guideubon

 

ความเป็นมาของ หอประวัติศาสตร์อุบลราชธานีศรีวะนาไล

สุรพล-สายพันธ์-เบ็ญจะมะ.jpg

ท่านสุรพล  สายพันธ์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้เขียนถึงความเป็นมาของ "หอประวัติศาสตร์ อุบลราชธานีศรีวะนาไล" หรืออาคารโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช หลังเก่า ตีพิมพ์ในหนังสือที่ระลึกงานรำลึกหม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา ปี 2557 โดยที่ท่านเป็นทั้งศิษย์เก่าโรงเรียนเบ็ญจะมะฯ และเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี จึงผ่านช่วงเหตุการณ์การณ์ประวัติศาสตร์ของอาคารไม่หลังนี้เป็นอย่างนี้ บทความชิ้นนี้จึงถือเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

อาคารเบ็ญจะมะมหาราช-หลังเก่า-09.jpg

ผม (นายสุรพล สายพันธ์) เคยศึกษาที่โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช ซึ่งขณะนั้นใช้อาคารไม้หลังนี้เป้นอาคารเรียนของทุกห้องทุกชั้น ส่วนอาคารฝึกงาน อาคารเกษตร จะแยกไปคือ อาคารฝึกงานอุตสาหกรรมจะอยู่บริเวณอาคารชั้นเดียว (ข้างสำนักงานธนารักษ์ใหม่ในปัจจุบัน) อาคารเกษตรอยู่ด้านหลังพร้อมอาคารห้องน้ำ (บริเวณอาคาร สนง.เขตพื้นที่การศึกษา เขต 1 ปัจจุบัน) ด้านหน้ามีเสาธงใหญ่ (ตามรูปแบบลักษณะที่เห็นในปัจจุบัน ซึ่งทำขึ้นใหม่ตามแบบเดิม)

เรียนตั้งแต่ ม.ศ.1 ถึง ม.ศ.5 โดย ม.ศ.1 ถึง ม.ศ.3 เรียนอยู่ห้องชั้นล่างด้านหลัง (ฝั่งที่ว่าการอำเภอ ติดแท็งก์น้ำคอนกรีตที่เห็นอยู่ปัจจุบัน และเคยใช้น้ำดื่มจากแท็งก์นี้) ส่วน ม.ศ.4 ถึง ม.ศ.5 เรียนชั้นบน ห้องมุขกลางที่มีป้ายชื่อโรงเรียนในปัจจุบัน (ป้ายนี้ก็เป็นป้ายเดิม) สนามด้านหน้าเป็นที่เตะฟุตบอลกัน

สมัยนั้นไม่มีพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (เดิมในวันปิยมหาราช ใช้ทุ่งศรีเมืองเป็นที่ทำพิธีถวายบังคมพระบรมรูป) ใช้พระบรมรูปขนาดใหญ่ที่สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดทำขึ้นและมอบให้จังหวัดอุบลราชธานีเพื่อใช้ประกอบพิธี

สมัยนายสุนัย ณ อุบล เป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี นายสุรพล สายพันธ์ ย้ายจากจังหวัดมหาสารคาม มาเป็นนายอำเภอหัวตะพาน (สมัยนั้นยังเป็นจังหวัดอุบลราชธานี) อาคารไม้โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราชใช้เป็นที่ทำการสัสดีจังหวัด ห้องประชุมอำเภอเมืองอุบลฯ ศุนย์สื่อสารภูมิภาค กรมการปกครอง และที่ทำการ กอ.รมน.จังหวัดอุบลราชธานี และเป็นที่เก็บวัสดุครุภัณฑ์ที่ไม่ใช้แล้ว อาคารก็ทรุดโทรมตามสภาพ

อาคารเบ็ญจะมะมหาราช-หลังเก่า-07.jpg

ช่วงเป็นนายอำเภอ 14 ปี 5 อำเภอ ที่อุบลราชธานี ได้รับทราบจากผู้หลักผู้ใหญ่ ศิษย์เก่าโรงเรียนฯ ว่าไม่อยากให้รื้อ เสียดาย จนกระทั่งผมได้ย้ายออกจากจังหวัดอุบลราชธานีไปรวม 7 ปี และได้ย้ายกลับมาเป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เห็นสภาพอาคารที่ทรุดโทรมและทราบอย่างไม่เป็นทางการว่า เคยเสนอเรื่องขอบูรณะแต่ไม่ผ่าน เลยปรึกษากับผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือหลายท่านว่า จะเสนอเรื่องบูรณะเข้าไปใหม่ พร้อมปรับปรุงข้อมูลและงบประมาณเฉพาะส่วนที่จำเป็นก่อน หลังจากเสนอไปใหม่แล้วหลายเดือน ทราบว่ากรมศิลปากรอนุมัติและดำเนินการประกวดราคาพร้อมควบคุมการบูรณะ พร้อมกับขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เพราะความเก่าแก่และรูปทรงสถาปัตยกรรมที่ไม่เหมือนใคร

