งานเชิดชูเกียรติและรำลึกหม่อมเจียงคำ ประจำปี 2566
วันที่ 20 ตุลาคม 2566 ที่ลานหม่อมเจียงคำ วัดสุทัศนาราม ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานในพิธีการจัดงานเชิดชูเกียรติและรำลึกหม่อมเจียงคำชุมพล ณ อยุธยา ประจำปี 2566 ครั้งที่ 16 โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์จุรีรัตน์ กอเจริญยศ นายกเหลล่ากาชาดจังหวัดอุบลราชธานี /ประธานชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดอุบลราชธานี คณะกรรมการกองทุนเครือข่ายแห่งบุญหม่อมเจียงคำอนุสรณ์ หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ่อค้า ประชาชน นักเรียน นักศึกษา ร่วมในพิธี
ภายในงานมีพิธีทางพระพุทธศาสนา ทอดผ้าบังสุกุล ถวายปัจจัยเครื่องไทยธรรม และการวางขันหมากเบ็ง ตามวิถีของชาวอีสานที่ได้สืบทอดกันมาเป็นเวลานาน รวมถึงการกล่าวคำเชิดชูเกียรติ ที่บำเพ็ญประโยชน์ในด้านการอุทิศทรัพย์สินที่เป็นที่ดิน ตั้งเป็นสถานที่ราชการของจังหวัดอุบลราชธานี
นอกจากนี้ยังมีการฟ้อนเชิดชูเกียรติหม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา อย่างสมเกียรติ และมอบรางวัลหม่อมเจียงคำ ประจำปี 2566 โดยในปีนี้ มีผู้ได้รับรางวัล จำนวน 5 ท่าน ได้แก่
1. นางเพ็ญพักตร์ ศรีทอง
2. นางกลิ่นขจร แก้วกัญญา
3. นางปาริชาติ สุภิมารส
4. นางสาวอุบลกาญจน์ โหตระไวศยะ
5. นางวิยะดา อุนนะนันทน์
คำกล่าวยกย่องเชิดชูเกียรติ และรำลึกหม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา ท.จ. ประจำปี 2566 (ปีที่ 16) โดย ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี วันศุกร์ที่ 20 ตุลาคม 2566 ณ ลานหม่อมเจียงคำ วัดสุทัศนาราม ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี
หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา เป็นหม่อมในกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ยุค ร.ศ.112 ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทุติยจุลจอมเกล้า (ท.จ.) ฝ่ายใน เมื่อ พ.ศ.2455
ชาติกำเนิดของหม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา สืบเชื้อสายมาจากบรรพชนที่มีประวัติไว้ คือ เจ้าปางคำ ผู้ครองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน (หนองบัวลุ่มภู) อยู่ในลำดับเครือญาติชั้นที่ 2 เป็นธิดาของท้าวสุรินทร์ชมพู (หมั้น) กับนางดวงจันทร์ เป็นหลานท้าวสุ่ย ราชบุตรเมืองอุบลราชธานี
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ทรงดำเนินการปรับปรุงประเทศ ทั้งในส่วนกลางและหัวเมือง โดยเฉพาะหัวเมืองล่างฝ่ายตะวันออก ได้ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ให้ดำรงตำแหน่งข้าหลวงต่างพระองค์ มาประทับที่เมืองอุบลราชธานี เมื่อ พ.ศ.2436
พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ทรงพอพระทัย นางเจียงคำ ธิดาท้าวสุรินทร์ชมพู จึงขอมาเป็นชายา ต่อญาติผู้ใหญ่ คือ พระอุบลศักดิ์ประชาบาล (กุคำ สุวรรณกูฏ) พระอุบลการประชานิตย์ (บุญชู พรหมวงศานนท์) พร้อมด้วยญาติผู้ใหญ่ มีความยินดี จึงอนุญาตนางเจียงคำเป็นหม่อม
ทรงมีโอรสร่วมกัน 2 องค์ คือ หม่อมเจ้าอุปลีสาน ชุมพล และหม่อมเจ้า กมลีสาน ชุมพล
คุณูปการ
หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา เป็นผู้เสียสละพื้นที่ดินเป็นทรัพย์สมบัติที่ล้ำค่าของท่านและคณะญาติ มอบให้เป็นมรดกของชาวอุบลราชธานี ได้แก่
แปลงที่ 1 เป็นที่ตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานี
แปลงที่ 2 เป็นที่ตั้งสำนักงานเทศบาลนครอุบลราชธานี
แปลงที่ 3 เป็นบริเวณทุ่งศรีเมือง และโรงเรียนอนุบาลอุบลราชธานี (เดิมเป็นโรงเรียนนารีนุกูล)
แปลงที่ 4 บริเวณที่ตั้งศาลจังหวัดอุบลราชธานี ศาลแขวงอุบลราชธานี และบริเวณบ้านพักผู้พิพากษา
แปลงที่ 5 เป็นบริเวณที่ตั้งที่ว่าการอำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี
แปลงที่ 6 เป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัดหลังเดิม อยู่ด้านทิศตะวันตกของทุ่งศรีเมือง (ก่อนตั้งศาลากลางหลังเดิม เป็นที่ตั้งโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราชหลังเดิม
แปลงที่ 7 เป็นที่ดินที่ท่านได้มอบเป็นมรดกของโอรส - พระองค์ ซึ่งต่อมาโอรสได้มอบให้ทางราชการเมื่อ พ.ศ.2475 ปัจจุบันเป็นที่ตั้งโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ อุบลราชธานี
แบบอย่างกุลสตรี เมืองอุบลราชธานี
หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา ได้รับการถ่ายทอดการประพฤติปฏิบัติตนของบรรพชนมาเป็นอย่างดี ได้แก่ ความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ความเคารพ ความกตัญญู ความซื่อสัตย์ ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความมีน้ำใจ ความสง่างาม ความเป็นผู้ดี และวิถีความเป็นแม่ในการเลี้ยงดูบุตรหลาน ผ่านการแสดงออกทางกิริยาท่าทาง ในลักษณะของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม คือ วรรณกรรมพื้นบ้านและภาพศิลปะการแสดง แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณี และงานเทศกาล ความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล งานช่างฝีมือดั้งเดิม การละเล่นพื้นบ้าน กีฬาพื้นบ้าน และศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว จนกลายเป็นมรดกของกุลสตรีเมืองอุบลราชธานี ตราบมาเท่าทุกวันนี้
การถึงแก่อนิจกรรม
หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา ได้ปฏิบัติหน้าที่ชายา ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ด้วยความรัก ความซื่อสัตย์ ความจงรักภักดี ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และประพฤติปฏิบัติเป็นแบบอย่างที่ดีต่อสาธารณชน
และเมื่อพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เสด็จนิวัตรกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2453 หม่อมเจียงคำได้ตามเสด็จด้วย และเมื่อพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ สิ้นพระชนม์ หม่อมเจียงคำ จึงกลับมาพักที่วังสงัด เมืองอุบลราชธานี จนกระทั่งถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2481
จังหวัดอุบลราชธานี จึงขอยกย่องเชิดชูเกียรติ หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา แบบอย่างกุลสตรีของชาวอุบลราชธานี ไว้ ณ ที่นี้