบลราชธานี
- เทศบาลนครอุบลราชธานี
- ทุ่งศรีเมือง และโรงเรียนอนุบาลอุบลราชธานี
- ศาลจังหวัดอุบลราชธานี 
- ที่ทำการอำเภอเมืองอุบลราชธานี
- ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานีหลังเก่า และ
- โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์

หากได้สร้างความดีงาม ให้ประจักษ์แก่ใจมวลชนแล้วไซร้ ย่อมเป็นที่แน่นอนว่าผู้กระทำความดีงามนั้นจะได้รับการยกย่องเทิดทูน ซึ่งความดีของหม่อมเจียงคำ นับได้ว่าเป็นความดีระดับสูงที่สุดตามหลักพระพุทธศาสนา เนื่องจากประกอบด้วยความดีถึง 3 ขั้นด้วยกัน กล่าวคือ

สุนทรพจน์-หม่อมเจียงคำ-66-05.jpg

ประการที่ 1 ความดีขั้นต้น คือ ความดีในระดับปุถุชน ความดีอันเป็นประโยชน์ในปัจจุบัน เพราะเมื่อหม่อมเจียงคำยังมีชีวิตอยู่นั้น ท่านรู้จักคุ้มครองเก็บรักษาโภคทรัพย์ทั้งของตนเองและมรดกที่บรรพบุรุษมอบให้

ประการที่ 2 ความดีขั้นกลาง คือ ความดีในระดับกัลยาณชน ความดีอันเป็นประโยชน์ในระยะยาว เช่น หม่อมเจียงคำได้ตามเสด็จ พลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรพสิทธิประสงค์ออกเยี่ยมไพร่ฟ้าประชาชนตามหัวเมืองต่าง ๆ ย่อมส่งผลให้เกิดความสุขทางทั้งกายและทางใจในระยะยาว

ประการที่ 3 ความดีขั้นสูง คือ ความดีระดับอารยชน เป็นความดีสุงสุดของชีวิต หม่อมเจียงคำ ท่านได้หลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง ท่านพัฒนาชีวิตจนมีศีลธรรมสมบูรณ์ เสียสละ กตัญญูต่อแผ่นดินเกิด ท่านได้อุทิศที่ดินอันมีมูลค่ามหาศาล เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับชาวอุบลราชธานีมาจนถึงปัจจุบัน

ชาวอุบลราชธานีได้ใช้ที่ดินที่ท่านบริจาคอย่างเกิดประโยชน์สูงสุด ความเสียสละ และความดีของท่านเปรียบประดุจแรงขับเคลื่อนอันทรงพลัง ที่จะผลักดันสังคมไปในทิศทางที่พึงประสงค์ และบรรจงเชื่อมร้อยความหลากหลายของผู้คน โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ ศาสนา นำพาให้เราทุกคนประสบกับความเจริญ สันติ และมีความสุขร่วมกัน

สุนทรพจน์-หม่อมเจียงคำ-66-04.jpg

ดิฉันจึงประจักษ์ชัดแจ้งว่า รางวัลของผู้กอปรคุณงามความดีนั้น แท้จริงแล้ว คือความกตัญญูของผู้คนที่ได้รับน้ำใจจากท่าน ทุกสรรพสำเนียงแห่งความชื่นชม ไม่ได้สร้างความเปียมปีติ ให้แก่ผู้กอปรความดีเท่านั้น หากแต่หมายรวมถึงบุตรหลานและผู้สืบสกุลของท่านด้วย ที่จะได้ยินเสียงเชิดชูเกียรติ เป็นรางวัลของการทำความดีอย่างไม่สิ้นสุด

ความดีเป็นสิ่งอัศจรรย์ มีที่มาจากอดีต คงอยู่ในปัจจุบัน และจะดำรงนิรันดร์ในอนาคต ดิฉันขอแสดงความกตัญญูกตเวทีผ่านบทสุนทรพจน์นี้ เพื่อรำลึกเชิดชู ท่านผู้ที่มีคุณูปการแก่ชาวอุบลราชธานี

"หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา"

 

copyright 2005 www.GuideUbon.com สำนักงานไกด์อุบลดอทคอม เลขที่ 89/1 ถนนพโลรังฤทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 ติดต่อไกด์อุบล : webmaster@guideubon.com | msn : guide_ubon@hotmail.com | Tel : 080-4850511