อาคารเบ็ญจะมะมหาราช-หลังเก่า-10.jpg

หลังจากบูรณะเสร็จพร้อมกับเกิดเหตุการณ์จราจล เป็นโชคดีที่อาคารไม่ถูกเผาไปด้วย ภายหลังอาคารศาลากลางจังหวัดอุบลฯ ถูกไฟไหม้เผาผลาญและทุบทิ้ง หลายคนคิดตรงกันคือ ที่นี่จะเป็นพิพิธภัณฑ์เมืองที่จะบอกเรื่องราวของอุบลราชธานี ท่านศาสตราจารย์ ดร.ประกอบ วิโรจนกูฏ (ศิษย์เก่าเบ็ญจะมะฯ) ขณะนั้นเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี รับเป็นแกนกลางสานต่อ มีการจัดนิทรรศการ 1 ครั้ง

โขน-100ปี-กรมศิลปากร.jpg

กรมศิลปากรก็มาจัดการแสดงโขนชุดใหญ่ บังเอิญฝนตกหนัก มีพายุเข้าด้วย ทำให้ต้องมาแสดงที่ห้องโถงกลางชั้นบน ท่านอธิบดีกรมศิลปากรที่มาเปิดงานบอกผมว่า เข้าใจแล้วทำไมถึงมรพายุเข้าจนต้องย้ายมาแสดงที่ชั้นบน ผมเองก็ให้ย้ายเวทีกลางในงานปีใหม่จังหวัด จากที่เคยอยู่ริมรั้วมาตั้งด้านหน้ามาตั้งด้านหน้าอาคารนี้แทน และบอกว่าไม่ต้องมีฉากหลัง ใช้อาคารนี้เป็นฉากหลังได้เลย จนภาพงานปีใหม่อุบลราชธานีไปปรากฎในสื่อต่างๆ และได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ยอดเยี่ยม รวมทั้งขอความร่วมมือเทศบาลนครอุบลราชธานีจัดไฟส่องสว่างแบบโบราณ ขอให้เทศบาลนครช่วยทำเสาธงตามแบบรูปเดิม ณ สถานที่เดิม (เป็นเสาธงเดียวในประเทศไทยที่มีลักษณะนี้)

อาคารเบ็ญจะมะมหาราช-หลังเก่า-02.jpg

รวมทั้งได้จัดนิทรรศการพร้อมการแสดงแสงสีเสียงอีกครั้งหนึ่ง โดยความตั้งใจจะให้เป็นนิทรรศการทั้งแบบภาวรและแบบหมุนเวียน ซึ่งงานวันนั้นได้เชิญอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี อดีตครูอาจารย์และศิษย์เก่าโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช มาร่วมเป็นเกียรติในงานพร้อมกับนักเรียนรุ่นปัจจุบัน

อาคารเบ็ญจะมะมหาราช-หลังเก่า-13.jpg

และหลังจากนั้น ก็ได้ขอให้สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดอุบลราชธานีช่วยทำป้ายอาคารหลังนี้ว่า "หอประวัติศาสตร์อุบลราชธานีศรีวะนาไล" (แทนคำว่า "พิพิธภัณฑ์เมือง" เพราะคิดว่าคำน่าจะเหมาะสมกว่า) และอุบลราชธานีศรีวะนาไลก็ตรงกับคำจารึกในพระบรมราชโองการ มีการปรับปรุงระบบไฟที่เสาธงและพระบรมราชานุสาวรีย์ใหม่

มาถึงวันนี้ พ้นหน้าที่ราชการแล้ว เล่าให้ฟังว่าคิดอะไรและทำอะไรไปแล้ว ปี 2558 ที่จะมาถึง เป็นวโรกาสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระชนมายุ 60 พรรษา หากถือเป็นมิ่งมงคลนำโครงการ "หอประวัติศาสตร์อุบลราชธานีศรีวะนาไล" เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติยศ พร้อมกับกราบทูลทรงเปิดอาคารนี้อย่างเป็นทางการ จะเหมาะสม สิ่งเหล่านี้ฝากผู้ที่เกี่ยวข้องสานต่องานครับ

โดย นายสุรพล สายพันธ์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี

เสาธง-เบญจะมะ.jpg
เสาธงโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช
ที่เป็นเอกลักษณ์หนึ่งเดียวในประเทศไทย

อาคารเบ็ญจะมะมหาราช-หลังเก่า-12.jpg

อาคารเบ็ญจะมะมหาราช-หลังเก่า-14.jpg

 

copyright 2005 www.GuideUbon.com สำนักงานไกด์อุบลดอทคอม เลขที่ 89/1 ถนนพโลรังฤทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 ติดต่อไกด์อุบล : webmaster@guideubon.com | msn : guide_ubon@hotmail.com | Tel : 080-4850511